ประโยชน์ของวิชาอาชีวเวชศาสตร์

บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

เรียบเรียงโดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์

วันที่เผยแพร่ 20 เมษายน 2562

แหล่งที่มา หนังสือแรกเริ่มเรียนรู้อาชีวเวชศาสตร์ (พิมพ์ครั้งที่ 3)


วิชาอาชีวเวชศาสตร์นั้น เป็นวิชาทางการแพทย์ที่มีประโยชน์ในหลายด้าน ทั้งต่อผู้ป่วยและสังคมประเทศชาติ ต่อวงการแพทย์ และต่อตัวผู้เรียนเอง ประโยชน์ที่จะกล่าวถึงนี้ครอบคลุมทั้งประโยชน์ที่เห็นเป็นรูปธรรม ประโยชน์ทางด้านจิตใจ และประโยชน์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ด้วย จะขอกล่าวถึงในแต่ละหัวข้อเรียงไปตามลำดับ ดังนี้

ประโยชน์ต่อผู้ป่วยและสังคมประเทศชาติ

  • เนื่องจากจุดมุ่งหมายหลักของวิชาอาชีวเวชศาสตร์ คือการใช้หลักวิชาทางการแพทย์มาป้องกันโรคในคนทำงาน ประโยชน์ที่เกิดขึ้นโดยตรงเป็นอันดับแรก จึงเกิดความมีสุขภาพดีของคนทำงานนั่นเอง ซึ่งคนทำงาน (ประมาณการว่าเป็นคนอายุ 15 – 65 ปี) ก็จัดเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศ การทำให้คนทำงานมีสุขภาพดี ก็คือการทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศมีสุขภาพดี
  • เมื่อคนทำงานสุขภาพดี มีรายได้เลี้ยงตนเอง ปัญหาทางสังคมที่เกิดจากการเป็นภาระพึ่งพิงของคนวัยทำงานก็จะลดน้อยลง คนเหล่านี้จะได้ทำงานอย่างเต็มศักยภาพ หากเขาประกอบสัมมาอาชีวะและรู้จักประมาณการใช้จ่ายแล้ว ก็จะมีรายได้เลี้ยงตัวเองอย่างเพียงพอ
  • เมื่อคนทำงานสุขภาพดีแล้ว ก็สามารถทำงานหารายได้ นอกจากเลี้ยงตนเอง แล้วยังสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ด้วย คนที่อยู่ในวัยพึ่งพิงทั้งเด็กและผู้สูงอายุก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีโอกาสที่จะมีสุขภาพดีขึ้น
  • การ “ป้องกันโรค” มักจะใช้เงินน้อยกว่า “การรักษาโรค” จึงเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย ประหยัดงบประมาณของประเทศ
  • การ “ป้องกันโรค” คือโรคยังไม่เกิด เป็นสิ่งประเสริฐที่คนแทบทุกคนต้องการ นอกจากนี้ยังเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง
  • นายจ้างก็ได้รับความอุ่นใจ ที่คนทำงานผู้มีฝีมือของเขาจะมีสุขภาพแข็งแรง สามารถทำงานขับเคลื่อนองค์กรและกิจการต่อไปได้อย่างสะดวกเรียบร้อย เกิดเป็นผลกำไรย้อนกลับมาสู่องค์กรและกิจการ
  • คนทำงานก็เกิดความสบายใจ เนื่องจากได้รับการดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิด เข้าใจ และเป็นองค์รวม จากแพทย์ที่ทราบสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ของคนทำงานอย่างแท้จริง
  • องค์กรและกิจการที่มีการดำเนินงานทางด้านอาชีวอนามัยและอาชีวเวชศาสตร์ดี จะมีโอกาสแข่งขันการค้าในระดับนานาชาติได้มากขึ้น
  • การดำเนินงานด้านอาชีวเวชศาสตร์ มีส่วนช่วยป้องกันปัญหายาเสพติดในคนทำงาน เป็นการช่วยลดปัญหาทางสังคมอันเกิดจากยาเสพติด

ประโยชน์ต่อวงการแพทย์

  • ทำให้ภาระงานในการรักษาผู้ป่วยลดลง เนื่องจากมีการป้องกันโรคไปบางส่วนแล้ว ทำให้คนป่วยน้อยลง
  • ทำให้มีระบบการส่งต่อและดูแลผู้ป่วยที่ชัดเจน และเป็นเฉพาะด้านสำหรับผู้ป่วยกลุ่มคนทำงาน
  • วงการแพทย์สามารถจะเข้าถึงการดูแลผู้ป่วยแบบครอบคลุมได้มากขึ้น เนื่องจากผู้ให้บริการเข้าใจปัญหาของกลุ่มคนทำงานอย่างเป็นองค์รวม
  • ทำให้มีที่ปรึกษาเพื่อจัดการปัญหากรณีของความเจ็บป่วยในคนทำงาน

ประโยชน์ต่อตัวผู้เรียน

  • ตัววิชาต้องอาศัยความรู้ในวงกว้าง สนับสนุนให้ผู้เรียนเป็นผู้มีความรู้กว้างขวาง
  • งานมีความท้าทาย สนุกสนาน มีการเปลี่ยนแปลง และต้องใช้ปัญญาขบคิด
  • ได้บุญกุศล เนื่องจากได้ช่วยแก้ไขปัญหาสุขภาพให้กับพี่น้องประชาชน
  • ได้ความสบายใจจากการช่วยเหลือผู้อื่น
  • เป็นวิชาชีพซึ่งใช้หารายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้
  • สามารถนำหลักวิชามาประยุกต์ใช้กับตนเอง ทำให้สามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย ไม่เจ็บป่วยเป็นโรคจากการทำงาน
  • เนื่องจากงานอาชีวเวชศาสตร์ต้องติดต่อกับคนจำนวนมาก ต้องร่วมงานกับคนหลากหลายสาขาอาชีพ จึงทำให้ได้ฝึกสร้างมนุษยสัมพันธ์และการทำงานร่วมกับผู้อื่น

หนังสืออ้างอิง

  1. พุทธทาส อินทปัญโญ. การแก้ปัญหาด้วยสติปัญญา. กรุงเทพมหานคร: ธรรมสภา; 2552.
  2. LaDou J, Harrison RJ. The practice of occupational medicine. In: LaDou J, Harrison RJ, editors. Current occupational and environmental medicine. 5th ed. New York: McGraw-Hill Education; 2014. p. 1-4.