สิ่งคุกคามและการสัมผัส

บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

เรียบเรียงโดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์

วันที่เผยแพร่ 20 เมษายน 2562

แหล่งที่มา หนังสือแรกเริ่มเรียนรู้อาชีวเวชศาสตร์ (พิมพ์ครั้งที่ 3)


หลังจากที่ได้รู้จักกับสิ่งคุกคามไปแล้ว ต่อไปจะได้กล่าวถึงขั้นตอนที่สิ่งคุกคามจะเข้าสู่ร่างกายของคนเราซึ่งเรียกว่าการสัมผัส (exposure) คำว่า “การสัมผัส” ในวิชาอาชีวเวชศาสตร์นี้ ไม่ได้หมายถึงการสัมผัสด้วยผิวหนังอย่างความหมายที่ใช้กันทั่วไปเพียงอย่างเดียว แต่จะหมายรวมถึง “ผัสสะ” หรือ “การกระทบ” ต่อสิ่งหรือสภาวการณ์ต่างๆ ในทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ การสัมผัสจะเกิดขึ้นทางใด ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของสิ่งคุกคามต้นเหตุนั้นเอง

ในการสัมผัสกับสิ่งคุกคามนั้น บางอย่างเรารับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส เช่น สัมผัสกับเสียงดังก็ได้ยินว่ามีเสียงดัง สัมผัสกับสารแอมโมเนียก็ได้กลิ่นฉุนของสารแอมโมเนีย สัมผัสกับความสั่นสะเทือนของเครื่องจักรก็ทราบได้ว่าเครื่องจักรสั่น แต่ในบางกรณีการสัมผัสนั้นอาจไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสของมนุษย์ทั่วไป เช่น คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ทะลุเข้าสู่ร่างกายโดยตรงโดยที่เราไม่รู้สึกตัว แก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ซึ่งไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส เหล่านี้เป็นต้น

ช่องทางของการสัมผัส (route of exposure) จึงขึ้นอยู่กับว่าสิ่งคุกคามต้นเหตุนั้นเป็นอะไร มาในรูปแบบไหน หากเปรียบเทียบสิ่งคุกคามเสมือนของที่มี “ตัวส่ง” มา ช่องทางของการสัมผัสก็เป็นดั่ง “ตัวรับ” ที่ร่างกายจะรับเข้ามาได้เมื่อมีความพอเหมาะพอเจาะกัน เช่น เสียงดังนั้นจำเป็นจะต้องมีตัวรับคือหู ซึ่งเป็นอวัยวะที่มีคุณสมบัติฟังเสียงได้ หากคนคนนั้นหูหนวกเสียแล้ว สิ่งคุกคามที่ส่งมาก็ไม่สามารถสร้างผลกระทบได้ สิ่งคุกคามบางอย่างสามารถมีช่องทางการสัมผัสได้หลายช่องทาง เช่น สารเคมีบางชนิด สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งโดยการกินและการซึมผ่านเข้าทางผิวหนัง แต่สิ่งคุกคามบางอย่างก็มีตัวรับที่เหมาะกันเพียงแค่ช่องทาง เดียว เช่น กรณีของเสียงดังจะทำอันตรายต่อหูได้ก็จากช่องทางการได้ยินเท่านั้น ดังนี้เป็นต้น

โดยทั่วไปช่องทางของการสัมผัสที่พบบ่อย ถูกกล่าวถึงบ่อย โดยเฉพาะสำหรับกรณี ของสิ่งคุกคามทางเคมีและชีวภาพ จะมีอยู่ 3 ช่องทางหลัก คือทางการหายใจ ทางผิวหนัง และทางการกิน

1. ทางการหายใจ (inhalation)

คือการสูดดมเอาสารเคมีที่อยู่ในรูป แก๊ส ละออง หรือฝุ่นขนาดเล็ก เข้าทางจมูก ผ่านเข้าสู่ทางเดินหายใจ ผ่านโพรงจมูก กล่องเสียง หลอดลม และปอด ไปตามลำดับ ในกรณีของสิ่งคุกคามทางชีวภาพ เชื้อโรคที่เป็นอนุภาคแขวนลอยอยู่ในอากาศ ก็สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางเดินหายใจนี้ได้เช่นกัน การสัมผัสทางการหายใจเป็นช่องทางการสัมผัสสิ่งคุกคามจากการทำงานที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด

2. ทางผิวหนัง (skin absorption)

คือการที่สารเคมีซึมผ่านหรือเชื้อโรคแทรกผ่านผิวหนังเข้าสู่ร่างกาย สารเคมีบางชนิด เช่น ตัวทำละลาย ยาฆ่าแมลงบางอย่าง มีคุณสมบัติซึมผ่านผิวหนังได้ดี ทำให้เกิดเป็นพิษขึ้นได้แม้มีการสัมผัสเพียงเล็กน้อย การสัมผัสทางผิวหนังนี้เป็นช่องทางการสัมผัสสิ่งคุกคามจากการทำงานที่พบได้บ่อยเป็นอันดับรองลงมาจากช่องทางการหายใจ

3. ทางการกิน (ingestion)

คือการกินสารเคมีหรือเชื้อโรคเข้าทางปาก ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือบังเอิญก็ตาม ในกรณีของการทำงาน ส่วนใหญ่การสัมผัสทางการกินจะเกิดขึ้นโดยบังเอิญ เช่น สารเคมีเลอะเปรอะเปื้อนมือของคนทำงาน แล้วคนทำงานใช้มือหยิบอาหารเข้าปากโดยไม่ได้ล้างมือ หรือใช้มือที่เปื้อนสารเคมีหยิบบุหรี่ขึ้นมาสูบ เหล่านี้เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นอกจากช่องทางเข้าหลักของร่างกาย 3 ช่องทางนี้แล้ว ยังมีช่องทางการสัมผัสที่พบได้บ่อยน้อยกว่าทางอื่นๆ อีก ตามชนิดของสิ่งคุกคามที่ก่อโรค ซึ่งกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ประสาทสัมผัสทั้งหมดของมนุษย์ (ตา หู จมูก ลิ้น ผิวหนัง) หรือถ้าให้กว้างกว่านั้นควรใช้คำว่าอายตนะทั้งหมดของมนุษย์ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) สามารถเป็นช่องทางการรับสัมผัสสิ่งคุกคามได้ทั้งสิ้น ดังกรณีตัวอย่างต่อไปนี้

  • การมองเห็นผ่านทางตา สิ่งคุกคามคือ แสง

  • การได้ยินผ่านทางหู สิ่งคุกคามคือ เสียงดัง

  • การได้กลิ่นผ่านทางฆานประสาท (จมูก) สิ่งคุกคามคือ สารเคมีทุกชนิดที่มีกลิ่น

  • การฉีดเข้าทางผิวหนัง (high-pressure cutaneous injection) เป็นกรณีพิเศษที่เกิดขึ้นเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีเครื่องฉีดแรงดันสูง กรณีที่เกิดอุบัติเหตุเครื่องฉีดมาฉีดโดนผิวหนังผู้ที่ทำงาน สารเคมีจากเครื่องฉีดสามารถฉีดเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังได้โดยตรงโดยไม่ต้องซึมผ่าน และอาจเกิดแรงอัดระเบิดเนื้อเยื่อภายในด้วย แต่กรณีนี้โอกาสเกิดขึ้นมีน้อยและปริมาณสารเคมีที่ได้รับก็มักจะน้อยด้วย

  • การรับความรู้สึก ร้อน เย็น กดทับ สั่นสะเทือน ผ่านทางปมประสาทใต้ผิวหนัง สิ่งคุกคามคือ อุณหภูมิที่ร้อน เย็น แรงกดทับ แรงสั่นสะเทือน ตามชนิดของปมประสาทที่รับความรู้สึกนั้นๆ

  • การรับความรู้สึกเจ็บปวด เมื่อยล้า ผ่านทางเส้นประสาท สิ่งคุกคามคือ ท่าทางการทำงานที่ไม่สะดวกสบาย เป็นต้น

  • การทะลุผ่านเข้าสู่ร่างกายโดยตรง สิ่งคุกคามคือ รังสี คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า พลังงานนิวเคลียร์ คลื่นอัลตร้าซาวด์ เป็นต้น

  • การรับรู้ผ่านทางจิตใจ สำหรับสิ่งคุกคามทางด้านจิตสังคม เช่น งานกะ ความเครียด การถูกดุด่าว่ากล่าว เป็นต้น

หลักการในเรื่องของสิ่งคุกคามและการสัมผัสนี้ นอกจากจะใช้ได้ในวิชาอาชีวเวชศาสตร์และอาชีวอนามัยแล้ว ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในวิชาเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมและอนามัยสิ่งแวดล้อมได้เช่นเดียวกันด้วย เพียงแต่เปลี่ยนสถานการณ์จากสิ่งคุกคามที่อยู่ในสถานที่ทำงาน มาเป็นสิ่งคุกคามที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วไปเท่านั้น ส่วนในเรื่องช่องทางการรับสัมผัสนั้นก็ใช้หลักการอย่างเดียวกัน ไม่ว่าสิ่งคุกคามจะมาจากแหล่งใดก็ตาม

หลักการดังกล่าวนี้ เป็นหลักการที่สามารถใช้ได้กับการเกิดโรคแทบทุกโรค กล่าวคือการจะเกิดโรคได้จะต้องมีคน (host หรือ man) ที่จะเป็นโรค ต้องมีสิ่งก่อโรคหรือสิ่งคุกคาม (agent หรือ hazard) และมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวย (environment) ทางระบาดวิทยาเรียกแบบจำลองขององค์ประกอบทั้ง 3 อย่างที่เป็นพื้นฐานในการเกิดโรคขึ้นนี้ว่าปัจจัยสามทางระบาดวิทยา (epidemiologic triangle) ซึ่งหากมาบรรจบกันอย่างพอเหมาะพอเจาะจะทำให้เกิดโรคขึ้นได้ หลักการนี้สามารถประยุกต์ใช้กับการเกิดโรคภัยไข้เจ็บของมนุษย์ได้ทุกโรค รวมถึงโรคจากการทำงานในวิชาอาชีวเวชศาสตร์ และโรคจากมลพิษสิ่งแวดล้อมในวิชาเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมด้วย รูปที่ 1 แสดงแบบจำลองปัจจัยสามทางระบาดวิทยา

รูปที่ 1 ปัจจัยสามทางระบาดวิทยา

กล่าวโดยละเอียดนั้น ความสัมพันธ์ของปัจจัยทั้ง 3 อย่างนี้เริ่มจากมีคน (host) และมีสิ่งก่อโรค (agent) หรือสิ่งคุกคาม (hazard) ไม่ว่าจะเป็นสิ่งคุกคาม ทางกายภาพ (physical) ทางเคมี (chemical) ทางชีวภาพ (biological) ทางชีวกลศาสตร์ (biomechanical) หรือทางจิตสังคม (psychosocial) ก็ตาม สิ่งคุกคามจะออกมาจากแหล่งกำเนิด (source) ผ่านทางตัวกลาง (media) เช่น อากาศ น้ำ ดิน อาหาร พืช สุญญากาศ แล้วมาตามเส้นทาง (pathway) เข้ามาสัมผัส (exposure) กับร่างกายของคน ซึ่งการสัมผัสนั้นสิ่งคุกคามจะเข้าสู่ร่างกายผ่านช่องทางการสัมผัส (route of exposure) ที่พบบ่อยมี 3 ทาง คือ การหายใจ (inhalation) การซึมผ่านผิวหนัง (skin absorption) และการกิน (ingestion) เมื่อเข้ามาสู่ร่างกายแล้ว สิ่งคุกคามก็ทำให้เกิดโรคหรือความเจ็บป่วย (disease หรือ illness) ขึ้น ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นธรรมชาติของการเกิดโรคจากการทำงานทุกโรค รูปที่ 2 แสดงให้เห็นถึงธรรมชาติของการเกิดโรคจากการทำงาน ซึ่งมีลักษณะการเกิดตามหลักการดังที่กล่าวมา

รูปที่ 2 ธรรมชาติการเกิดโรคจากการทำงาน

สรุป

“การสัมผัส” คือการที่สิ่งคุกคามชนิดต่างๆ เข้ามาสู่ร่างกายของคน ไม่ว่าจะเข้ามาทางการหายใจ การซึมผ่านผิวหนัง การกิน หรือช่องทางใดๆ ก็ตาม โรคจากการทำงานจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีสิ่งคุกคามเป็นตัวก่อโรค และสิ่งคุกคามนั้นจะต้องมีการสัมผัสกับคนทำงานด้วย

หนังสืออ้างอิง

  1. สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. ความรู้ในการป้องกันโรคจากการประกอบอาชีพ. นนทบุรี: โอ-วิทย์ (ประเทศไทย); ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์.

  2. ไพบูลย์ โล่ห์สุนทร. ระบาดวิทยา. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; 2552.

  3. Merletti F, Soskolne CL, Vineis P. Epidemiological method applied to occupational health and safety. In: Stellman JM, editor. ILO Encyclopaedia of occupational health and safety. 4th ed. Vol. I (Chapter 28). Geneva: International Labour Organization; 1998.