จะทำอย่างไรเมื่อผลตรวจสายตาอาชีวอนามัยออกมาผิดปกติ

บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

เรียบเรียงโดย

นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์, แพทย์อาชีวเวชศาสตร์

นพ.สมบูรณ์ ปัญญากรณ์, จักษุแพทย์

วันที่เผยแพร่ 30 มิถุนายน 2554


ฝ่ายบุคคลและเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยหลายท่าน อาจสงสัยมานานแล้วว่า เวลาที่แพทย์อาชีวเวชศาสตร์มาตรวจสุขภาพประจำปีที่โรงงานนั้น บางทีจะพกพาเอาเจ้าเครื่องตรวจสายตาอาชีวอนามัย (Vision screener หรือ Vision tester) มาด้วย แล้วเมื่อผลการตรวจสายตาจากเจ้าเครื่องนี้เกิดผิดปกติขึ้น โรงงานก็แปลผลได้ยากลำบาก ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไปดี วันนี้จะขออธิบายหลักการแปลผลของเจ้าเครื่องตรวจสายตาอาชีวอนามัยนี้กันอย่างคร่าวๆ ให้พอเข้าใจกันนะครับ

เครื่องตรวจสายตาอาชีวอนามัย (Vision screener หรือ Vision tester) เป็นเครื่องมือตรวจคัดกรองสุขภาพพนักงานอย่างหนึ่ง ข้อดีของเครื่องตรวจนี้คือมันมีขนาดเล็ก พกพาง่าย สามารถตรวจความผิดปกติของสายตาได้หลายอย่าง ได้แก่ การมองเห็นภาพชัดเจน (Visual acuity) ทั้งระยะไกล (Far vision) และระยะใกล้ (Near vision) การมองภาพสี (Color vision) การมองภาพ 3 มิติ (Stereopsis) การตรวจภาวะตาเขซ่อนเร้น (Phoria) ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน การตรวจลานสายตา (Visual field)

สาเหตุที่แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ต้องเอาเครื่องตรวจสายตาชนิดนี้เข้าไปตรวจในโรงงาน เนื่องจากมันมีขนาดเล็กพอที่จะพกพาได้ หากนำเครื่องตรวจสายตามาตรฐานเข้าไปตรวจในโรงงาน ให้ครบทั้ง 5 – 6 อย่างตามที่กล่าวมาแล้ว จะเกิดความเทอะทะ ก่อความสับสนทั้งกับผู้ตรวจและผู้ถูกตรวจด้วย อย่างไรก็ตามเจ้าเครื่องตรวจสายตาอาชีวอนามัยนี้ เป็นเพียงเครื่องตรวจคัดกรอง (Screening) คร่าวๆ ความน่าเชื่อถือในผลการตรวจของมันนั้น ไม่อาจเทียบกับเครื่องตรวจมาตรฐานได้ เมื่อตรวจแล้วมีผลการตรวจที่ผิดปกติอย่างมาก แพทย์อาชีวเวชศาสตร์จึงมักจะพิจารณาส่งพนักงานท่านนั้นไปตรวจยืนยัน (Confirm) กับจักษุแพทย์ที่โรงพยาบาลอีกครั้งหนึ่ง

ที่นี้ก็มาถึงหลักการแปลผลคร่าวๆ ของเจ้าเครื่องตรวจชนิดนี้ครับ เมื่อพบผลการตรวจที่ผิดปกติแบบต่างๆ จะแปลผลได้ในลักษณะต่อไปนี้

1. การมองภาพระยะไกลผิดปกติ (Far vision) การมองภาพระยะไกลที่ไม่ชัดเจนนั้น สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดคือเกิดจากภาวะสายตาสั้น (Myopia) หรือจากภาวะสายตาเอียง (Astigmatism) หรือจากภาวะสายตาสั้นร่วมกับสายตาเอียงเกิดร่วมกันก็เป็นได้ ผลการตรวจจากเครื่องตรวจสายตาอาชีวอนามัยจะแยกการตรวจออกเป็น ตาซ้าย ตาขวา และสองตารวมกัน ทำให้แปลผลแยกแต่ละข้างได้ชัดเจน หากเกิดปัญหาการมองภาพระยะไกลไม่ชัด จากภาวะสายตาสั้นหรือสายตาเอียงนี้ สามารถแก้ไขได้ด้วยการตัดแว่นสายตาให้เหมาะสมกับสายตาของตนเอง

แต่นอกจากภาวะสายตาสั้นและสายตาเอียงที่จะทำให้มองภาพระยะไกลได้ไม่ชัดเจนแล้ว ยังมีโรคในดวงตาอีกมาก ที่ทำให้เกิดอาการมองภาพระยะไกลได้ไม่ชัดเจนขึ้นเช่นกัน โรคที่ดวงตานี้อาจจะเกิดปัญหาได้ตั้งแต่ที่กระจกตา (Cornea) เช่น แผลเป็นที่กระจกตา (Corneal scar) กระจกตาโค้งผิดรูป (Keratoconus) ต้อเนื้อมาบดบังดวงตา (Pterygium) หรือเกิดปัญหาที่ช่องหน้าม่านตา (Anterior chamber) เช่น ภาวะเลือดออกในช่องหน้าม่านตา (Hyphema) ตาอักเสบจนเกิดหนองในช่องหน้าม่านตา (Hypopyon) หรือเกิดปัญหาที่เลนส์ (Lens) เช่น โรคต้อกระจก (Cataract) หรือเกิดปัญหาที่จอประสาทตา (Retina) เช่น โรคเบาหวานขึ้นตา (Diabetic retinopathy) จอประสาทตาอักเสบ (Retinitis) จอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (Age related macular degeneration) มะเร็งที่จอประสาทตา (Retinoblastoma) และโรคอันตรายอื่นๆ ในดวงตาอีกมากมาย เมื่อพบผลตรวจการมองภาพระยะไกลของพนักงานผิดปกติ หากเป็นไปได้ ควรให้แพทย์ที่เข้าไปตรวจสุขภาพในโรงงานทำการตรวจร่างกายโดยดูที่ดวงตาของพนักงานที่มีผลผิดปกติด้วย เมื่อแพทย์พบรายใดที่สงสัยจะมีภาวะผิดปกติอันตรายในดวงตา จะได้แนะนำให้ส่งตรวจยืนยันและทำการรักษากับจักษุแพทย์ต่อไป

2. การมองภาพระยะใกล้ผิดปกติ (Near vision) การมองภาพในระยะใกล้ที่ผิดปกติ คือเห็นภาพได้ไม่ชัดเจนนั้น ก็มีลักษณะการแปลผลทำนองเดียวกับการมองภาพในระยะไกลผิดปกติ คือส่วนมากแล้วจะเกิดจากภาวะสายตายาว (Hyperopia) หรือจากภาวะสายตาเอียง (Astigmatism) หรือจากภาวะสายตาสูงอายุ (Presbyopia) ก็พบได้บ่อย การแก้ไขปัญหาการมองภาพระยะใกล้ผิดปกติจากปัญหาสายตายาว สายตาเอียง และสายตาสูงอายุนี้ สามารถทำได้โดยการตัดแว่นสายตาให้เหมาะสม

และเช่นเดียวกับปัญหาการมองภาพระยะไกล ปัญหาการมองภาพระยะใกล้ที่ผิดปกติ ไม่ชัดเจนนั้น นอกจากจะเกิดจากภาวะสายตายาว สายตาเอียง และสายตาสูงอายุแล้ว ยังอาจเกิดจากโรคอันตรายในดวงตาได้อีกหลายชนิด โดยเฉพาะยิ่งถ้ามีปัญหามองได้ไม่ชัดเจนทั้งภาพระยะไกลและภาพระยะใกล้ด้วย พนักงานที่ผลการตรวจมีความผิดปกติเหล่านี้ หากเป็นไปได้ ควรให้แพทย์ที่มาตรวจสุขภาพที่โรงงาน ทำการตรวจร่างกายโดยดูที่ดวงตารวมถึงซักประวัติเพื่อค้นหาโรค เมื่อแพทย์พบรายใดที่สงสัยจะมีภาวะผิดปกติอันตรายในดวงตา จะได้แนะนำให้ไปตรวจยืนยันและทำการรักษากับจักษุแพทย์ต่อไป

3. การมองภาพ 3 มิติผิดปกติ (Stereopsis) เป็นการตรวจเพื่อดูความสามารถในการมองภาพเห็นความลึก (Depth perception) ซึ่งในคนปกติจะมองภาพเห็นความลึกได้ ต่อเมื่อมีสายตาสองข้างที่เห็นชัดเจน และมีระบบการประมวลผลภาพจากสองตามารวมกันเป็นภาพ 3 มิติขึ้นในสมอง ปัญหาการมองเห็นความลึกจะเกิดขึ้นได้ หากมีการมองเห็นที่ตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างไม่ชัดเจน เช่น มีภาวะสายตาสั้น สายตาเอียง เป็นต้น การใส่แว่นเพื่อแก้ไขภาวะสายตาสั้นหรือสายตาเอียง จะทำให้แก้ไขปัญหาความผิดปกติในการมองเห็นความลึกจากสาเหตุนี้ได้ อย่างไรก็ตามการมองเห็นความลึกผิดปกติ อาจมีสาเหตุมาจากอย่างอื่นได้อีก เช่น เป็นโรคตาขี้เกียจมาตั้งแต่เด็ก (Amblyopia) ซึ่งจะทำให้การประมวลผลภาพในสมองใช้ภาพจากตาเพียงข้างเดียว ก็จะทำให้การมองเห็นความลึกผิดปกติไปเช่นกัน แต่โรคตาขี้เกียจนี้หากพบตอนโตเป็นผู้ใหญ่แล้วไม่สามารถแก้ไขอะไรได้

4. การมองภาพสีผิดปกติ (Color vision) การมองภาพสีที่ผิดปกติไป หรือที่คนทั่วไปเรียกว่าภาวะตาบอดสี (Color blindness) สามารถคัดกรองได้ด้วยเครื่องตรวจสายตาอาชีวอนามัยเช่นกัน ภาวะตาบอดสีนี้ สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดจะเกิดจากภาวะพันธุกรรม คือเป็นมาตั้งแต่กำเนิด อย่างไรก็ตามหากพบผลตรวจคัดกรองการมองภาพสีจากเครื่องตรวจสายตาอาชีวอนามัยผิดปกติ แนะนำให้ทำการตรวจยืนยันกับแผ่นตรวจตาบอดสีมาตรฐาน เช่น แผ่นตรวจอิชิฮาร่า (Ishihara test) เพื่อยืนยันอีกครั้งด้วย

5. ความสมดุลกล้ามเนื้อตาผิดปกติ (Phoria) เป็นการตรวจเพื่อคัดกรองภาวะตาเขแบบซ่อนเร้น (Phoria) ภาวะตาเขหรือตาเหล่ (Strabismus) นั้น โดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือภาวะตาเขที่เห็นได้ชัดเจน (Tropia) กับตาเขแบบซ่อนเร้น (Phoria) ภาวะตาเขที่เห็นได้ชัดเจนนั้น คนทั่วไปสามารถมองเห็นได้โดยไม่ต้องทำการตรวจพิเศษใดๆ อยู่แล้ว แต่ภาวะตาเขแบบซ่อนเร้น คือภาวะที่มีตาเขแต่กล้ามเนื้อตายังสามารถปรับสมดุล ดึงตามาให้เท่ากันได้ในสภาวะการมองปกติ แต่การมองในบางมุมอาจพบว่าตาเขออกไป ภาวะนี้ต้องใช้การตรวจพิเศษจึงจะค้นพบ โดยเครื่องตรวจสายตาอาชีวอนามัยก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถคัดกรองภาวะตาเขแบบซ่อนเร้น

การตรวจนั้นสามารถตรวจแยกได้ทั้งอาการเขในแนวระนาบ (Lateral phoria) และตาเขในแนวตั้ง (Vertical phoria) หากพบผลการตรวจความสมดุลของกล้ามเนื้อตาผิดปกติ ให้สงสัยว่าอาจมีอาการตาเขแบบซ่อนเร้น และหากมีอาการปวดตาหรือปวดศีรษะเมื่อต้องเพ่งอะไรนานๆ ร่วมด้วย ควรส่งพนักงานรายนั้นไปตรวจยืนยันและทำการรักษากับจักษุแพทย์

6. ลานสายตาผิดปกติ (Visual field) การตรวจลานสายตาในเครื่องตรวจสายตาอาชีวอนามัยนั้น เป็นการตรวจแบบคร่าวๆ เพื่อประเมินดูว่าพนักงานยังมีลานสายตาที่กว้างเพียงพอต่อการทำงานบางอย่าง เช่น งานขับรถ ได้หรือไม่ การตรวจทำโดยให้ดูจุดไฟกระพริบที่ตำแหน่งริมด้านนอก (Temporal side) ตรง 55 , 70 และ 85 องศา กับด้านใน (Nasal side) ตรงตำแหน่ง 45 องศา ทำการตรวจแยกตาซ้ายกับตาขวาทีละตา ผลการตรวจภาวะลานสายตาที่ผิดปกตินี้ อาจบ่งบอกถึงภาวะอันตรายบางอย่างในดวงตาได้ ภาวะที่ทำให้เกิดความผิดปกติต่อลานสายตาที่เป็นอันตราย เช่น โรคต้อหิน (Glaucoma) หากพบผลการตรวจลานสายตาผิดปกติจากเครื่องตรวจสายตาอาชีวอนามัย ควรส่งตัวพนักงานไปพบจักษุแพทย์ เพื่อทำการวัดความดันลูกตา ตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ และทำการรักษาต่อไป