การตรวจระดับแอลกอฮอล์ในร่างกายคนทำงาน

บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

เรียบเรียงโดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์

วันที่เผยแพร่ 27 มีนาคม 2560


(Screening of Workers' Alcohol Levels)

บทนำ

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเครื่องดื่มที่มีการดื่มอยู่มากในประเทศไทย ข้อมูลจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี พ.ศ. 2557 [1] ระบุว่า คนไทยมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงถึงร้อยละ 32.3 โดยกลุ่มช่วงอายุที่มีอัตราการดื่มมากที่สุดคือช่วงวัยทำงานอายุระหว่าง 25 – 59 ปี (มีอัตราการดื่มอยู่ที่ร้อยละ 38.2) และการดื่มในเพศชายมีมากกว่าเพศหญิง (เพศชายมีอัตราการดื่มร้อยละ 53.0 ส่วนเพศหญิงมีอัตราการดื่มร้อยละ 12.9) โดยในกลุ่มที่ดื่มแอลกอฮอล์นี้ เป็นการดื่มในลักษณะดื่มเป็นประจำอยู่ถึงร้อยละ 42.4

เหตุผลของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของฝ่ายผู้บริโภคนั้นอาจจะมีหลากหลาย เช่น ดื่มเพื่อสังสรรค์ ดื่มตามเพื่อน ดื่มเพื่อให้ลืมความทุกข์ ดื่มเพื่อให้นอนหลับสบาย หรือในบางรายก็ดื่มจนเป็นนิสัยเสียแล้ว คือแม้ไม่มีเหตุอะไรก็ซื้อมาดื่ม ผลต่อสุขภาพของการดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินไปนั้น ทำให้เดินเซ สับสน เคลิ้มสุข เวลาที่ใช้ในการตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ เพิ่มขึ้น การตัดสินใจช้าลง การควบคุมตนเอง การใช้เหตุผล และความจำลดลง [2] ซึ่งอาการเหล่านี้อาจทำให้ลดประสิทธิภาพการทำงาน และอาจเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของตนเอง เพื่อนร่วมงาน และบุคคลผู้อื่น โดยเฉพาะหากเมาสุราแล้วไปทำงานบางอย่างที่เสี่ยงอันตรายสูง (Safety sensitive jobs) เช่น งานขับยานพาหนะ งานบนที่สูง งานควบคุมเครื่องจักร งานเกี่ยวกับของมีคม งานในที่อับอากาศ งานเกี่ยวกับวัตถุไวไฟ เป็นต้น ในคนทำงานที่ตั้งครรภ์ การดื่มสุราจะทำให้เกิดผลเสียต่อทารกในครรภ์ได้ เช่น การแท้ง การคลอดก่อนกำหนด และเกิดความผิดปกติของทารก [3]

การตรวจระดับแอลกอฮอล์ในร่างกายคนทำงาน

ในทางอาชีวอนามัยและความปลอดภัยนั้น การที่คนทำงานดื่มแอลกอฮอล์แล้วมาทำงาน หรือดื่มในระหว่างที่ทำงาน อาจก่อให้เกิดผลเสียทั้งต่อทรัพย์สินและชีวิตได้ รวมถึงอาจเป็นการผิดกฎหมาย เช่น สำหรับคนทำงานกลุ่มขับขี่ยานพาหนะ ถ้าคนทำงานนั้นทำหน้าที่เป็นผู้ขับขี่ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก คือทำหน้าที่ขับขี่ยานพาหนะอยู่ในทางเดินรถ แล้วคนทำงานผู้นั้นมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 mg% ในระหว่างการทำงาน จะถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก [4] การทำหน้าที่เป็นผู้ขับขี่ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกนั้นก็คือคนที่ทำงานขับขี่ยานพาหนะอยู่ในทางเดินรถ อย่างขี่รถจักรยานยนต์ส่งของ ขับรถยนต์ส่งของ ขับรถขนส่งพนักงาน หรือขับรถรับส่งผู้บริหาร (อยู่ในเส้นทางเดินรถสาธารณะ) เหล่านี้เป็นต้น [2] ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งหวังลดอุบัติเหตุและความสูญเสียต่อคนทำงานและต่อสถานประกอบกิจการเอง สถานประกอบกิจการบางแห่งจึงมีมาตรการตรวจระดับแอลกอฮอล์ในร่างกายคนทำงานขึ้น

ในการตรวจระดับแอลกอฮอล์ในร่างกายนั้น มีวิธีการตรวจที่เป็นที่นิยมอยู่ 2 วิธี วิธีแรกที่สามารถทำได้ในทางปฏิบัติในสถานประกอบกิจการทั่วไปคือการตรวจเป่าแอลกอฮอล์จากลมหายใจ โดยใช้เครื่องตรวจเป่าแอลกอฮอล์จากลมหายใจ (Breathalyzer) ซึ่งมีลักษณะเป็นเครื่องขนาดมือถือพกพา วิธีนี้เป็นวิธีที่ทราบผลทันที ทำการตรวจได้ง่าย ไม่ทำให้ผู้เข้ารับการตรวจเจ็บตัว และทำการตรวจซ้ำได้บ่อยเท่าที่ต้องการ จึงนิยมใช้ในการคัดกรองระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของคนทำงานตามสถานประกอบกิจการ รวมถึงโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ทำการตรวจผู้ขับขี่ที่ต้องสงสัยว่าเมาสุราตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกด้วย

วิธีที่สองคือการเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับแอลกอฮอล์ในเลือด ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้ผู้เข้ารับการตรวจเจ็บตัว (จากการถูกเจาะเลือด) ไม่ทราบผลในทันที (เนื่องจากต้องส่งตัวอย่างเลือดไปทำการตรวจวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการ) มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าวิธีตรวจเป่าแอลกอฮอล์จากลมหายใจ แต่ก็เป็นวิธีการที่มีความน่าเชื่อถือสูง จึงนิยมใช้เฉพาะในบางกรณีเท่านั้น เช่น ใช้ทำการตรวจผู้ขับขี่ที่ต้องสงสัยว่าเมาสุราตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก แต่ผู้ขับขี่นั้นไม่อยู่ในสภาวะที่จะสามารถตรวจเป่าแอลกอฮอล์จากลมหายใจได้ (มีลักษณะดูเหมือนเมามากจนไร้สติ หรือหมดสติไปแล้ว) เช่นนี้เป็นต้น ส่วนในสถานประกอบกิจการทั่วไปนั้น ด้วยเหตุผลของความไม่สะดวกต่างๆ ของวิธีการตรวจแบบนี้ จึงไม่นิยมใช้การเจาะเลือดตรวจในการตรวจคัดกรองระดับแอลกอฮอล์ในร่างกายคนทำงาน

สถานประกอบกิจการมีสิทธิตรวจระดับแอลกอฮอล์ในร่างกายคนทำงานหรือไม่?

แม้ว่าการตรวจเป่าแอลกอฮอล์จากลมหายใจจะเป็นวิธีการที่ทำได้ง่ายและทราบผลได้ทันทีก็ตาม แต่คำถามหนึ่งที่น่าสนใจคือสถานประกอบกิจการมีสิทธิขอคนทำงานซึ่งเป็นลูกจ้างตรวจระดับแอลกอฮอล์ในร่างกายได้หรือไม่ (หมายถึงจะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของลูกจ้างหรือไม่) ปัญหานี้เป็นประเด็นทางด้านกฎหมายที่สถานประกอบกิจการควรใส่ใจ ก่อนที่จะกำหนดมาตรการขอตรวจคัดกรองระดับแอลกอฮอล์ในร่างกายลูกจ้างขึ้นมา [5]

เนื่องจากการตรวจระดับแอลกอฮอล์ในร่างกายลูกจ้างนั้น เป็นสิ่งที่กระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลของลูกจ้าง หากสถานประกอบการมีมาตรการให้ทำการตรวจ ทั้งในแบบที่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าหรือไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าก็ตาม โดยไม่เคยมีการตกลงทำสัญญาขอตรวจเป็นลายลักษณ์อักษรกันไว้ก่อนเลย สถานประกอบการอาจจะมีความเสี่ยงทางกฎหมายในแง่การละเมิดสิทธิส่วนบุคคลซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของลูกจ้างอันพึงมีได้ [5]

เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงทางกฎหมาย และไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสถานประกอบกิจการกับลูกจ้างขึ้นโดยไม่จำเป็น ก่อนที่จะดำเนินการขอตรวจระดับแอลกอฮอล์ในร่างกายของลูกจ้างนั้น สถานประกอบกิจการ (ต้องโดยความเห็นชอบจากนายจ้างโดยตรง) ควรทำข้อตกลงขอตรวจเป็นลายลักษณ์อักษรเอาไว้ให้ชัดเจน และควรให้ลูกจ้างให้ความยินยอมในสัญญาลายลักษณ์อักษรนั้นไว้ด้วย โดยสัญญานั้นอาจจัดทำเป็นข้อตกลงหนึ่งในสัญญาจ้างงาน (จะเป็นการดีที่สุด) หรือสัญญาต่ออายุการจ้างงาน หรือก่อนการตรวจสุขภาพประจำปี หรือทำแยกออกมาโดยเฉพาะ ก็ได้

หากสถานประกอบการบอกข้อมูลที่ชัดเจนให้ลูกจ้างทราบถึงเหตุผลในการขอตรวจ (คือเพื่อความปลอดภัยต่อทรัพย์สินและชีวิต) บอกข้อมูลว่าการตรวจนั้นจะเป็นแบบแจ้งให้ทราบล่วงหน้าหรือไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ตรวจอย่างไร แปลผลอย่างไร ตรวจถี่บ่อยแค่ไหน ตรวจในเวลาก่อนเข้าทำงานหรือระหว่างการทำงาน เชื่อว่าลูกจ้างส่วนใหญ่น่าจะเข้าใจและให้ความยินยอมโดยสมัครใจในการตรวจ

แต่แม้ว่าลูกจ้างจะให้ความยินยอมแล้วก็ตาม ในการดำเนินการหากพบค่าสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ จะต้องมีการดำเนินการต่อที่เหมาะสม คือไม่รุนแรงจนเกินเหตุด้วย เพื่อให้การดำเนินการของสถานประกอบกิจการนั้นชอบด้วยกฎหมาย [5] เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นไม่ใช่สิ่งเสพติดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ [6] หากพบค่าสูงเพียงไม่กี่ครั้ง และลูกจ้างยังไม่ได้ไปก่อให้เกิดความสูญเสียใดๆ การลงโทษถึงขั้นไล่ออกย่อมไม่สมเหตุสมผลแน่ การดำเนินการแบบที่สมเหตุสมผลนั้น เช่น การตักเตือนโดยหัวหน้างาน การให้พักการทำงานในวันนั้นไปก่อน การอบรมให้ความรู้เพิ่มเติม หากมีตรวจพบค่าสูงซ้ำหลายๆ ครั้ง จึงค่อยมีบทลงโทษที่มากขึ้น เช่น การตัดเงิน การพักงาน เป็นต้น

การตรวจนั้นสถานประกอบกิจการควรขอตรวจเฉพาะในคนทำงานที่มีลักษณะงานอันมีความเสี่ยง เช่น คนทำงานขับยานพาหนะ คนทำงานบนที่สูง คนทำงานในที่อับอากาศ คนทำงานกับวัตถุไวไฟ (ดังที่ได้กล่าวแล้วในส่วนบทนำ) หรือคนทำงานจะต้องไปอยู่ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงบางอย่าง เช่น ทำงานบนแท่นกลางทะเล โดยสารอากาศยาน เป็นต้น หากคนทำงานนั้นไม่ได้อยู่ในตำแหน่งงานที่เสี่ยง เช่น เป็นพนักงานบัญชี นั่งทำงานในสำนักงานตลอดทั้งวัน การไปขอตรวจระดับแอลกอฮอล์ในร่างกายคนทำงานผู้นั้นก็อาจเป็นเรื่องไม่เหมาะสม แต่หากคนทำงานผู้นั้น ไม่ว่าทำงานในตำแหน่งใดก็ตาม ก่อให้เกิดอุบัติเหตุในงานจนเกิดความสูญเสียขึ้น การขอตรวจระดับแอลกอฮอล์ในคนทำงานผู้นั้นหลังเกิดเหตุการณ์ก็จัดว่าสมเหตุสมผล [5]

นอกจากนี้ ข้อมูลผลการตรวจระดับแอลกอฮอล์ในร่างกายของคนทำงานนั้นจัดว่าเป็นข้อมูลส่วนตัว การดำเนินการจัดเก็บหรือการเข้าถึงข้อมูลจะต้องเป็นความลับ เพื่อไม่ให้เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของคนทำงานที่ถูกตรวจระดับแอลกอฮอล์ด้วย [5]

การตรวจระดับแอลกอฮอล์ในร่างกายคนทำงานโดยสถานประกอบกิจการเองนั้น จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายทั้งในเรื่องนิติกรรมและการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลดังที่กล่าวมาอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม หากเป็นการตรวจระดับแอลกอฮอล์ในร่างกายคนทำงานโดยเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจขอตรวจระดับแอลกอฮอล์ในร่างกายคนทำงานขับรถยนต์ส่งของที่ขับรถอยู่ในทางเดินรถสาธารณะ เนื่องจากสงสัยว่าอาจเมาสุรา ถือเป็นอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก [4] ซึ่งสามารถดำเนินการได้

ทำไมตรวจเป่าระดับแอลกอฮอล์จากลมหายใจแต่ค่าที่ได้เป็นค่าระดับในเลือด?

อีกคำถามหนึ่งที่น่าสนใจคือ ในการตรวจเป่าแอลกอฮอล์จากลมหายใจนั้น ค่าที่อ่านผลได้จากเครื่องตรวจจะเป็นค่าระดับแอลกอฮอล์ในเลือด (Blood alcohol content; BAC) เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

คำตอบสำหรับคำถามนี้คือ โดยทั่วไปการใช้เครื่องตรวจเป่าแอลกอฮอล์จากลมหายใจ (Breathalyzer) จะนิยมให้เครื่องคำนวณและรายงานค่าออกมาเป็นค่าในเลือด (อาจแสดงหน่วยเป็น mg% หรือ mg/dl หรือ g/dl) เพื่อความสะดวกในการแปลผล คือใช้ดูระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเทียบกับอาการเมาสุราที่เกิดขึ้นได้ แต่หากเครื่องไม่สามารถคำนวณค่าได้ เราก็สามารถคำนวณระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจออกให้เป็นระดับแอลกอฮอล์ในเลือดได้เองโดยใช้ค่าสัมประสิทธิ์ในการแปลงค่า ซึ่งตามกฎหมายของประเทศไทยนั้นให้ใช้ค่าเท่ากับ 2,000 [4] หมายถึงกำหนดให้สัดส่วนปริมาณแอลกอฮอล์ที่ตรวจพบในเลือดต่อปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจออก (Blood : Breath ratio) นั้นเท่ากับ 2,000 : 1 เช่น ตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจออกได้เท่ากับ 0.25 mg/l จะเทียบเท่ากับระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเท่ากับ 500 mg/l (ซึ่งเทียบเคียงได้กับ 50 mg/dl และ 50 mg% นั่นเอง) [2]

ค่าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเท่าไรจึงจะถือว่าสูง?

ในการกำหนดเกณฑ์ว่าค่าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของคนทำงานมีระดับเท่าใดจึงจะถือว่าสูงนั้น ไม่ได้มีข้อกำหนดตายตัว มักเป็นการกำหนดเกณฑ์ที่ยอมรับร่วมกันขึ้นมาภายในสถานประกอบกิจการเป็นหลัก ซึ่งเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นก็ถือเป็นกฎกติกาที่ควรมีการแจ้งให้คนทำงานรับทราบก่อนจะดำเนินการตรวจด้วย เกณฑ์ที่กำหนดนั้นจากประสบการณ์ของผู้เรียบเรียงที่เคยพบ พบว่ามีเกณฑ์ที่เป็นที่นิยมอยู่ 2 ค่า ค่าแรกคือกำหนดค่าตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก คือกำหนดว่ามีการเมาสุราเมื่อคนทำงานผู้นั้นมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 mg% [4] เกณฑ์นี้ถือว่าเป็นเกณฑ์ตามกฎหมาย และที่เป็นเกณฑ์ที่มีค่าสูงที่สุดแล้วที่พอจะยอมรับให้ทำงานอย่างปลอดภัยได้

อีกหนึ่งค่าที่นิยมกำหนดเป็นเกณฑ์ขึ้นมาคือค่าที่ “ตรวจไม่พบ (Not detected)” ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดคนทำงานเลย ซึ่งค่านี้ความหมายจริงๆ หมายถึงมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดต่ำมากจนเกินกว่าที่เครื่องตรวจแอลกอฮอล์จากลมหายใจจะตรวจวัดได้ (เครื่องบางรุ่นอาจมีค่าต่ำสุดที่สามารถตรวจวัดได้หรือ Limit of detection อยู่ที่ถึงประมาณ 10 mg% [7]) แต่ถ้าพูดภาษาชาวบ้านจะกล่าวว่าตั้งเกณฑ์ไว้ที่ค่าเท่ากับ 0 mg% ก็พอพูดได้ (แม้ไม่ถูกต้องในเชิงวิชาการมากนัก) เกณฑ์นี้ถือว่าเป็นเกณฑ์ที่เคร่งครัดมาก เหมาะจะใช้กับสถานประกอบกิจการที่มีมาตรฐานสูง หรือสถานการณ์ที่จำเป็นต้องมีความปลอดภัยสูงจริงๆ ที่เคยพบเห็น เช่น ก่อนเข้าไปทำงานในโรงกลั่นปิโตรเคมี ก่อนขึ้นอากาศยานไปทำงานบนแท่นกลางทะเล เป็นต้น อย่างไรก็ตามการกำหนดเกณฑ์ในระดับนี้จะต้องแจ้งให้คนทำงานระมัดระวังการได้รับแอลกอฮอล์จากช่องทางอื่นนอกเหนือจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น การใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีแอลกอฮอล์ การกินยาที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ การใช้น้ำยาล้างมือที่มีแอลกอฮอล์ [8] เพื่อป้องกันผลบวกลวงที่อาจเกิดขึ้นด้วย

นอกจากเกณฑ์ที่นิยมตั้งกันขึ้นมา 2 ค่าดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ในทางปฏิบัติสถานประกอบกิจการโดยความยินยอมของคนทำงาน อาจพิจารณาตั้งเกณฑ์ในระดับอื่นๆ ที่เห็นว่าเหมาะสมขึ้นใช้กันเองภายในสถานประกอบกิจการก็ได้ เช่น ตั้งเกณฑ์ที่ค่าไม่เกิน 20 mg% หรือไม่เกิน 30 mg% ดังนี้เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง

  1. กลุ่มสถิติสังคม สำนักสถิติสังคม สำนักงานสถิติแห่งชาติ. สรุปผลที่สำคัญ การสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากร พ.ศ. 2557. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานสถิติแห่งชาติ; 2558.
  2. ดาริกา วอทอง. Ethanol - ฐานข้อมูลการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับพิษสารเคมี (ThaiTox) [อินเตอร์เน็ต]. 2559 [เข้าถึงเมื่อ 27 มี.ค. 2560]. เข้าถึงได้จาก http://www.summacheeva.org/index_thaitox_ethanol.htm.
  3. National Center for Chronic Disease Prevention and Health Promotion. CDC Fact sheets: Alcohol use and your health [Internet]. 2017 [cited 2017 Mar 27]. Available from: https://www.cdc.gov/alcohol/fact-sheets/alcohol-use.htm.
  4. กฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 111 ตอนพิเศษ 54 ก. (ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2537).
  5. ข่าวแรงงาน. “แรงงาน” กับ “การตรวจสารเสพติดในร่างกาย”: ความสมดุลระหว่างสิทธิของ “นายจ้าง” และสิทธิส่วนบุคคลของ “ลูกจ้าง” [อินเตอร์เน็ต]. 2556 [เข้าถึงเมื่อ 27 มี.ค. 2560]. เข้าถึงได้จาก http://voicelabour.org/ แรงงาน-กับ-การตรวจสาร/.
  6. พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 96 ตอนที่ 63. (ลงวันที่ 27 เมษายน 2522).
  7. Dalawari P. Medscape – Ethanol level [Internet]. 2014 [cited 2017 Mar 27]. Available from: http://emedicine.medscape.com/article/2090019-overview.
  8. Ali SS, Wilson MP, Castillo EM, Witucki P, Simmons TT, Vilke GM. Common hand sanitizer may distort readings of breathalyzer tests in the absence of acute intoxication. Acad Emerg Med 2013;20(2):212-5.