ความเสี่ยง

บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

เรียบเรียงโดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์

วันที่เผยแพร่ 20 เมษายน 2562

แหล่งที่มา หนังสือแรกเริ่มเรียนรู้อาชีวเวชศาสตร์ (พิมพ์ครั้งที่ 3)


หลังจากที่ได้รู้จักกับสิ่งคุกคาม (hazard) และการสัมผัส (exposure) ไปแล้ว หลักการพื้นฐานทางด้านอาชีวเวชศาสตร์อันดับต่อไปที่จะกล่าวถึงคือเรื่องของความเสี่ยง (risk)

ความเสี่ยง (risk) คือ “โอกาส” ที่สิ่งคุกคามต่อสุขภาพจะส่งผลกระทบต่อเรา หากสิ่งคุกคามที่เราสัมผัสมีโอกาสในการก่อผลกระทบได้มากจะเรียกว่า “เสี่ยงมาก” แต่หากสิ่งคุกคามที่เราสัมผัสมีโอกาสก่อผลกระทบได้น้อยก็เรียกว่า “เสี่ยงน้อย”

อุปมาเสือตัวหนึ่งคือสิ่งคุกคามที่อาจจะมาทำอันตรายต่อเราได้ ถ้าเสือนั้นถูกปล่อยออกมาเดินเพ่นพ่านได้อย่างอิสระ ไม่มีโซ่ล่ามไว้ อีกทั้งยังหิวโซ ก็มีโอกาสที่เสือจะมาทำอันตรายเราได้มาก ดังนี้เรียกว่าเสี่ยงมาก (high risk) แต่หากเสือตัวเดียวกันอยู่ในกรงที่แน่นหนา ทั้งยังมีโซ่ล่ามไว้อีกชั้น แล้วเรายืนดูเสืออยู่ภายนอกกรง ก็เรียกได้ว่ามีความเสี่ยงที่จะถูกเสือทำร้ายน้อย (low risk)

เสือตัวเดียวกัน แต่อยู่ในสภาพต่างกัน ก็จะก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ต่างกันไปด้วย สิ่งคุกคามต่อสุขภาพชนิดเดียวกัน แต่หากอยู่ในสภาพที่ต่างกัน ความเสี่ยงในการก่อโรคก็ย่อมต่างกันไป สารเคมีชนิดหนึ่ง ถูกใช้ใน 2 สถานที่ทำงาน ด้วยความเข้มข้นที่เท่ากัน ปริมาณที่เท่ากัน ซื้อมาจากแหล่งเดียวกัน แต่ที่แรกให้พนักงานสัมผัสสารเคมีนี้โดยตรง ใช้มือเปล่าสัมผัสตลอดทั้งวัน อีกที่หนึ่งให้พนักงานทำงานกับสารเคมีโดยไม่มีการสัมผัสโดยตรง ให้ใส่ถุงมือ ใส่หน้ากากป้องกันไอระเหย และใช้ขันด้ามยาวตักสารเคมี ความเสี่ยงในการเกิดพิษจากสารเคมีชนิดนี้ในสองสภาวะย่อมไม่เท่ากัน

“การประเมินความเสี่ยง” (risk assessment) ในงานอาชีวอนามัย จึงมีประโยชน์ในกรณีที่มีปัญหาหลายปัญหา เพื่อจะได้ทราบว่าปัญหาใดอันตรายหรือเร่งด่วนมาก (เสี่ยงมาก) จะได้รีบแก้ไขก่อน ส่วนปัญหาใดอันตรายหรือเร่งด่วนน้อย (เสี่ยงน้อย) ก็ค่อยหาทางปรับปรุงแก้ไขทีหลัง

“การประเมินความเสี่ยง” (risk assessment) หรืออาจเรียกว่า “การประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ” (health risk assessment; HRA) นั้น วิธีการประเมินโดยละเอียดจะทำในรูปแบบกระบวนการ มีขั้นตอนการประเมินที่ชัดเจน มีการใช้สมการทางคณิตศาสตร์ในการทำนายความเสี่ยง และค่าระดับความเสี่ยงที่ประเมินได้ มักจะออกมาเป็นค่าตัวเลขที่ชัดเจน การประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ ทำให้เราได้ทราบว่าปัญหาที่พบมีความสำคัญมากน้อยเพียงใด จะต้องทำการแก้ไขอย่างเร่งด่วนแค่ไหน และจะมีแนวทางการควบคุมหรือลดความเสี่ยงลงได้อย่างไร จึงนับว่าการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพนั้น เป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งของวิชาอาชีวเวชศาสตร์เลยทีเดียว

ความเสี่ยงจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้ง สิ่งคุกคามต้นเหตุ (hazard) การสัมผัส (exposure) และตัวรับสิ่งคุกคาม (host หรือ receiver) ดังกรณีต่อไปนี้

  • สิ่งคุกคามต่าง ความเสี่ยงต่าง เช่น จุ่มมือลงในน้ำเกลือกับจุ่มมือลงในน้ำกรดเข้มข้น โอกาสที่ผิวหนังจะไหม้พองย่อมไม่เท่ากัน น้ำกรดมีโอกาสทำให้ผิวหนังไหม้พองได้มากกว่า
  • ช่องทางการสัมผัสต่าง ความเสี่ยงต่าง เช่น การกินปรอทเข้าปาก ปรอทจะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายน้อยมาก โอกาสเป็นพิษน้อย แต่ถ้านำปรอทปริมาณเท่ากันมาทำให้เป็นไอ แล้วสูดดมเข้าไป ปรอทจะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายอย่างเต็มที่ โอกาสเป็นพิษมากกว่า
  • ปริมาณการสัมผัสต่าง ความเสี่ยงต่าง เช่น ทำงานในอู่ซ่อมรถแห่งหนึ่งที่มีเสียงดังมาก ถ้าทำงานโดยไม่มีเครื่องป้องกันเสียงเหมือนกัน ระหว่างทำงานวันละ 2 ชั่วโมง กับทำงานวันละ 10 ชั่วโมง โอกาสในการเป็นโรคหูเสื่อมย่อมไม่เท่ากัน
  • ตัวรับต่าง ความเสี่ยงต่าง เช่น สารตะกั่วจะก่อพิษในเด็กได้ง่ายกว่าในผู้ใหญ่ ถ้าสัมผัสสารตะกั่วปริมาณเดียวกัน เด็กอาจมีอาการพิษเกิดขึ้น ในขณะที่ผู้ใหญ่ยังคงปกติ

ในสถานการณ์จริง เราจะต้องทำการประเมินความเสี่ยงโดยพิจารณาจากปัจจัยที่จะมีผลกระทบได้ทั้งหมด เช่น ถ้าต้องการตอบคำถามว่าพนักงานคนหนึ่ง ทำงานอย่างหนึ่ง จะมีความเสี่ยงในการเกิดผลกระทบต่อสุขภาพมากหรือน้อย อย่างน้อยเราควรทราบว่าพนักงานคนนั้นเป็นใคร มีโรคประจำตัวหรือไม่ สิ่งคุกคามในงานนั้นคืออะไร สัมผัสสิ่งคุกคามทางใด ปริมาณที่สัมผัสมากน้อยเท่าไร ระยะเวลาการสัมผัสนานแค่ไหน สภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร มีการใช้อุปกรณ์ป้องกันหรือไม่ เหล่านี้เป็นต้น

หนังสืออ้างอิง

  1. พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช. การประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ. นนทบุรี: ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่; 2547.
  2. DiBartolomeis MJ. Health risk assessment. In: LaDou J, Harrison RJ, editors. Current occupational and environmental medicine. 5th ed. New York: McGraw-Hill Education; 2014. p. 827-41.