กระบวนการและขั้นตอนการตรวจสุขภาพคนทำงาน

บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

เรียบเรียงโดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์

วันที่เผยแพร่ 9 กุมภาพันธ์ 2556


กระบวนการตรวจสุขภาพคนทำงานต้องทำอย่างไรบ้าง?

กระบวนการตรวจสุขภาพคนทำงาน จะเริ่มตั้งแต่การที่แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ เก็บข้อมูลด้านสุขภาพของคนทำงาน ทั้งข้อมูลส่วนตัว เช่น อายุ เพศ โรคประจำตัว โรคในครอบครัว ประวัติการแพ้ยาและอาหาร มาประมวลร่วมกับข้อมูลความเสี่ยงจากการทำงาน ว่าคนทำงานนั้นมีการได้รับสัมผัสสิ่งคุกคามต่อสุขภาพอะไรบ้างจากการทำงาน โดยข้อมูลอาจได้จากการสอบถามคนทำงานโดยตรง หรือข้อมูลจากองค์กรที่ทำงานอยู่ หรือจากการเดินสำรวจสถานที่ทำงาน เมื่อรวบรวมข้อมูลได้แล้ว แพทย์อาชีวเวชศาสตร์จะนำข้อมูลทั้งหมดมาประเมินความเสี่ยง เพื่อออกแบบเป็นโปรแกรมการตรวจสุขภาพที่เหมาะสมกับคนทำงานแต่ละคน จากนั้นทำการตรวจสุขภาพตามโปรแกรมที่ออกแบบไว้ โดยการตรวจร่างกาย ส่งตรวจเลือดและปัสสาวะตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตรวจภาพรังสี และตรวจด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ชนิดต่างๆ นำผลที่ได้มาประเมินและแจ้งให้กับผู้เข้ารับการตรวจทราบ หากแพทย์พบปัญหาสุขภาพ ไม่ว่าการเจ็บป่วยเป็นโรคหรือความเสื่อมต่างๆ ก็จะได้ดำเนินการรักษาอย่างทันท่วงทีต่อไป หากพบความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยในอนาคต ก็จะให้คำแนะนำในการป้องกันแก้ไข ให้คำแนะนำในการส่งเสริมสุขภาพแบบต่างๆ รวมถึงการให้ยาหรือฉีดวัคซีนป้องกันโรค ตามแต่ปัญหาที่พบในคนทำงานแต่ละคนด้วย


สิ่งคุกคามต่อสุขภาพในการทำงานคืออะไร?

สิ่งคุกคามต่อสุขภาพในการทำงาน (Occupational hazard) คือสิ่งหรือสภาวการณ์ต่างๆ ที่สามารถก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพต่อคนทำงานที่สัมผัสต่อสิ่งหรือสภาวการณ์นั้นได้ สิ่งคุกคามต่อสุขภาพในการทำงานแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม ทั้งสิ่งคุกคามทางด้านกายภาพ เช่น เสียงที่ดังเกินไปอาจทำให้เป็นโรคประสาทหูเสื่อมจากเสียงดัง แสงสว่างที่จ้าหรือหรี่เกินไปอาจทำให้มีอาการปวดและเมื่อยล้าของสายตา รังสีบางชนิดสามารถก่อโรคมะเร็งได้ สิ่งคุกคามทางด้านเคมี ก็คือสารเคมีต่างๆ เช่น สารตัวทำละลาย สารโลหะหนัก ยาปราบศัตรูพืช ที่อาจเป็นพิษกับคนทำงานที่ได้รับสารเคมีเข้าสู่ร่างกายมากเกินระดับที่ปลอดภัย สิ่งคุกคามทางด้านชีวภาพ ก็คือเชื้อโรคต่างๆ ที่หากคนทำงานได้รับเข้าไปจะเกิดโรคติดเชื้อขึ้น เช่น เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า เชื้อวัณโรค เชื้อมาลาเรีย สิ่งคุกคามทางด้านการยศาสตร์ ก็คือการทำงานในท่าทางต่างๆ ที่ไม่สะดวกสบาย การทำงานในท่าซ้ำๆ การยกของหรือออกแรงที่มากเกินกำลัง สิ่งคุกคามกลุ่มนี้จะทำให้เกิดโรคกระดูกและกล้ามเนื้อกับคนทำงาน สิ่งคุกคามอีกกลุ่มหนึ่งที่อาจพบได้คือสิ่งคุกคามด้านจิตใจและสังคม เช่น การทำงานในสภาวะที่มีความเครียดสูง การทำงานอยู่กะหรือผิดเวลา การทำงานที่มีชั่วโมงการทำงานยาวกว่าปกติ สิ่งคุกคามกลุ่มนี้ทำให้เกิดผลกระทบทางด้านจิตใจกับคนทำงานได้ การทำงานแต่ละอย่าง ก็มีโอกาสจะได้รับสิ่งคุกคามจากการทำงานแต่ละชนิดมากน้อยต่างกันไป ในการออกแบบการตรวจสุขภาพคนทำงานที่ดีนั้น แพทย์อาชีวเวชศาสตร์จึงต้องใส่ใจกับลักษณะงานที่คนทำงานแต่ละคนทำ และออกแบบการตรวจให้สอดคล้องกับสิ่งคุกคามที่คนทำงานแต่ละคนได้รับด้วย


ขั้นตอนต่างๆ ในการตรวจสุขภาพคนทำงานมีอะไรบ้าง?

เมื่อคนทำงานมาตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาล ขั้นตอนในการตรวจสุขภาพจะเริ่มตั้งแต่การลงทะเบียนบันทึกข้อมูล การซักประวัติ ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต และทำการตรวจชนิดต่างๆ ไปตามโปรแกรม เช่น การตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะ การตรวจภาพรังสีทรวงอก การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจวิ่งสายพาน การตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง การตรวจสมรรถภาพการได้ยิน การตรวจสมรรถภาพปอด การตรวจสมรรถภาพการมองเห็น การตรวจระดับสารเคมีในร่างกาย จากนั้นจะเป็นการพบแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกาย รับฟังผลการตรวจ รับคำแนะนำจากแพทย์ สอบถามข้อสงสัย และวางแผนการส่งเสริมสุขภาพ ขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้มีความสำคัญ เนื่องจากหากดำเนินการได้อย่างถูกต้องเหมาะสมแล้วจะช่วยให้การตรวจสุขภาพครั้งนั้นเกิดประโยชน์อย่างสูงสุด อธิบายรายละเอียดการตรวจในบางขั้นตอนได้ดังนี้


การซักประวัติ

การซักประวัติจะช่วยให้แพทย์ได้ทราบข้อมูลสุขภาพทั่วไปของคนทำงานที่มาการตรวจสุขภาพ ข้อมูล เช่น อายุ เพศ โรคประจำตัว โรคทางพันธุกรรม การแพ้ยาและอาหาร การได้รับวัคซีนในอดีต การผ่าตัดในอดีต ประวัติการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ ยาที่กินประจำ เหล่านี้จะช่วยให้แพทย์ประเมินสภาวะสุขภาพของคนทำงานได้ครอบคุลมขึ้น


การตรวจเลือด

การเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อนำไปใช้หาค่าระดับสารเคมีต่างๆ ในร่างกายนั้น มีประโยชน์ในการประเมินสภาวะสุขภาพของคนทำงานเป็นอย่างยิ่ง เช่น การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด หากพบว่าเริ่มมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง แพทย์จะได้ให้คำแนะนำในการปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน แต่หากพบว่าเป็นโรคเบาหวานแล้ว แพทย์ก็จะได้รีบทำการรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานต่อไป หรือการตรวจระดับไขมันในเลือด ช่วยให้ประเมินความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจในอนาคตได้ การตรวจเลือดยังใช้ประเมินค่าอื่นๆ ได้อีกมาก เช่น ระดับกรดยูริก ระดับการทำงานของไต ระดับการทำงานของตับ รวมไปถึงระดับสารเคมีที่เป็นพิษที่คนทำงานได้รับจากการทำงานของตนเองอีกด้วย


การตรวจปัสสาวะ

การเก็บตัวอย่างปัสสาวะเพื่อนำไปตรวจนั้นมีหลายวัตถุประสงค์ เช่น ใช้ในการตรวจหาความสมบูรณ์ของปัสสาวะ เพื่อดูว่าคนทำงานมีความผิดปกติในการทำงานของระบบไตและทางเดินปัสสาวะหรือไม่ นอกจากนี้การตรวจปัสสาวะ ยังสามารถใช้เพื่อตรวจคัดกรองสารเสพติด และตรวจระดับสารเคมีที่เป็นพิษที่คนทำงานได้รับจากการทำงานได้ด้วย


การตรวจสมรรถภาพการได้ยิน

การตรวจสมรรถภาพการได้ยินเป็นการตรวจเพื่อคัดกรองว่าคนทำงานยังมีความสามารถในการฟังเสียงได้อย่างชัดเจนหรืออยู่ไม่ โดยส่วนใหญ่จะทำการตรวจคัดกรองจากการได้ยินเสียงความถี่ต่างๆ ของหูแต่ละข้าง การตรวจนี้มีประโยชน์ในการคัดกรองโรคประสาทหูเสื่อมจากการทำงาน ในผู้ที่ทำงานในที่เสียงดัง และใช้ประเมินความพร้อมในการทำงานบางอย่างที่จำเป็นต้องมีความสามารถในการได้ยินเสียงเพื่อความปลอดภัย เช่น การทำงานขับรถ การทำงานในที่อับอากาศ เป็นต้น


การตรวจสมรรถภาพปอด

คนทำงานบางกลุ่มอาจต้องทำงานสัมผัสกับฝุ่นละอองสารเคมีอยู่ตลอดทั้งวัน ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นหิน ฝุ่นฝ้าย ฝุ่นแร่ใยหิน หรือละอองของสารเคมีชนิดต่างๆ ฝุ่นละอองเหล่านี้สามารถทำให้เกิดโรคปอดจากการทำงานขึ้นได้ในระยะยาว การตรวจสมรรถภาพปอดจึงเป็นการประเมินและคัดกรอง ว่าการทำงานของระบบทางเดินหายใจนั้นยังเป็นปกติดีอยู่หรือไม่


การตรวจสมรรถภาพการมองเห็น

การตรวจสมรรถภาพการมองเห็น เช่น การตรวจความชัดเจนในการมองภาพ การตรวจคัดกรองภาวะตาบอดสี การตรวจลานสายตา การตรวจความสามารถในการมองภาพ 3 มิติ เหล่านี้เป็นการตรวจที่มีประโยชน์สำหรับคนทำงานในหลายหน้าที่ ซึ่งต้องใช้สายตาในการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัย เช่นผู้ที่ต้องใช้สายตาทำงานคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ผู้ที่ทำงานขับรถหรือพาหนะอื่นๆ ผู้ที่ใช้สายตาทำงานตรวจสอบคุณภาพสินค้า เป็นต้น


การตรวจร่างกายโดยแพทย์

การตรวจร่างกายโดยแพทย์ก็เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญไม่น้อยเลยทีเดียว เนื่องจากการที่คนทำงานได้พบแพทย์นั้น นอกจากจะได้รับการตรวจร่างกายหาความผิดปกติแล้ว ยังเป็นโอกาสที่จะได้รับทราบคำอธิบายหรือแปลผลการตรวจที่ถูกต้องชัดเจน ได้รับคำแนะนำในการรักษาหรือชะลออาการผิดปกติ และคำแนะนำในการปฏิบัติตนเพื่อส่งเสริมสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้สอบถามปัญหาสุขภาพที่สงสัยจากแพทย์โดยตรงด้วย