อาชีวเวชศาสตร์คืออะไร

บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

เรียบเรียงโดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์

วันที่เผยแพร่ 20 เมษายน 2562

แหล่งที่มา หนังสือแรกเริ่มเรียนรู้อาชีวเวชศาสตร์ (พิมพ์ครั้งที่ 3)


“อาชีวเวชศาสตร์” (occupational medicine) เป็นวิชาการแพทย์แขนงหนึ่ง ว่าด้วยเรื่องการดูแลสุขภาพของคนทำงาน วิชาอาชีวเวชศาสตร์นี้ ครอบคลุมตั้งแต่การป้องกันโรค การรักษาโรค และการฟื้นฟูสุขภาพของคนทำงาน แต่เนื่องจากปัญหาโรคจากการทำงานส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาที่ป้องกันได้ องค์ความรู้ของวิชานี้ในปัจจุบันจึงเน้นหนักไปทางการป้องกันโรคเป็นหลัก แพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญในวิชาอาชีวเวชศาสตร์นั้นเราเรียกว่า “แพทย์อาชีวเวชศาสตร์” (occupational physician)

ในอดีตก่อนที่จะมีการใช้คำว่าอาชีวเวชศาสตร์ (occupational medicine) เป็นคำรวมนั้น ศาสตร์ในการดูแลสุขภาพคนทำงานโดยแพทย์จะมุ่งเน้นไปที่คนทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหลัก วิชาดังกล่าวจึงเรียกว่า “เวชศาสตร์อุตสาหกรรม” (industrial medicine) ต่อมามีการขยายความสนใจไปในกลุ่มคนทำงานกลุ่มอื่นๆ ด้วย เช่น กลุ่มเกษตรกร ก็จะเรียกวิชาที่ดูแลสุขภาพของเกษตรกรว่า “เวชศาสตร์เกษตรกรรม” (agricultural medicine) ในที่สุดศาสตร์ในการดูแลสุขภาพของ คนทำงานนี้ ก็ได้รับความสนใจครอบคลุมไปถึงคนครบทุกอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น คนงานในโรงงาน เกษตรกร งานบริการ นักวิชาการ ผู้บริหาร ก็ล้วนแล้วแต่มีโอกาสเกิดโรคจากการทำงานขึ้นมาด้วยกันทั้งหมด เพื่อตัดปัญหาความหลากหลายของ ชื่อวิชาที่จะใช้เรียก จึงใช้คำว่า “อาชีวเวชศาสตร์” (occupational medicine) ซึ่ง เป็นคำรวม หมายถึงศาสตร์ในการดูแลสุขภาพของคนทำงานทุกอาชีพแทน

วิชาอาชีวเวชศาสตร์ถูกจัดว่าเป็นแขนงหนึ่งของวิชาเวชศาสตร์ป้องกัน (preventive medicine) ซึ่งปัจจุบันมีการเปิดสอบรับรองในประเทศไทยโดยแพทยสภาอยู่ทั้งหมด 8 สาขา ได้แก่ ระบาดวิทยา อาชีวเวชศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ เวชศาสตร์ป้องกันคลินิก สุขภาพจิตชุมชน เวชศาสตร์การบิน เวชศาสตร์ทางทะเล และเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว สาเหตุที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มวิชาเวชศาสตร์ป้องกันนั้นก็เนื่องจากโรคจากการทำงานส่วนใหญ่เป็นโรคที่รักษาไม่ได้ แต่ป้องกันได้ จึงต้องใช้การป้องกันเป็นหลักในการลดจำนวนผู้ป่วย อย่างไรก็ตามมีโรคจากการทำงานบางโรคที่สามารถรักษาได้ บางโรคสามารถฟื้นฟูให้ดีขึ้นได้ งานด้านอาชีวเวชศาสตร์จึงมีส่วนคาบเกี่ยวกับการรักษา และการฟื้นฟูสุขภาพของคนทำงานที่ป่วยด้วย

ส่วนคำว่า "อาชีวอนามัย" (occupational health) นั้นหมายความถึง ศาสตร์การดูแลสุขภาพอนามัยของคนทำงาน โดยผู้ดำเนินการคือผู้มีความรู้ทางด้านสาธารณสุขจากสาขาวิชาชีพใดก็ตาม จะเห็นว่า คำว่า “อาชีวเวชศาสตร์” (occupational medicine) มีความหมายจำเพาะกว่า เนื่องจากหมายถึงการ ดำเนินการดูแลสุขภาพของคนทำงานโดยแพทย์เท่านั้น โดยใช้ศาสตร์ทางด้านการแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งจะต้องมีการตรวจร่างกายผู้ป่วย การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการให้การรักษารวมอยู่ด้วย

หากจะเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของวิชา "อาชีวอนามัย" กับวิชา “อาชีวเวชศาสตร์” กับกรณีของศาสตร์ทางการแพทย์สาขาอื่นๆ เราอาจเปรียบเทียบได้กับ ความสัมพันธ์ของวิชา “นิติวิทยาศาสตร์” กับ “นิติเวชศาสตร์” และความสัมพันธ์ ของวิชา “จิตวิทยา” กับ “จิตเวชศาสตร์” ก็ได้

หนังสืออ้างอิง

  1. Rom WN. The discipline of environmental and occupational medicine. In: Rom WN, Markovitz SB, editors. Environmental and occupational medicine. 4th ed. Philadelphia: Lippincott Williams & Wilkins; 2007. p. 3-8.
  2. Faculty of Occupational Medicine of the Royal College of Physicians. What is occupational medicine? [Internet]. 2010 [cited 2010 Dec 13]. Available from: http://www.facoccmed.ac.uk.
  3. ข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์การออกหนังสืออนุมัติและวุฒิบัตรเพื่อแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2552. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 126 ตอนพิเศษ 46 ง. (ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552).