ประวัติของ แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี ผู้บุกเบิกวงการอาชีวเวชศาสตร์

บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

เรียบเรียงโดย พญ.ดาริกา วอทอง

วันที่เผยแพร่ 27 พฤศจิกายน 2563


ประวัติของ แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี ผู้บุกเบิกวงการอาชีวเวชศาสตร์

แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี
(ที่มา: Opera omnia medica & physiologica, Geneva, 1717)

  • แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี (Bernardino Ramazzini) เป็นแพทย์ชาวอิตาลี ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งอาชีวเวชศาสตร์ (Father of occupational medicine)” [1] [หมายเหตุ ชื่อของบุคคลท่านนี้ กรณีเขียนทับศัพท์แบบภาษาอิตาลีจะเป็น “แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี” แต่หากเขียนทับศัพท์แบบภาษาอังกฤษจะเป็น “เบอร์นาร์ดิโน รามาซซินี” ซึ่งในบทความนี้จะใช้ “แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี” เป็นหลัก]

  • แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี (3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1633 – 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1714) เกิดที่เมืองการ์ปี (Carpi) ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี เขาถือว่าเป็นบุคคลที่เกิดในยุคเรืองปัญญา (Age of Enlightenment) (ยุคเรืองปัญญาคือยุคในช่วงราวศตวรรษที่ 17 – 18 หรือราวปี ค.ศ. 1601 – 1800) และมีชีวิตอยู่ก่อนการเริ่มยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมคือยุคในช่วงราวปี ค.ศ. 1760 – 1840) โดยหากจะเปรียบเทียบก็คือ เมื่อ เจมส์ วัตต์ (James Watt) นักประดิษฐ์ชาวสกอตแลนด์ สร้างเครื่องจักรไอน้ำแบบของเขาขึ้นสำเร็จในปี ค.ศ. 1776 นั้น เป็นเวลาที่ แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี ได้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 60 ปี

  • แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี จบการศึกษาเป็นแพทย์จากมหาวิทยาลัยแห่งปาร์มา (University of Parma) ในปี ค.ศ. 1659 (เมื่ออายุราว 26 ปี) หลังจากจบการศึกษาเขาได้ไปฝึกงานกับอาจารย์แพทย์ชื่อ อันโตนีโอ มารีอา รอสซี (Antonio Maria Rossi) ที่โรม (Rome) เป็นเวลาหนึ่งปี ก่อนจะไปทำงานเป็นแพทย์ชุมชนที่เมืองกานีโน (Canino) และมาร์ตา (Marta) อยู่ได้ระยะหนึ่ง แต่ป่วยเป็นโรคมาลาเรียและมีอาการตัวเหลือง ทำให้ต้องกลับมาพักฟื้นที่เมืองการ์ปีบ้านเกิด [2]

  • แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี เป็นบุตรของ บาร์โตโลเมโอ รามัซซีนี (Bartolomeo Ramazzini) และ กาเตรีนา เฟแดร์โซนี (Caterina Federzoni) [3]

  • ในปี ค.ศ. 1665 (เมื่ออายุราว 32 ปี) เขาได้แต่งงานกับ ฟรันเชสกา กวาโตลี (Francesca Guatoli) มีบุตรชาย 2 คนที่เสียชีวิตตั้งแต่วัยทารก และบุตรสาว 2 คน บุตรสาวคนโตนั้นไม่มีบุตร ส่วนบุตรสาวคนเล็กชื่อ จิสมอนดา (Gismonda) มีบุตรหลายคน ในจำนวนหลานๆ เหล่านี้ หลานชาย 3 คนมีบทบาทสำคัญต่อเขา เนื่องจากช่วยทำหน้าที่เป็นเลขานุการให้กับเขาในช่วงวัยชรา แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี ยังเป็นลุงของ บาร์โตโลเมโอ รามัซซีนี (Bartolomeo Ramazzini) [หมายเหตุ ชื่อเหมือนกับปู่] ญาติอีกคนหนึ่งที่ประกอบอาชีพเป็นแพทย์เช่นกัน และญาติผู้นี้เป็นผู้เขียนชีวประวัติให้กับ แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี เมื่อเขาได้เสียชีวิตไปแล้ว [2-3]

  • ในปี ค.ศ. 1671 (เมื่ออายุราว 38 ปี) เขาได้ย้ายมาอาศัยที่เมืองโมเดนา (Modena) ซึ่งเป็นเมืองใกล้กับเมืองการ์ปีบ้านเกิด เพื่อมาทำงานให้กับขุนนางตระกูลเอสเต (House of Este) ที่เป็นผู้ปกครองเมืองโมเดนา ในปี ค.ศ. 1678 ดยุคฟรันเซสโกที่ 2 แห่งเอสเต (Duke Francesco II d’Este) เจ้าเมืองโมเดนา ได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งโมเดนา (University of Modena) ขึ้น และในปี ค.ศ. 1682 (เมื่ออายุราว 49 ปี) แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี ได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านทฤษฎีทางการแพทย์ (Professor of the Theory of Medicine) ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ [2]

  • แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี มักเขียนจดหมายโต้ตอบเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์กับผู้มีความรู้หลายท่าน เช่น มาร์เชลโล มัลปีกี (Marcello Malpighi) แพทย์ชาวอิตาลีที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งในยุคนั้น ซึ่งต่อมาได้รับการขนานนามว่าเป็นบิดาแห่งวิชากายวิภาคศาสตร์จุลทรรศน์ (Microscopic anatomy) และ ก็อทฟรีท วิลเฮ็ล์ม ไลบ์นิทซ์ (Gottfried Wilhelm Leibniz) นักปรัชญาและนักคณิตศาสตร์ชาวเยอรมัน ผู้คิดค้นวิชาแคลคูลัส (Calculus) [2]

  • ในปี ค.ศ. 1690 (ขณะที่อายุ 57 ปี) ได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ขึ้นที่เมืองโมเดนา น้ำได้ท่วมพื้นที่การเกษตรในบริเวณชนบทรอบเมืองทั้งหมด ผลของน้ำท่วมทำให้อาหารขาดแคลนและเกิดโรคระบาดไปทั่ว ซึ่งรวมถึงโรคมาลาเรียและท้องร่วง [2] ในช่วงนี้ แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี ได้ทำการศึกษาผู้ป่วยในเขตชนบทเหล่านี้ และรวบรวมความรู้เขียนเป็นตำราขึ้นมา ถือเป็นตำราเล่มแรกของเขา มีชื่อว่า “De constitutione anni M.DC.LXXXX. (Works, 1690)” แปลเป็นไทยคือ “งานของฉัน ปี ค.ศ. 1690” [4] หลังจากนั้น เขาได้เขียนและตีพิมพ์ตำราทางการแพทย์เล่มอื่นๆ ขึ้นมาอีกหลายเล่ม

  • ช่วงหลายปีหลังของการทำงานที่โมเดนา แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี มีความสนใจเกี่ยวกับโรคของคนทำงานมากขึ้น ในเวลาว่างเขาจะไปที่โรงงานในเมือง เพื่อดูสภาพการทำงานของคนทำงานอาชีพต่างๆ สอบถามคนทำงานเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วย รวมถึงส่งจดหมายสอบถามจากผู้มีความรู้ในเรื่องอันตรายจากงานประเภทต่างๆ เนื่องจากเขามีความตั้งใจจะเขียนตำราที่เกี่ยวกับโรคของคนทำงานขึ้น [2]

  • ความตั้งใจที่จะเขียนตำราที่เกี่ยวกับโรคของคนทำงานนั้น เกิดจากการที่เขาเห็นคนรับจ้างมาทำความสะอาดหลุมปฏิกูล (Cesspit) ที่บ้านของเขา แล้วคิดว่าจะเกิดโรคอะไรในคนทำงานเหล่านี้ได้บ้าง [5] หลังจากศึกษาอาการเจ็บป่วยของคนทำงานประเภทต่างๆ อยู่หลายปี ในปี ค.ศ. 1700 (ขณะอายุ 67 ปี) เขาก็ได้ตีพิมพ์หนังสือที่เกี่ยวกับโรคของคนทำงานขึ้นเป็นครั้งแรก ในชื่อ “De morbis artificum diatriba (Diseases of workers)” หรือแปลเป็นไทยคือ “โรคของคนทำงาน”

  • ในปีเดียวกันนั้นเอง (ค.ศ. 1700) แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี ได้รับเชิญจากสาธารณรัฐเวนิส (Republic of Venice) ให้ไปเป็นศาสตราจารย์ในตำแหน่งประธานด้านเวชปฏิบัติ (Chair of Practical Medicine) ที่มหาวิทยาลัยแห่งปาดัว (University of Padua) ที่เมืองปาดัว (Padua) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านการแพทย์อย่างสูงในยุคนั้น [4] เขาตัดสินใจอยู่นานเนื่องจากขณะนั้นมีอายุมากแล้ว และสุขภาพไม่ค่อยดี แต่หลังจากไตร่ตรองแล้วก็ได้ตัดสินใจย้ายไปทำงานที่เมืองปาดัวในที่สุด [2]

  • ที่ปาดัว แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี ได้รับเกียรติอย่างสูงในฐานะศาสตราจารย์ผู้สอนวิชาทางการแพทย์ แม้ว่าสุขภาพของเขาจะแย่ลง เนื่องจากมีปัญหาปวดศีรษะและมีอาการใจสั่น แต่เขาก็ยังทำงานสอนและเขียนตำราออกมาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงบั้นปลายชีวิตเขามีปัญหาตาบอด แต่ยังสามารถทำงานได้โดยอาศัยหลานชาย 3 คนที่มาอยู่ด้วยกัน ช่วยทำหน้าที่เป็นเลขานุการให้ โดยให้ช่วยเขียนตำราในลักษณะเขียนตามคำบอกเล่าของเขา [2]

  • ในปี ค.ศ. 1914 แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี ในวัย 81 ปี ได้เสียชีวิตลงหลังจากเกิดภาวะหมดสติเฉียบพลัน (Apoplexy) [4]

  • หนังสือ De morbis artificum diatriba นั้น ต้นฉบับเขียนด้วยภาษาละติน ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1700 (หรือเรียกในภาษาละตินว่าฉบับ Editio princeps) มีเนื้อหาอยู่ทั้งหมด 42 บท (คือกล่าวถึง 42 กลุ่มอาชีพ) [2] ต่อมาในปี ค.ศ. 1713 ซึ่งเป็นปีก่อนที่เขาจะเสียชีวิต แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี ได้ปรับปรุงหนังสือเล่มนี้ใหม่อีกครั้งเป็นฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 (Second edition) โดยในฉบับปรับปรุงนี้ เขาได้ทำการปรับเนื้อหาในแต่ละบทใหม่ มีการเพิ่มบางข้อความ และตัดทอนบางข้อความเก่าออก รวมถึงตัดเนื้อหาบท “ช่างก่ออิฐ (Masons)” ออกไปทั้งบท เชื่อว่าอาจเนื่องจากเขาเห็นว่าได้กล่าวถึงอันตรายจากยิปซัม (Gypsum) และปูนขาว (Lime) ในบท “คนทำงานกับยิปซัมและปูนขาว (Workers with gypsum and lime)” ไปมากแล้ว [2] และได้แยกเอาบท “โรคของผู้มีการศึกษา (Diseases of learned men)” ออกมาไว้เป็นส่วนแทรก (Dissertation) ในลักษณะเป็นบทพิเศษในส่วนท้าย นอกจากนี้ยังได้เพิ่มบทใหม่เข้าไปอีกเป็นจำนวน 12 บท (กล่าวถึงอีก 12 กลุ่มอาชีพ) โดยบทใหม่จำนวน 12 บทที่เพิ่มเข้ามานี้มาจากประสบการณ์ชีวิตในช่วงท้ายของเขา และเขียนขึ้นโดยการช่วยเหลือของหลานชาย [2] การเรียงบทในหนังสือ De morbis artificum diatriba ทั้งฉบับพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1700 และฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1713 นั้นมีเรื่องแปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือจะเรียงเลขบทโดยข้ามบทที่ 8 ไปทั้งสองฉบับ (หนังสือจะไม่มีบทที่ 8) โดยที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด [2]

  • สำหรับการแปลหนังสือ De morbis artificum diatriba เป็นภาษาอังกฤษนั้น ถูกแปลครั้งแรกโดยนักแปลนิรนาม (Anonymous translator) ท่านหนึ่ง เผยแพร่ในปี ค.ศ. 1705 โดยใช้ฉบับปี ค.ศ. 1700 ซึ่งเป็นฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นต้นฉบับ แต่การแปลนั้นมีการตัดทอนข้อความหลายส่วนจากต้นฉบับออกไป และแปลผิดค่อนข้างมาก [2] ต่อมานายแพทย์ โรเบิร์ต เจมส์ (Robert James) ได้แปลส่วนเสริมจำนวน 12 บท ที่ แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี เขียนเพิ่มขึ้นในฉบับปี ค.ศ. 1713 ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 แล้วได้เอาเนื้อหาส่วนต้นมาจากที่นักแปลนิรนามได้แปลไว้เดิม มารวมเล่มออกพิมพ์เผยแพร่ในปี ค.ศ. 1746 และอีกครั้งในปี ค.ศ. 1750 ซึ่งการแปลครั้งนี้ทำให้เนื้อหาของหนังสือมาจากต้นฉบับคนละเล่มกัน (คือส่วนต้นมาจากฉบับปี ค.ศ. 1700 แต่ส่วนเพิ่ม 12 บทมาจากฉบับปี ค.ศ. 1713) ทำให้เนื้อหาไม่สอดคล้องกัน [2] การแปลเป็นภาษาอังกฤษฉบับที่มีความสมบูรณ์ทำโดยศาสตราจารย์ วิลเมอร์ เคฟ ไรท์ (Wilmer Cave Wright) โดยใช้เนื้อหาฉบับปี ค.ศ. 1713 ทั้งเล่มเป็นต้นฉบับ (คือฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นฉบับสุดท้ายที่ แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี ได้จัดทำไว้) เธอได้ทำการแปลโดยไม่ตัดทอนข้อความ ตรวจสอบคำผิด และเพิ่มหมายเหตุที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาเอาไว้ด้วย ฉบับแปลสมบูรณ์นี้พิมพ์ออกเผยแพร่ในปี ค.ศ. 1940 [2]

  • นอกจากภาษาอังกฤษแล้ว De morbis artificum diatriba ยังได้ถูกแปลเป็นภาษาอื่นๆ อีกหลายภาษา เช่น ภาษาเยอรมัน ภาษาฝรั่งเศส ภาษาอิตาลี และภาษาดัตช์ [2]

  • เนื้อหาของหนังสือ De morbis artificum diatriba นั้น แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี ได้ทำการเรียบเรียงไว้อย่างดี มีการกล่าวอ้างอิงถึงองค์ความรู้ในอดีต และข้อมูลที่ได้มาจากการสังเกตหรือองค์ความรู้ของเขาเอง การกล่าวถึงโรคของคนทำงานนั้นจะครอบคลุมทั้งจากสาเหตุที่มาจากการทำงานกับแร่ธาตุและโลหะ การสูดดมสิ่งที่เป็นพิษในอากาศ การทำงานสัมผัสกับของเหลว และการทำงานออกแรงหรืออยู่ในท่าทางเดิมๆ ซ้ำๆ [5] มีการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการป้องกันโรค เสนอหนทางในการรักษา การแนะนำให้คนที่เจ็บป่วยเปลี่ยนอาชีพ มีการกล่าวถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่ด้วย โดยเขาสนับสนุนให้คนในชนชั้นแรงงานนั้นได้มีสิทธิของพลเมือง (Rights of citizenship) [5]

  • ตัวอย่างของกลุ่มอาชีพที่มีการกล่าวถึงในหนังสือ De morbis artificum diatriba เช่น คนงานเหมืองโลหะ (Miners of metals), นักเคมี (Chemists), ช่างปั้นหม้อ (Potters), ช่างตีเหล็ก (Blacksmiths), คนทำงานกับยิปซัมและปูนขาว (Workers with gypsum and lime), คนงานทำยาสูบ (Tobacco-workers), คนทำศพ (Corpse-bearers), หมอตำแย (Midwives), แม่นม (Wet-nurses), คนทำขนมปังและคนโม่แป้ง (Bakers and millers), คนงานตัดหิน (Stone-cutters), คนทำเกลือ (Salt-makers), คนทำงานที่ยืนทำงาน (Workers who stand), คนทำงานนั่งอยู่กับที่ (Sedentary workers), นักกีฬา (Athletes), ชาวนา (Farmers), ชาวประมง (Fishermen), โรคในค่ายทหาร (Diseases in camps), โรคของผู้มีการศึกษา (Diseases of learned men), ช่างพิมพ์ (Printers), คนทอผ้า (Weavers), คนขุดบ่อน้ำ (Well-diggers), คนทำสบู่ (Soap-makers) [2] จะเห็นได้ว่ามีการกล่าวถึงกลุ่มอาชีพต่างๆ ไว้อย่างหลากหลายมาก

  • หนังสือ De morbis artificum diatriba ทำให้แพทย์ทั่วโลกรู้จัก แบร์นาร์ดิโน รามัซซีนี มากขึ้น และเป็นตัวจุดประกายให้แพทย์หันมาให้ความสนใจปัญหาโรคของคนทำงาน คำถามหนึ่งที่ แบร์นาร์ดิโน รามัซซีนี เสนอให้แพทย์ถามกับผู้ป่วยของตนเอง เพื่อเป็นการหาสาเหตุของโรคก็คือคำถามว่า “What is your occupation?” หรือแปลเป็นไทยคือ “คุณทำงานอะไร?” [6]

  • เนื้อหาของหนังสือ De morbis artificum diatriba นั้นยังถูกนำไปพิมพ์รวมอยู่ในหนังสือรวมผลงานที่เรียกว่าหนังสือจำพวก “Opera omnia (Complete works)” หรือแปลเป็นไทยคือ “รวมผลงาน” ของ แบร์นาร์ดิโน รามัซซีนี ซึ่งมีการจัดพิมพ์ขึ้นหลายครั้งในหลายเมือง เช่น Opera omnia medica & physiologica ฉบับพิมพ์ที่เจนีวา (Geneva) ปี ค.ศ. 1717, Opera omnia medica et physiologica ฉบับพิมพ์ที่ลอนดอน (London) ปี ค.ศ. 1718, Opera omnia medica & physiologica ฉบับพิมพ์ที่เนเปิลส์ (Naples) ปี ค.ศ. 1739 เป็นต้น [2] ในหนังสือ Opera omnia บางฉบับ เช่น Opera omnia medica & physiologica ฉบับพิมพ์ที่เจนีวา ปี ค.ศ. 1717 นั้นจะมีเนื้อหาส่วนชีวประวัติ (เรียกเป็นภาษาละตินว่าส่วน Vita) ของ แบร์นาร์ดิโน รามัซซีนี รวมอยู่ด้วย [7] โดยผู้เขียนชีวประวัติให้กับเขาก็คือนายแพทย์ บาร์โตโลเมโอ รามัซซีนี หลานชายของเขา [2]

  • สำหรับรูปลักษณ์ของ แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี นั้น คนรุ่นหลังจะทราบได้จากภาพวาดของเขา ซึ่งปรากฏเป็นครั้งแรกอยู่ในหนังสือ Opera omnia medica & physiologica ฉบับพิมพ์ที่เจนีวา ปี ค.ศ. 1717 [7] โดยเป็นรูปของเขาในวัยชราและสวมวิก จากชีวประวัติที่เขียนโดยนายแพทย์ บาร์โตโลเมโอ รามัซซีนี หลานชายของเขานั้น บรรยายไว้ว่าเขามีตาและผมสีดำ และใบหน้ามีตุ่มนูน (Protuberance) อยู่ที่แก้มข้างขวา [2] ภาพวาดในหนังสือ Opera omnia medica & physiologica ฉบับพิมพ์ที่เจนีวา ปี ค.ศ. 1717 นี้ เป็นต้นแบบให้กับรูปภาพและรูปสลักของเขาที่ทำขึ้นในยุคหลังๆ ต่อมา

  • ในปี ค.ศ. 1982 กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลก นำโดย นายแพทย์ เออร์วิง เซลิคอฟฟ์ (Irving Selikoff) จากโรงพยาบาลเมาท์ไซนาย (Mount Sinai Hospital) แห่งเมืองนิวยอร์ค (New York) ได้ร่วมกันจัดตั้งองค์กรนานาชาติเพื่อการพัฒนางานด้านอาชีวอนามัยและอนามัยสิ่งแวดล้อมขึ้น โดยให้ชื่อว่าองค์กร “สมาคมรามัซซีนี (Collegium Ramazzini)” เพื่อเป็นเกียรติให้กับ แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี ในทุกปีองค์กรนี้จะจัดการประชุมที่เมืองการ์ปีบ้านเกิดของ แบร์นาร์ดีโน รามัซซีนี และเมืองการ์ปีจะมอบรางวัลที่ชื่อว่า “รางวัลรามัซซีนี (Ramazzini Award)” ให้กับนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการเสนอชื่อจากคณะกรรมการของ Collegium Ramazzini ซึ่งเป็นผู้ที่มีผลงานโดดเด่นทางด้านสาธารณสุข [4]

เอกสารอ้างอิง

  1. Franco G, Franco F. Bernardino Ramazzini: The father of occupational medicine. Am J Public Health 2001;91(9):1382.

  2. Ramazzini B. De morbis artificum diatriba (from the Latin text of 1713 – revised, with translation and notes by Wilmer Cave Wright). Chicago: University of Chicago Press; 1940.

  3. Carnevale F, Mendini M, Moriani G. Bernardino Ramazzini: Works (translated in English from Italian by Christina Cawthra). Verona: Cierre Edizioni; 2009.

  4. Whonamedit? - A dictionary of medical eponyms. Bernardino Ramazzini [Internet]. 2020 [cited 2020 Nov 19]. Available from: https://www.whonamedit.com/doctor.cfm/428.html.

  5. Carnevale F, Iavicoli S. Bernardino Ramazzini (1633-1714): a visionary physician, scientist and communicator. Occup Environ Med 2015;72(1):2-3.

  6. Gochfeld M. Chronologic history of occupational medicine. J Occup Environ Med 2005;47(2):96-114.

  7. Ramazzini B. Opera Omnia Medica & Physiologica. Geneva: Cramer & Perachon; 1717.