โรคปอดชานอ้อย (Bagassosis)

บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

เรียบเรียงโดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์

วันที่เผยแพร่ 11 กันยายน 2556


โรคปอดชานอ้อย (bagassosis) เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยนัก โรคนี้จัดอยู่ในกลุ่มโรคปอดอักเสบภูมิไวเกิน (hypersensitivity pneumonitis หรือ HP) ชนิดหนึ่ง คือเป็นกลุ่มโรคที่เกิดการอักเสบที่ปอดจากภาวะภูมิไวเกิน (hypersensitive) ต่อสารก่อภูมิแพ้ (allergen)

สาเหตุของโรคปอดชานอ้อยนั้น เกิดจากสารก่อภูมิแพ้จากเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Actinomycetes เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ จะพบเจริญอยู่ในซากอ้อยเก่าๆ ที่หีบเอาน้ำอ้อยออกไปแล้ว แบคทีเรียที่ก่อโรคจะเป็นกลุ่มที่เจริญเติบโตได้แม้ในอุณหภูมิสูง (Thermophilic actinomycetes) โดยสายพันธุ์ที่พบว่าทำให้เกิดโรคคือ Faenia rectivirgula และ Thermoactinomyces vulgaris เมื่อสูดหายใจเอาสารก่อภูมิแพ้จากแบคทีเรียเหล่านี้เข้าไปในปอด ปฏิกิริยาภูมิแพ้ในร่างกายจะทำให้เกิดการอักเสบในเนื้อปอดขึ้น

อาการ (symptoms) ของโรคนี้คือ ไอ หอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก และมีไข้ โดยอาการมักจะเริ่มเกิดในเวลาประมาณ 3 – 8 ชั่วโมงหลังการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ อาการแสดง (signs) ของโรคนี้คือ หายใจเร็ว วัดไข้พบมีไข้ขึ้น ฟังเสียงปอดอาจพบมีความผิดปกติไป การตรวจทางห้องปฏิบัติการ (investigations) โดยการตรวจภาพรังสีทรวงอก อาจพบมีการอักเสบที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของเนื้อปอด หรือพบเป็นจุดการอักเสบทั่วๆ ไปในปอดก็ได้ การตรวจดูน้ำล้างปอด (bronchoalveolar lavage หรือ BAL) จะพบเซลล์การอักเสบกลุ่มลิมโฟไซต์ (lymphocyte) เด่น การตรวจสมรรถภาพปอด ส่วนใหญ่จะเกิดความผิดปกติแบบจำกัดการขยายตัว (restrictive pattern) และผลตรวจการดูดซึมคาร์บอนมอนอกไซด์ของปอด (diffusion capacity of carbon monoxide) จะพบว่าลดลง

พยาธิสภาพ (pathology) โรคนี้จะทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อปอด หากตัดชิ้นเนื้อปอดของผู้ป่วยมาตรวจจะพบว่า ในภาวะเฉียบพลันจะมีเซลล์การอักเสบกลุ่มลิมโฟไซต์ (lymphocyte) อยู่มาก ร่วมกับมีเนื้อปอดบางส่วนบวมน้ำ ในภาวะเรื้อรัง (กรณีที่ป่วยด้วยโรคนี้บ่อยๆ) เนื้อปอดส่วนที่อักเสบจะกลายเป็นผังพืดไป การอักเสบที่พบมักเป็นที่ปอดส่วนล่างเด่นกว่าที่ปอดส่วนบน และมักจะพบรอยโรคเป็นทั้งสองข้าง

ระบาดวิทยา (epidemiology) โรคนี้จะพบได้ในคนงานที่ทำงานในโรงงานที่ใช้อ้อยในการผลิต ซึ่งได้แก่ โรงงานน้ำตาล โรงงานเยื่อกระดาษ เป็นต้น จากการพัฒนาทางด้านอาชีวอนามัยในปัจจุบัน ทำให้การกองซากอ้อยทิ้งไว้จนเก่า (ซึ่งเราจะเรียกซากอ้อยพวกนี้ว่า bagasse) ภายในโรงงานอาจจะมีน้อยลง การสัมผัสสารก่อภูมิแพ้จากซากอ้อยจึงน่าจะน้อยลงด้วย โดยทั่วไปจึงมีโอกาสพบโรคนี้ได้น้อยมาก และเนื่องจากจำนวนผู้ป่วยมีน้อย ทำให้การประมาณการอุบัติการณ์ (incidence) การเกิดโรคนี้ทำได้ไม่ชัดเจน รายงานจากประเทศญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1992 พบว่าทั้งประเทศมีผู้ป่วยเกิดขึ้นเพียงรายเดียว รายงานจากประเทศไต้หวันในปี ค.ศ. 1994 ก็พบมีผู้ป่วยเพียง 5 ราย โดยก่อนหน้านั้นย้อนไปหลายปีก็ไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยโรคนี้มาก่อน กล่าวโดยสรุปก็คือโรคนี้มีโอกาสพบได้น้อยมาก

สำหรับประเทศไทย เคยมีรายงานผู้ป่วยโรคปอดชานอ้อยอย่างเป็นทางการไว้ในปี ค.ศ. 1974 (พ.ศ. 2517) โดย นพ.พีร์ คำทอน และคณะ พบผู้ป่วยจำนวน 8 ราย เป็นคนงานในโรงงานทำเยื่อกระดาษแห่งหนึ่ง ในจังหวัดราชบุรี ผู้ป่วยที่พบในครั้งนั้น หลายรายมีอาการหนักจนเสียชีวิต ได้มีการผ่าศพพิสูจน์ยืนยันสาเหตุของโรคไว้เป็นจำนวน 6 ราย

การรักษา (treatment) การรักษาโรคนี้ที่สำคัญที่สุดคือหยุดจากการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ โดยอาจเปลี่ยนงานผู้ป่วย หรือจัดสภาพแวดล้อมการทำงานให้ดีขึ้น ไม่เอาซากอ้อยที่หีบเอาน้ำอ้อยออกแล้วมากองรวมกันไว้นานๆ จนเก่าและเป็นที่สะสมของเชื้อโรค การทำงานควรทำในที่อากาศถ่ายเทดี การให้หลีกเลี่ยงจากสารก่อภูมิแพ้นี้เป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ทำให้โอกาสที่คนงานจะป่วยเป็นโรคลดลง ในกรณีที่ป่วยแล้ว การรักษาประคับประคองอาการ ร่วมกับให้ยากินเสตียรอยด์ (steroid) เช่น เพรดนิโซโลน (prednisolone) เพื่อลดการอักเสบ จะทำให้หายจากโรคนี้ได้ โดยทั่วไปถ้าไม่ได้ป่วยเป็นโรคนี้ซ้ำๆ เรื้อรัง คือป้องกันไม่ให้ไปสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ได้ ก็มักจะไม่กลับเป็นโรคซ้ำอีก และโอกาสหายขาดก็มีสูง

เอกสารอ้างอิง

  1. Cormier Y, Lacasse Y. Hypersensitivity pneumonitis. In: Rom WN, Markovitz SB, editors. Environmental and occupational medicine. 4th ed. Philadelphia: LWW 2007.
  2. Ueda A, Aoyama K, Ueda T, Obama K, Ueno T, Hokama S, Nomura S. Recent trends in bagassosis in Japan. Br J Ind Med. 1992;49(7):499-506.
  3. Hur T, Cheng KC, Yang GY. Hypersensitivity pneumonitis: bagassosis. Gaoxiong Yi Xue Ke Xue Za Zhi. 1994;10(10):558-64.
  4. Kamtorn P, Charoenpan P, Sukumalchantra Y, Boonpucknavig V, Kitiyakara K, Suchato C, Nuchprayoon C. Bagassosis: a report of 8 cases. J Med Assoc Thai. 1974;57(9):468-73.
  5. Boonpucknavig V, Bhamarapravati N, Kamtorn P, Sukumalchandra Y. Bagassosis: a histopathologic study of pulmonary biopsies from six cases. Am J Clin Pathol. 1973;59(4):461-72.
  6. Lehrer SB, Turer E, Weill H, Salvaggio JE. Elimination of bagassosis in Louisiana paper manufacturing plant workers. Clin Allergy. 1978 Jan;8(1):15-20.