สตรีและการทำงาน (Women at Work)

บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

เรียบเรียงโดย พญ.ดาริกา วอทอง

วันที่เผยแพร่ 4 ธันวาคม 2555


ความสำคัญ

จากสถานการณ์ทั่วโลก พบแรงงานเพศหญิงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นในอนาคตจะมีปัญหาสุขภาพเพศหญิงกับประชากรวัยทำงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หญิงที่ตั้งครรภ์เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นผู้ให้กำเนิดแรงงานรุ่นใหม่ ภาวะตั้งครรภ์นั้นทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจไปจากภาวะปกติ ซึ่งมีผลต่อการทำงาน และงานบางอย่างอาจมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเด็กในครรภ์ ดังนั้นในช่วงระหว่างตั้งครรภ์นี้ จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญของทั้งแม่และเด็ก

จากสถิติผู้ประกันตนของสำนักงานประกันสังคมปี พ.ศ.2553 พบว่ามีผู้ประกันตนหญิงเป็นจำนวนถึง 4,971,461 คน คิดเป็น 51.2 % จากผู้ประกันตนทั้งหมด 9,702,833 คน ในประเทศไทย [1] กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองแรงงานหญิงในปัจจุบันมีอยู่หลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 [2] และกฎกระทรวงแรงงาน กำหนดอัตราน้ำหนักที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงาน พ.ศ. 2547 [3]

งานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือร่างกาย

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 มาตรา 38 กำหนดห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

1. งานเหมืองแร่หรืองานก่อสร้าง ที่ต้องทำใต้ดิน ใต้น้ำ ในถ้ำ ในอุโมงค์ หรือปล่องในภูเขา เว้นแต่สภาพของการทำงานไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือร่างกายของลูกจ้าง

2. งานที่ต้องทำบนนั่งร้านที่สูงกว่าพื้นดินตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป

3. งานผลิตหรือขนส่งวัตถุระเบิดหรือวัตถุไวไฟ เว้นแต่สภาพของการทำงานไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือร่างกายของลูกจ้าง

4. งานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

การทำงานในยามวิกาล

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 มาตรา 40 ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงทำงานระหว่าง เวลา 24.00 น. ถึงเวลา 6.00 น. และพนักงานตรวจแรงงานเห็นว่างานนั้นอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของหญิงนั้น ให้พนักงานตรวจแรงงานรายงานต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเพื่อพิจารณาและมีคำสั่งให้นายจ้างเปลี่ยนเวลาทำงาน หรือลดชั่วโมงทำงานได้ตามที่เห็นสมควร และให้นายจ้างปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว

อัตราน้ำหนัก

ตามกฎกระทรวงแรงงาน กำหนดอัตราน้ำหนักที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานได้ พ.ศ. 2547 ได้กำหนดให้ลูกจ้างที่เป็นหญิง จะทำงาน ยก แบก หาม หาบ ทูน ลาก น้ำหนักได้ไม่เกิน 25 กิโลกรัมต่ออัตราน้ำหนักโดยเฉลี่ยต่อลูกจ้างหนึ่งคน

การห้ามการล่วงเกินหรือคุกคามทางเพศ

นอกจากความปลอดภัยในสุขภาพร่างกายแล้ว ลูกจ้างควรจะได้รับความปลอดภัยต่อการถูกล่วงเกินหรือคุกคามทางเพศด้วย ดังนั้น ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 มาตรา 40 จึงได้มีการกำหนดห้ามมิให้นายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ตรวจงาน กระทำการล่วงเกิน คุกคาม หรือก่อความเดือดร้อนรำคาญทางเพศต่อลูกจ้าง

หญิงมีครรภ์

1. งานที่ห้ามทำ

ลูกจ้างที่เป็นหญิงที่ตั้งครรภ์นั้น จะได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษเพิ่มเติมจากกรณีของลูกจ้างหญิงทั่วไป โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 มาตรา 39 ได้กำหนดห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างหญิงซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ทำงานต่อไปนี้

1. งานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือเครื่องยนต์ที่มีความสั่นสะเทือน

2. งานขับเคลื่อนหรือติดไปกับยานพาหนะ

3. งานยก แบก หาม หาบ ทูน ลาก หรือเข็นของหนักเกิน 15 กิโลกรัม

4. งานที่ทำในเรือ

5. งานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

2. เวลาทำงาน

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 มาตรา 39/1 ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ทำงานในระหว่างเวลา 22.00 น. ถึงเวลา 6.00 น. ทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุด แต่ในกรณีที่ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ทำงานในตำแหน่งผู้บริหาร งานวิชาการ งานธุรการ หรืองานเกี่ยวกับการเงินหรือบัญชี นายจ้างอาจให้ลูกจ้างนั้นทำงานล่วงเวลาในวันทำงานได้ เท่าที่ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพของลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆ ไป

3. สิทธิ์ลาเพื่อคลอดบุตร

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 มาตรา 41 กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตรได้ ครรภ์หนึ่งไม่เกิน 90 วัน โดยวันลาให้นับรวมวันหยุดที่มีในระหว่างวันลาด้วย

4. สิทธิ์ขอเปลี่ยนงานชั่วคราว

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 มาตรา 42 กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ มีใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งมาแสดงว่าไม่อาจทำงานในหน้าที่เดิมต่อไปได้ ให้ลูกจ้างนั้นมีสิทธิขอให้นายจ้างเปลี่ยนงานในหน้าที่เดิมเป็นการชั่วคราวก่อนหรือหลังคลอดได้ และให้นายจ้างพิจารณาเปลี่ยนงานที่เหมาะสมให้แก่ลูกจ้างนั้น

5. การเลิกจ้างงาน

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 มาตรา 43 กำหนดห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงเพราะเหตุมีครรภ์

คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับหญิงตั้งครรภ์

1. ควรงดการทำงานกับเครื่อง X-Ray อย่างเด็ดขาด เพราะทารกในครรภ์มีโอกาสพิการ หรือเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวจากรังสี

2. หากลักษณะการทำงานต้องยืนหรือนั่งเป็นเวลานานๆ ก็ควรที่จะเปลี่ยนอิริยาบถบ้างอย่างน้อยทุกๆ 1 ชั่วโมง โดยเฉพาะเมื่อเริ่มตั้งครรภ์ในช่วง 6 เดือนเป็นต้นไป เช่น อาจจะใช้การเดินไปมาช้าๆ สลับกับการนั่งพัก

3. การจะขยับตัวหรือเปลี่ยนอิริยาบถต้องระมัดระวัง เพราะอาจเกิดการหดเกร็งของมดลูกได้หากเปลี่ยนอิริยาบถเร็วเกินไป

4. สำหรับการเดินทางไปทำงานไม่แนะนำให้นั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์

5. หลีกเลี่ยงความเครียด ทำจิตใจให้ผ่องใส

6. ห้ามกลั้นปัสสาวะ เพราะการกลั้นปัสสาวะจะทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบได้

7. ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับอายุครรภ์

8. พบแพทย์เพื่อตรวจครรภ์ตามนัด

เอกสารอ้างอิง

1. สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน. สถิติงานประกันสังคม 2553. นนทบุรี: สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน 2554.

2. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนพิเศษ 39 ก. พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551.

3. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 121 ตอนพิเศษ 35 ก. กฎกระทรวงแรงงาน กำหนดอัตราน้ำหนักที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานได้ พ.ศ. 2547.