หลักการเดินสำรวจโรงงาน

บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

เรียบเรียงโดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์

วันที่เผยแพร่ 20 เมษายน 2562

แหล่งที่มา หนังสือแรกเริ่มเรียนรู้อาชีวเวชศาสตร์ (พิมพ์ครั้งที่ 3)


การเดินสำรวจโรงงาน (walkthrough survey) เป็นคำที่ใช้กันทั่วไป ซึ่งปกติจะหมายถึงการที่เจ้าหน้าที่ของโรงงาน (factory staff) หรือบุคคลจากภายนอก (visitor) เข้าไปเยี่ยมสำรวจภายในพื้นที่การผลิตของโรงงาน โดยบุคคลจากภายนอกที่จะเข้าไปเดินสำรวจโรงงานนี้ มักจะเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ที่เข้ามาเดินสำรวจเพื่อช่วยเหลือโรงงานในการดำเนินงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น วิศวกรมาเดินสำรวจเพื่อจะวางระบบไฟฟ้าให้ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยมาเดินสำรวจเพื่อหาจุดเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder) มาเดินสำรวจเพื่อดูว่าโรงงานมีคุณภาพมากเพียงพอหรือไม่ นักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมมาเดินสำรวจเพื่อวางแผนตรวจวัดระดับสิ่งคุกคามในโรงงาน สำหรับแพทย์อาชีวเวชศาสตร์นั้นก็เดินสำรวจโรงงานเช่นกัน จุดมุ่งหมายหลักก็เพื่อเก็บข้อมูลไว้สำหรับดูแลสุขภาพของคนทำงานในโรงงานนั่นเอง

กล่าวอย่างจำเพาะเจาะจงขึ้น คำว่า การเดินสำรวจโรงงาน (walkthrough survey) นั้นหมายถึงการเดินอย่างละเอียดถี่ถ้วนพอสมควร หากไม่ได้เข้าไปภายในพื้นที่การผลิต เพียงแต่นั่งคุยกันในพื้นที่ต้อนรับของโรงงาน หรือเดินผ่านพื้นที่การผลิตอย่างรวดเร็ว โดยไม่ได้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับสุขภาพของคนทำงานและสิ่งคุกคามในกระบวนการผลิตเลย กิจกรรมเช่นนี้เราไม่เรียกว่าการเดินสำรวจโรงงาน แต่อาจจะเรียกว่าการเยี่ยมโรงงาน (plant visit) หรือได้รับการพานำชมโรงงาน (plant tour) แทน น่าจะเหมาะสมกว่า

การเดินสำรวจโรงงานนั้น เป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างหนึ่งที่แพทย์อาชีวเวชศาสตร์จะใช้ในการเก็บข้อมูลการสัมผัสสิ่งคุกคามของคนทำงานภายในโรงงานนั้น เนื่องจากแพทย์ได้เข้าไปอยู่ในสถานการณ์การทำงานจริง ซึ่งจะทำให้เข้าใจเหตุการณ์ได้มากกว่าทราบข้อมูลจากคำบอกเล่าของคนทำงานหรือนายจ้าง

ต่อไปนี้เป็นหลักการเดินสำรวจโรงงาน เพื่อให้สามารถเก็บข้อมูลมาใช้ในการดูแลสุขภาพคนทำงานได้อย่างถูกต้องครบถ้วนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การเดินสำรวจนั้น เกิดประโยชน์กับทั้งฝ่ายนายจ้างและตัวคนทำงาน รวมทั้งเกิดความปลอดภัยต่อตัวผู้เดินสำรวจโรงงานด้วย จะขอกล่าวในรายละเอียดไปเป็นข้อๆ ดังนี้

1. วัตถุประสงค์ของการเดินสำรวจโรงงาน

สิ่งสำคัญที่สุดอันดับแรกที่แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ต้องถามตนเองก่อนไปเดินสำรวจโรงงานทุกครั้งก็คือ การเดินสำรวจโรงงานครั้งนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร หากยังไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ ก็จะทำให้การเดินสำรวจโรงงานครั้งนั้นทำไปโดยไม่มีจุดหมาย โอกาสที่จะได้ข้อมูลตรงกับความต้องการก็จะน้อย โดยทั่วไปวัตถุประสงค์เฉพาะของการเดินสำรวจโรงงานในแต่ละกรณีจะไม่เหมือนกัน ที่พบบ่อยคือ

  • เดินสำรวจเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการสัมผัสสิ่งคุกคามในแผนกต่างๆ ของโรงงาน เช่น กรณีที่แพทย์พึ่งจะเข้ามารับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้โรงงานนี้ หรือกรณีที่โรงงานพึ่งจะสร้างเสร็จใหม่ๆ การเดินทำเพื่อสำรวจดูความเสี่ยงต่อการสัมผัสสิ่งคุกคามในทุกแผนก และเก็บข้อมูลไว้เพื่อดำเนินการต่อไป
  • เดินสำรวจเพื่อจะวางแผนการตรวจสุขภาพให้กับคนทำงาน การเดินด้วยวัตถุประสงค์นี้ เมื่อค้นหาสิ่งคุกคามและประเมินความเสี่ยงในแต่ละแผนกแล้ว แพทย์จะนำข้อมูลความเสี่ยงนั้น มาพิจารณาวางแผนการตรวจสุขภาพให้กับคนทำงานแต่ละแผนกอย่างตรงกับความเสี่ยงที่คนทำงานแต่ละแผนกได้รับ ซึ่งการเดินสำรวจเพื่อวัตถุประสงค์นี้ ข้อมูลที่ได้มาจะใช้วางแผนได้กับทั้งการตรวจสุขภาพประจำปี ก่อนเข้าทำงาน ก่อนกลับเข้าทำงาน หรือการตรวจเพื่อดูความพร้อมในการทำงาน ช่วยให้การตรวจสุขภาพทำได้อย่างตรงตามความเสี่ยงมากขึ้น
  • เดินสำรวจเพื่อประเมินคุณภาพ ในกรณีที่มีการจัดทำมาตรฐานคุณภาพของโรงงาน แพทย์อาชีวเวชศาสตร์อาจได้รับเชิญให้ไปเดินสำรวจเพื่อประเมินการจัดการความเสี่ยงว่าทำได้เหมาะสมแล้วหรือยัง ในกรณีจะจัดตั้งโรงงานใหม่หรือต่ออายุใบอนุญาต ก็อาจจะต้องมีการเดินสำรวจก่อนดำเนินการด้วยเช่นกัน
  • การเดินสำรวจเมื่อโรงงานเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่หรือเปลี่ยนกระบวนการผลิตใหม่ ซึ่งก็จะทำให้ความเสี่ยงต่อสุขภาพของคนทำงานเปลี่ยนไปด้วย (อาจดีขึ้นหรือแย่ลงก็ได้) การเดินสำรวจลักษณะนี้โดยมากจะดูเพียงแต่เฉพาะส่วนที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่จำเป็นต้องเดินดูทั้งโรงงานเหมือนกรณีอื่น
  • การเดินสำรวจเพื่อประเมินการกลับเข้าทำงานของคนทำงานที่เจ็บป่วย เมื่อคนทำงานเจ็บป่วยหนักถึงขั้นสูญเสียอวัยวะ และฟื้นฟูจนกลับเข้ามาทำงานได้ แพทย์อาจถูกเชิญให้ไปประเมินที่หน้างานด้วยว่าคนทำงานนั้นจะกลับไปทำงานได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ เป็นการสำรวจดูเฉพาะจุดเช่นกัน
  • เดินสำรวจเพื่อตรวจสอบหรือสอบสวนเหตุการณ์ เมื่อเกิดกรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน หรือเกิดการร้องเรียนในเรื่องการดูแลสุขภาพของลูกจ้างไปที่กระทรวงแรงงาน แพทย์อาจได้รับเชิญจากกระทรวงแรงงานให้ไปเดินสำรวจเพื่อประเมินดูจุดเสี่ยงที่เป็นปัญหานั้น การเดินสำรวจลักษณะนี้แพทย์จะไปเดินสำรวจร่วมกับพนักงานตรวจแรงงานเสมอ และทำหน้าที่สอบสวนหาสาเหตุของปัญหา

2. การเตรียมตัวก่อนเดินสำรวจ

การเตรียมตัวก่อนเดินสำรวจนั้น ควรเริ่มจากการทบทวนวัตถุประสงค์ของการเดินสำรวจว่าเราจะไปเดินสำรวจเพื่ออะไร ดูหมายเลขติดต่อ บุคคลที่เราจะไปติดต่อ หากเป็นโรงงานที่ไม่เคยไปมาก่อนอาจต้องเตรียมแผนที่สำหรับการเดินทางไป หรือติดต่อให้ทางโรงงานนำรถมารับ การไปเดินสำรวจโรงงานนั้นต้องใช้กำลังกายและสมาธิสูง อีกทั้งในโรงงานยังอาจมีสิ่งคุกคามอันตรายอยู่มาก คืนวันก่อนไปสำรวจจึงควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ งดเครื่องดื่มของมึนเมาทุกชนิด การจัดเตรียมอุปกรณ์และทีมงาน หากเป็นการเดินสำรวจร่วมกับบุคลากรสาขาอาชีพอื่น เช่น นักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม พยาบาลอาชีวอนามัย ควรนัดหมายผู้ร่วมทีมให้ทราบวันเวลาและสถานที่นัดหมาย อุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น ปากกา กระดาษจด แบบฟอร์มการเดินสำรวจ ควรเตรียมไปให้พร้อม กรณีที่จะทำการตรวจวัดระดับสิ่งคุกคามด้วย จะต้องจัดเตรียมเครื่องตรวจวัดทางสุขศาสตร์อุตสาหกรรมไว้ล่วงหน้า ทำการสอบเทียบ (calibrate) ตรวจสอบแบตเตอรี่ให้เรียบร้อย หากมีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล เช่น รองเท้านิรภัย หน้ากากป้องกันฝุ่น ควรเตรียมไปด้วย

กรณีที่ต้องการข้อมูลบางอย่างที่คิดว่าโรงงานจะต้องจัดเตรียมไว้ก่อน เช่น รายการสารเคมีที่ใช้ รายละเอียดกระบวนการผลิต หรือรายละเอียดข้อมูล safety data sheet (SDS) ควรแจ้งให้ทางโรงงานทราบล่วงหน้า เพื่อที่ทางโรงงานจะได้เตรียมไว้ให้ได้ทัน หากสามารถศึกษารายละเอียดข้อมูลของโรงงานว่าผลิตอะไร มีกระบวนการผลิตคร่าวๆ อย่างไร มีลักษณะองค์กรอย่างไร ไว้ล่วงหน้าได้ก็ยิ่งดี

3. แนวทางปฏิบัติตัวในการเดินสำรวจโรงงาน

แนวทางการปฏิบัติตัวเมื่อเดินสำรวจ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อตัวผู้เดินสำรวจ และเป็นการรักษามารยาทและความสัมพันธ์อันดีกับทางโรงงาน ควรปฏิบัติตัวดังนี้

  • ระลึกถึงอยู่เสมอว่าเราเป็น “แขก” ที่ได้รับเชิญให้เข้าไปเดินสำรวจ ไม่ใช่เจ้าบ้าน ควรรักษากิริยามารยาทให้เรียบร้อยและใช้คำพูดที่สุภาพเสมอ นอกจากการเดินสำรวจร่วมกับเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานในกรณีสอบสวนข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างแล้ว ส่วนใหญ่แล้วการเดินสำรวจโรงงานนั้น เป็นเรื่องที่ทางโรงงาน “เต็มใจ” จะให้แพทย์เข้าไปเดินสำรวจเกือบทั้งสิ้น จุดนี้ทำให้แพทย์ควรรักษามารยาทและให้เกียรติกับทางโรงงานเป็นอย่างดี
  • การแต่งกายควรรัดกุม ใส่เสื้อผ้าที่หนาและเรียบร้อย ผู้หญิงควรใส่กางเกงมากกว่ากระโปรง รองเท้าควรใส่รองเท้าหุ้มส้น ไม่ควรใส่รองเท้าแตะหรือรองเท้าส้นสูง หากมีกฎให้ใส่รองเท้านิรภัยก็ควรใส่รองเท้านิรภัยเข้าไปเสมอ ผู้หญิงที่ผมยาวควรผูกรัดให้เรียบร้อย หากมีกฎให้ใส่หมวกนิรภัยก็ควรปฏิบัติตาม สาเหตุที่ต้องแต่งตัวให้เรียบร้อยและรัดกุมนั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้เดินสำรวจ เนื่องจากพื้นในโรงงานอาจขรุขระ ไม่เรียบ ทางเดินอาจมีเครื่องจักร มีสิ่งกีดขวางอยู่ หากใส่รองเท้าส้นสูง เดินแล้วส้นรองเท้าอาจติดกับพื้นโรงงาน ทำให้หกล้มเกิดอุบัติเหตุ ผมที่ยาวรุงรังอาจเข้าไปติดพันกับเครื่องจักร ทำให้ถูกเครื่องจักรดึง เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ เป็นต้น
  • ให้ความร่วมมือกับทางโรงงาน ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของทางโรงงานอย่างเคร่งครัดเสมอ ใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่ทางโรงงานจัดเตรียมมาให้ใส่ เพื่อความปลอดภัยของผู้เดินสำรวจ
  • ไม่พูดคุยหยอกล้อกันระหว่างที่เดินสำรวจโรงงาน นอกจากจะเสียมารยาทแล้วอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายอีกด้วย การเดินควรเดินด้วยความสำรวม ถ้าไปหลายคนให้เดินเป็นแถว รวมกลุ่มกันไว้ อย่าเดินแยกออกไปไกลๆ คนเดียว อาจหลงทาง หรือหลงไปตรงจุดที่เป็นอันตรายได้
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิดก่อนไปเดินสำรวจโรงงาน เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการเมาค้าง เมื่อไปเดินสำรวจโรงงานที่มีจุดอันตรายอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ไม่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะในบริเวณที่มีป้ายห้าม เพราะอาจมีสารเคมีไวไฟอยู่ ในโรงงานด้านปิโตรเคมี เช่น คลังน้ำมัน หอกลั่นน้ำมัน แท่นขุดเจาะแก๊ส ที่ต้องระมัดระวังในเรื่องการเกิดประกายไฟเป็นอย่างสูง มักมีกฎให้ฝากอุปกรณ์ที่สามารถก่อประกายไฟได้ทุกชนิดไว้ เช่น บุหรี่ ไฟแช็ค โทรศัพท์มือถือ กล้องถ่ายรูป ก็ควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
  • หากต้องการถ่ายรูปกระบวนการผลิต ต้องขออนุญาตทางเจ้าหน้าที่โรงงานก่อนเสมอ หากไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายก็ห้ามถ่ายเด็ดขาด หากได้รับอนุญาตให้ถ่ายรูป หลังจากเดินสำรวจเสร็จ ก็ควรให้เจ้าหน้าที่ของโรงงานตรวจสอบด้วยว่าได้ถ่ายรูปอะไรออกไปบ้าง เพื่อให้ทางโรงงานเกิดความสบายใจ สาเหตุที่โรงงานบางแห่งห้ามการถ่ายรูปภายในพื้นที่การผลิตนั้น เพราะอาจมีส่วนที่เป็นความรู้ หรือเทคโนโลยี หรือสูตรเฉพาะของโรงงาน ที่เป็นความลับ (know-how) ที่ต้องปกปิดไว้ด้วยเหตุผลทางธุรกิจ หากถูกนำไปเผยแพร่โดยทั่วไปก็จะทำให้ทางโรงงานเกิดความเสียหายได้
  • ปฏิบัติตามป้ายห้ามหรือป้ายคำสั่งต่างๆ ที่ติดไว้ บริเวณที่มีป้ายห้ามเข้าก็ต้องไม่เดินเข้าไป หากจำเป็นต้องเข้าไปเพื่อประโยชน์ในการเก็บข้อมูล ก็ต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่ของโรงงานที่พาเดินสำรวจก่อนเสมอ ไม่แตะต้องเครื่องจักร หรือสูดดมสารเคมีใดๆ ก่อนที่จะได้รับทราบว่าสิ่งนั้นคืออะไร และได้รับอนุญาตแล้ว เพราะอาจเป็นของอันตราย ทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยต่อตัวผู้เดินสำรวจได้
  • มีสติและสมาธิในการเดินสำรวจ ทางเดินในโรงงานบางแห่งอาจแคบ ขรุขระ เปียกลื่น มีเศษเหล็ก เศษตะปู หรือของตั้งวางอยู่อย่างไม่เป็นระเบียบ แขนกลของเครื่องจักรบางตัวอาจกวัดแกว่งไปมา มีจุดที่มีความร้อนสูง มีรถขนของวิ่งไปมา ปั้นจั่นยกของไปมา อันตรายจากของตกใส่ศีรษะ และอันตรายอื่นๆ อีกมาก ทั้งหมดนี้อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อตัวผู้เดินสำรวจได้ จึงต้องเดินอย่างมีสติระมัดระวังโดยตลอด
  • ไม่หยิบฉวยของอะไรก็ตามในโรงงานติดไม้ติดมือกลับมาบ้านโดยเด็ดขาด สาเหตุที่ไม่ควรหยิบฉวยของในโรงงานมานั้น เนื่องจากหากทางโรงงานทราบว่าเราหยิบฉวยของมาโดยไม่ได้รับอนุญาต จะทำให้เสียความน่าเชื่อถือไปทันที และหากของที่หยิบมานั้นเป็นของอันตราย เช่น ก้อนสารเคมีที่เป็นพิษ สารกัมมันตรังสี เราอาจได้รับอันตรายจากการเก็บของนั้นไว้
  • หากจำเป็นต้องเก็บตัวอย่างชิ้นส่วนใดๆ ก็ตามในโรงงานไปวิเคราะห์เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคของคนทำงานแล้ว ต้องขออนุญาตทางโรงงานก่อนเสมอ
  • ในการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของโรงงาน ควรพูดคุยในทางสร้างสรรค์ ไม่ข่มขู่ ไม่พยายามซักถามแบบเค้นหาความจริง ปัญหาบางอย่างที่เจ้าหน้าที่ของโรงงานตอบไม่ได้เพราะเขาไม่ทราบก็ไม่ควรไปบีบบังคับให้ตอบ และไม่ควรพูดในเชิงสั่งสอนหรือยกตนข่มท่านด้วย ควรพูดกับเจ้าหน้าที่ของโรงงานด้วยความสุภาพ เป็นวิชาการ และรักษาสัมพันธภาพอันดีไว้
  • หากต้องการซักถามพนักงานที่กำลังทำงานอยู่ โดยเฉพาะคนที่ทำงานในสายการผลิตซึ่งต้องทำงานอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ควรขออนุญาตเจ้าหน้าที่ของโรงงานที่พาเราเดินสำรวจเสียก่อน ถ้าเป็นไปได้ก็อาจถามจากเจ้าหน้าที่ที่พาเดินสำรวจแทน หรือถ้าจำเป็นต้องซักถามคนทำงานนั้นจริงๆ ก็ควรรอให้ถึงช่วงพักแล้วค่อยเข้าไปถาม เนื่องจากหากเข้าไปพูดคุยตอนเขากำลังทำงาน อาจทำให้สายการผลิตต้องหยุดชะงักลง และเกิดความสูญเสียกับทางโรงงานได้

4. ขั้นตอนการเดินสำรวจโรงงาน

ขั้นตอนในการเดินสำรวจโรงงานนั้น โดยทั่วไปจะเป็นดังนี้

  • เริ่มจากการติดต่อกับโรงงานทางโทรศัพท์ โทรสาร หรืออีเมล์ เพื่อนัดหมายวันเวลาและวัตถุประสงค์ของการเดินสำรวจ โดยการติดต่อนั้นอาจจะเป็นทางโรงงานเชิญแพทย์ไปสำรวจเอง หรือทางแพทย์พบผู้ป่วยที่สงสัยโรคจากการทำงานแล้วร้องขอทางโรงงานเข้าไปสำรวจก็ได้ ในกรณีหลังแพทย์จะเข้าไปสำรวจได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากทางโรงงานแล้วเท่านั้น
  • เมื่อนัดหมายกันเสร็จเรียบร้อย ก็เป็นการเตรียมตัว เตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ในการเดินสำรวจ และเตรียมทีมงาน ดังได้กล่าวแล้วในข้อที่ 2.
  • การเดินสำรวจโดยทั่วไปจะใช้เวลาหนึ่งวัน ถ้าโรงงานเล็กอาจจะใช้เวลาน้อยกว่านั้นคือประมาณครึ่งวัน แต่ถ้าโรงงานขนาดใหญ่มากจะใช้เวลาหลายวัน ควรนัดหมายกะประมาณเวลาที่ใช้ในการเดินสำรวจให้เพียงพอ การเดินสำรวจที่ดีจริงๆ ต้องเก็บข้อมูลจำนวนมาก หากให้เวลาน้อยเกินไปจะทำให้ไม่สามารถเก็บข้อมูลมาประเมินได้อย่างถูกต้อง
  • เมื่อถึงวันนัด ไปถึงโรงงานแล้ว ควรไปติดต่อที่แผนกประชาสัมพันธ์ แจ้งเข้าพบบุคคลที่นัดหมายไว้ บางครั้งทางโรงงานอาจจะเชิญให้ไปพบกับผู้บริหาร มีเจ้าหน้าที่มาทำการชี้แจงข้อมูลของโรงงานสั้นๆ ให้ฟังในการประชุมเปิด (open meeting) ถ้ามีการขอข้อมูลไว้ล่วงหน้า เช่น รายการสารเคมีที่ใช้ ผลการตรวจวัดทางสิ่งแวดล้อม ผลการตรวจสุขภาพเมื่อปีก่อนๆ ควรร้องขอให้ทางโรงงานนำข้อมูลนั้นมาเตรียมไว้ตั้งแต่ช่วงแรกที่พบกันนี้ ทางฝั่งแพทย์ควรแนะนำตัว แนะนำทีมงาน และบอกวัตถุประสงค์ในการเดินสำรวจให้ทางผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของโรงงานทราบ
  • เมื่อทำความรู้จัก และเก็บข้อมูลในเบื้องต้นเสร็จแล้ว จึงเริ่มดำเนินการเดินสำรวจโรงงาน การเดินควรเดินร่วมไปกับทางเจ้าหน้าที่ของโรงงานที่พาเดินสำรวจ ปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด แนวทางการปฏิบัติตัวระหว่างการเดินสำรวจ รายละเอียดดังในข้อที่ 3. รายละเอียดสิ่งที่ควรสังเกต ควรเก็บข้อมูล และควรทำการประเมิน รายละเอียดดังในข้อที่ 5. และ 6.
  • หลังจากเดินสำรวจเสร็จ ควรที่จะมีการประชุมสรุป (close meeting) อีกครั้ง เพื่อเปิดโอกาสให้ทางโรงงานได้ซักถามสิ่งที่สงสัย เก็บข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนที่ยังไม่ได้ข้อมูล และนัดหมายการดำเนินการอย่างอื่นต่อไป (ถ้ามี) รายละเอียดดังในข้อที่ 7.
  • ควรทำการเขียนรายงาน เพื่อให้โรงงานได้เก็บไว้เป็นหลักฐานการเดินสำรวจในทุกๆ ครั้ง การเขียนเป็นรายงานสรุปจะทำให้โรงงานสามารถนำข้อเสนอแนะไปปรับปรุงการดูแลสุขภาพของคนทำงานให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดดังในข้อที่ 8.

5. ข้อมูลที่ควรเก็บและซักถาม

ข้อมูลที่ควรเก็บ ซักถาม และบันทึกไว้มีดังนี้

  • ข้อมูลติดต่อ เป็นส่วนที่สำคัญที่สุด เพราะจะทำให้เราสามารถติดต่อกับทางโรงงานอีกครั้งได้ ตั้งแต่ ชื่อโรงงาน ที่ตั้ง ชื่อของบุคคลที่เราติดต่อ ตำแหน่งหน้าที่ หมายเลขโทรศัพท์ โทรสาร และอีเมล์
  • ข้อมูลรายละเอียดกระบวนการผลิต ในโรงงานบางแห่งอาจมีการทำเป็นเอกสารสรุป หรือทำเป็นแผนผัง (flow chart) เอาไว้ให้เรียบร้อยแล้ว แต่หากไม่มี ข้อมูลส่วนนี้ก็จะได้จากการสอบถามและจดบันทึกขณะเดินสำรวจนั่นเอง ข้อมูลนี้จะทำให้เราทราบว่าในแต่ละแผนกจะต้องทำหน้าที่อะไรบ้าง สัมผัสสิ่งคุกคามอะไรบ้าง หากมีแผนผังประกอบก็จะทำให้ทราบว่าแผนกไหนอยู่ใกล้กับแผนกไหน มีโอกาสได้รับสัมผัสสิ่งคุกคามจากแผนกข้างเคียงหรือไม่ ในการเดินสำรวจนั้น เพื่อไม่ให้สับสนกับเส้นทางกระบวนการผลิต ควรร้องขอให้เจ้าหน้าที่พาเดินสำรวจตั้งแต่จุดเริ่มต้นของสายการผลิตไปจนถึงจุดสิ้นสุด จะเข้าใจได้ง่าย หลังจากดูรายละเอียดกระบวนการผลิตแล้ว จะต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า โรงงานนี้มีวัตถุดิบ (raw material) คืออะไรบ้าง มีกระบวนการผลิต (work process) อะไรบ้าง เกิดมีสารตัวกลาง (intermediate product) ขึ้นบ้างหรือไม่ ถ้ามีเป็นสารอะไรบ้าง เกิดมีสารผลพลอยได้ (by-product) ขึ้นบ้างหรือไม่ ถ้ามีเป็นสารอะไรบ้าง และเมื่อสิ้นสุดกระบวนการผลิตแล้วได้ผลิตภัณฑ์ (final product หรือ finished product) อะไรออกมาบ้าง
  • ข้อมูลรายละเอียดสารเคมีที่ใช้ เมื่อเดินสำรวจแล้วควรทราบว่าสารเคมีใดใช้มาก หรือเป็นสารเคมีหลักของโรงงานแห่งนี้ สารเคมีใดใช้น้อย หรือเป็นเพียงส่วนประกอบ สารเคมีใดที่คนทำงานต้องสัมผัสโดยตรง สารเคมีใดที่คนทำงานไม่ต้องสัมผัสโดยตรง
  • หากโรงงานมีการรวบรวมเอกสาร SDS ไว้ด้วยก็ควรนำมาพิจารณา เพราะจะทำให้ผู้เดินสำรวจและเจ้าหน้าที่ของโรงงานสามารถดูข้อมูลความเป็นพิษเบื้องต้นได้จากเอกสารนี้ และอาจสามารถดูชื่อสามัญ (generic name) เทียบกับชื่อทางการค้า (trade name) ของสารเคมีที่สนใจได้ด้วย บ่อยครั้งที่ระหว่างการเดินสำรวจจะทราบแต่ชื่อทางการค้าที่ไม่สามารถเข้าใจความหมายได้ติดอยู่ที่ฉลากผลิตภัณฑ์ เช่น U18, K-206, Fastener ทำนองนี้ หากมาดูใน SDS อาจจะทำให้ทราบได้ว่านั่นคือสารอะไร
  • ข้อมูลผลการตรวจวัดทางสิ่งแวดล้อมโดยนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม ข้อมูลการตรวจสุขภาพคนทำงานในปีก่อนๆ ข้อมูลการฝึกอบรมทางด้านอาชีวอนามัย ข้อมูลการดำเนินงานจัดกิจกรรมทางด้านอาชีวอนามัย การจัดทำมาตรฐานคุณภาพ การจัดสวัสดิการให้แก่คนทำงาน ประวัติการเจ็บป่วย ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ประเมินได้ว่า โรงงานมีการดำเนินงานทางด้านอาชีวอนามัยมากน้อยเพียงใดบ้าง
  • ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับคนทำงาน เช่น มีคนทำงานทั้งหมดกี่คน เป็นชายและหญิงในสัดส่วนเท่าใด มีอายุเฉลี่ยเท่าใด มีอายุงานเฉลี่ยเท่าใด มีอัตราการเข้า-ออกจากงาน (turnover rate) มากน้อยเพียงใด
  • ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัย เช่น มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยหรือไม่ มีกี่คน มีระดับใดบ้าง (ระดับหัวหน้างาน ระดับบริหาร ระดับเทคนิค ระดับวิชาชีพ) มีนโยบายทางด้านความปลอดภัยหรือไม่ เคยเกิดอุบัติเหตุในโรงงานบ้างหรือไม่ ครั้งที่ร้ายแรงมีกี่ครั้ง เกิดจากอะไร และมีการแก้ไขอย่างไรบ้าง
  • ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะโรงงาน นโยบาย วัฒนธรรมองค์กร โรงงานก่อตั้งมากี่ปี มีโรงงานในเครือกี่แห่ง หากเป็นบริษัทข้ามชาติมีบริษัทแม่อยู่ที่ประเทศอะไร มีวัฒนธรรมองค์กรเป็นอย่างไรบ้าง ที่ต้องทราบเพื่อที่จะได้ประเมินได้ว่า จะสามารถดำเนินการทางด้านอาชีวอนามัยกับโรงงานนี้ได้มากน้อยเพียงใด ข้อมูลในประเด็นเหล่านี้บางเรื่องอาจถามตรงๆ ไม่ได้ แต่ต้องอาศัยการสังเกตเอาเป็นหลัก
  • ข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องจักร หน้าที่ของเครื่องจักร การบำรุงรักษา การซ่อมแซม และการทำความสะอาด รายละเอียดกระบวนการบำรุงรักษา การทำความสะอาด รวมถึงกระบวนการพิเศษที่ทำไม่บ่อย (non-routine process) ต่างๆ นี้ อาจทำให้คนทำงานต้องสัมผัสกับสิ่งคุกคามในปริมาณที่มากเป็นพิเศษ เช่น ปกติทำงานสูดดมไอสารเคมีเพียงเล็กน้อย แต่ทุก 2 ปีจะต้องเข้าไปในถังสารเคมีเพื่อล้างทำความสะอาด ซึ่งทำให้ต้องสัมผัสกับสารเคมีเต็มที่ เหล่านี้จัดว่ามีประโยชน์ในการประเมินความเสี่ยงของคนทำงานด้วย

6. สิ่งที่ควรสังเกตและประเมิน

ข้อนี้เป็นสิ่งที่ระหว่างการเดินสำรวจควรทำการสังเกตไว้ เพื่อจะได้นำมาประเมินการสัมผัสสิ่งคุกคามที่จะเกิดขึ้นกับคนทำงาน การประเมินจะทำได้ดีเพียงใดขึ้นอยู่กับประสบการณ์ และความรู้ของผู้เดินสำรวจเป็นหลัก หากหมั่นฝึกฝนบ่อยๆ จะทำให้มีความเชี่ยวชาญในการประเมินสภาพแวดล้อมเหล่านี้มากขึ้น สิ่งที่ควรสังเกตและทำการประเมิน มีดังนี้

  • สภาพสิ่งแวดล้อมทั่วไปของโรงงาน (general environment) การรักษาความสะอาด การบำรุงรักษาสถานที่ (housekeeping) การจัดวางผังโรงงาน (layout) การจัดสภาพแวดล้อม เป็นอย่างไร ขนาดพื้นที่ใหญ่โตหรือคับแคบ การระบายอากาศเป็นอย่างไร รู้สึกอึดอัดเมื่ออยู่ในอาคารการผลิตหรือไม่
  • การดูแลด้านความปลอดภัย (safety environment) มีการวางของไว้ระเกะระกะหรือไม่ พื้นโรงงานเรียบดีหรือไม่ ลื่นหรือไม่ มีเศษโลหะ เศษตะปู ตกอยู่หรือไม่ มีการตีเส้นและทาสีที่พื้นเพื่อเพิ่มความปลอดภัยหรือไม่ มีทางหนีไฟหรือไม่ มีป้ายบอกทางหนีไฟหรือไม่ มีถังดับเพลิงหรือไม่ มีป้ายเตือนเขตห้ามเข้าหรือไม่ ที่สูงมีราวกั้นกันตกหรือไม่ ที่เก็บสารเคมีมีป้ายเตือนหรือไม่ เขตอันตรายไฟฟ้าแรงสูงมีป้ายเตือนหรือไม่ ที่อับอากาศมีป้ายเตือนหรือไม่ มีโอกาสเกิดไฟฟ้าดูดที่จุดใดหรือไม่ เหล่านี้เป็นต้น
  • การสัมผัสสิ่งคุกคาม (hazard) ของคนทำงานแต่ละแผนก ในการเดินสำรวจแพทย์อาชีวเวชศาสตร์สามารถใช้ประสาทสัมผัสของตนเอง คือการฟังเสียง การมองเห็น การรู้สึกสัมผัส เพื่อประเมินการสัมผัสสิ่งคุกคามของคนทำงานในแต่ละแผนกได้ การประเมินควรประเมินว่าสิ่งคุกคามที่สัมผัสนั้นคืออะไร เป็นสิ่งคุกคามทางกายภาพ (แสงมืดไป แสงสว่างจ้าไป เสียงดังเกินไป ความร้อน ความหนาวเย็น ความกดอากาศ แรงสั่นสะเทือน กัมมันตภาพรังสี) ชีวภาพ (เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา เชื้อปรสิต พยาธิ สัตว์มีพิษ) เคมี (สารเคมีทั้งในรูป แก๊ส ไอระเหย ละออง ฝุ่น ฟูม) ชีวกลศาสตร์ (ท่าทางการทำงานที่ไม่สะดวกสบาย ความแออัด การทำท่าทางซ้ำๆ การยกของหนัก) หรือทางด้านจิตสังคม (วัฒนธรรมองค์กรที่กดดัน ปัญหาศีลธรรมในองค์กร การอยู่กะ การทำงานมากชั่วโมงเกินไป) นอกจากดูว่าสัมผัสสิ่งคุกคามชนิดใดแล้ว ต้องพิจารณาด้วยว่าการได้รับสัมผัสสิ่งคุกคามนั้นมีปริมาณมากน้อยเพียงใด ถ้าเป็นทางด้านเคมี คนทำงานได้รับเข้าสู่ร่างกายทางไหน ทางการหายใจ ทางการดูดซึมเข้าสู่ผิวหนัง หรือทางการกิน ควรจำแนกออกเป็นรายแผนกหรือรายบุคคลถ้าสามารถทำได้ ตามรายการของสิ่งคุกคามที่สัมผัสแต่ละอย่าง
  • การดูแลด้านสวัสดิการ (welfare) และสุขอนามัยทั่วไป (general hygiene) มีน้ำให้ดื่มหรือไม่ เพียงพอหรือไม่ มีโรงอาหารหรือจัดพื้นที่ให้กินอาหารหรือไม่ ให้เวลาหยุดพักที่เพียงพอหรือไม่ มีอ่างล้างมือจัดเตรียมไว้ให้หรือไม่ มีห้องน้ำจัดไว้เพียงพอหรือไม่ ห้องน้ำมีสภาพอย่างไร กรณีโรงงานที่ทำงานกับสารเคมีอันตราย มีห้องอาบน้ำและห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าจัดไว้ให้คนทำงานอาบน้ำก่อนกลับบ้านหรือไม่ มีชุดยูนิฟอร์มแจกให้หรือไม่ มีรถรับส่งหรือค่าน้ำมันให้หรือไม่ มีตู้ยาและห้องพยาบาลจัดไว้ให้หรือไม่
  • การจัดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (personal protective equipment; PPE) มีการจัดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลให้แก่คนทำงานหรือไม่ ถ้ามีแจก มีเพียงพอหรือไม่ คุณภาพดีพอหรือไม่ ถูกชนิดกับสิ่งคุกคามที่คนทำงานสัมผัสหรือไม่
  • การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม (environmental management) มีความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด มีการควบคุมสารพิษที่ปล่อยออกสู่อากาศ (air emission) หรือไม่ มีระบบบำบัดน้ำเสีย (waste water management) หรือไม่ มีการกำจัดขยะ (waste management) อย่างถูกวิธีหรือไม่ เหล่านี้เป็นต้น
  • การประเมินนี้ หากเป็นการเดินสำรวจแบบทั้งโรงงานก็ควรเดินให้ครบทุกแผนกในสายการผลิต ซึ่งเป็นส่วนหลักที่จะต้องทำการเดินสำรวจ และอาจพิจารณาเดินสำรวจสิ่งคุกคามในฝ่ายสำนักงาน (ฝ่ายบริหาร ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ ฝ่ายบัญชี ฝ่ายการเงิน ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายขาย ฝ่ายประชาสัมพันธ์) และฝ่ายสนับสนุน (คลังวัตถุดิบ คลังสินค้า ฝ่ายจัดส่ง ฝ่ายวิจัยและพัฒนา ห้องปฏิบัติการต่างๆ ฝ่ายอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ฝ่ายช่าง แม่บ้าน คนสวน ฝ่ายรักษาความปลอดภัย) ไปด้วย โดยพิจารณาการเดินสำรวจมากน้อยตามความเหมาะสมและความต้องการของทางโรงงาน

7. การประชุมสรุปหลังการเดินสำรวจ

หลังจากที่เดินสำรวจโรงงานเป็นที่เรียบร้อย ควรมีการประชุมสรุปก่อนจะกลับด้วย การประชุมนี้มีความสำคัญเพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ทางโรงงานได้ซักถามสิ่งที่สงสัย ในกรณีที่มีจุดเสี่ยงอันตรายร้ายแรงซึ่งต้องทำการแก้ไขโดยด่วน แพทย์ก็จะได้แจ้งให้ทางโรงงานทราบเพื่อให้รีบดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว ส่วนการให้คำแนะนำในภาพรวมนั้น ควรพูดไปในเชิงสร้างสรรค์มากกว่าตำหนิ บอกข้อที่ควรแก้ไขให้ทางโรงงานได้รับทราบ โดยให้ความเห็นในเชิงวิชาการเป็นหลัก ซึ่งการพูดในลักษณะนี้จะทำให้เกิดความร่วมมือและการเรียนรู้ร่วมกัน อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้มากกว่าการตำหนิทางโรงงานว่าไม่มีความรับผิดชอบ บ่อยครั้งภายในโรงงานที่มีจุดเสี่ยงอันตรายต่อคนทำงาน อาจไม่ได้เกิดจากความไม่ใส่ใจของผู้บริหารเพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดจากความไม่รู้หรือข้อจำกัดทางด้านเทคโนโลยีในการแก้ไขปรับปรุงก็เป็นไปได้ แพทย์พึงเปิดใจกว้างในการชี้แจงเสนอข้อแก้ไขปัญหาให้กับทางโรงงานด้วย

ในการประชุมสรุปนี้ บ่อยครั้งที่ผู้บริหารให้ความสำคัญและเข้ามาร่วมฟังด้วย จึงเป็นโอกาสให้ผู้เดินสำรวจที่มีประสบการณ์สามารถชี้แจงปัญหาและเสนอหนทางแก้ไขให้กับทางผู้บริหารได้โดยตรง แต่หากผู้เดินสำรวจยังมีประสบการณ์ไม่มากนัก ก็ควรนำเสนอเฉพาะสิ่งที่พบในเบื้องต้นไปก่อน จากนั้นค่อยรวบรวมข้อมูล ประเมินปัญหา และเขียนเสนอแนะแนวทางแก้ไขส่งมาให้ในรายงานในภายหลัง ในวันที่ทำการเดินสำรวจโรงงานนั้น หากมีผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่ของโรงงานซักถามข้อสงสัยในประเด็นใดที่ยังไม่ทราบ ผู้สำรวจไม่ควรตอบไปโดยที่ตนเองก็ยังไม่แน่ใจหรือไม่มีความรู้ แต่ควรบอกไปตามตรงว่าไม่ทราบ แล้วไปค้นหาคำตอบ เขียนตอบมาในรายงานการเดินสำรวจจะดีกว่า เนื่องจากหากบอกข้อมูลผิดๆ ไป แล้วทางโรงงานไปปฏิบัติตาม อาจเกิดเป็นความเสียหายหรืออันตรายร้ายแรงต่อคนทำงานได้

หากต้องมีการนัดหมายครั้งต่อไป เพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อ เช่น มาเดินสำรวจเพื่อประเมินซ้ำ มาจัดอบรมความรู้ มาตรวจสุขภาพ มาจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ควรทำการนัดหมายให้เสร็จเรียบร้อย บันทึกวันนัดหมาย รายละเอียดกิจกรรมที่จะทำ ชื่อบุคคลที่จะติดต่อ และหมายเลขติดต่อไว้

8. รายงานการเดินสำรวจ

หลังจากเดินสำรวจเสร็จสิ้น ควรมีการเขียนรายงานการเดินสำรวจส่งกลับไปให้ทางโรงงานด้วย ในรายงานการเดินสำรวจนี้จะประกอบไปด้วยข้อมูลทั่วไป สิ่งที่ผู้สำรวจสังเกตพบหรือตรวจวัดได้ สิ่งที่ผู้สำรวจประเมินแล้วพบว่าเป็นปัญหา พร้อมทั้งข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหานั้นๆ รายงานการเดินสำรวจนี้ควรแจ้งล่วงหน้าให้ทางโรงงานทราบว่าจะส่งให้เมื่อใด ส่งให้กับใคร ส่งช่องทางไหนด้วยจะเป็นการดี และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับทีมสำรวจ ทางโรงงานสามารถนำรายงานที่เขียนโดยแพทย์อาชีวเวชศาสตร์นี้ ไปทำการปรับปรุงแก้ไขปัญหาเพื่อพัฒนาการดูแลสุขภาพของคนทำงานในโรงงานได้ต่อ หากจะนำไปประกอบการจัดทำมาตรฐานคุณภาพบางอย่าง เช่น ISO 14001 หรือ OSHAS 18001 หรือให้ลูกค้า (customer) หรือผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder) ทั้งในประเทศและต่างประเทศตรวจสอบก็สามารถทำได้ การเขียนรายงานจึงเป็นเอกสารลายลักษณ์อักษรที่เป็นสิ่งสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างมากกับทางโรงงาน แพทย์อาชีวเวชศาสตร์จึงควรจะเขียนทุกครั้งที่ได้ไปสำรวจโรงงานถ้าสามารถทำได้ และหากบริษัทนั้นเป็นบริษัทข้ามชาติ การเขียนรายงานหรือสรุปรายงานเป็นภาษาอังกฤษด้วยก็จะยิ่งมีประโยชน์ต่อการที่ทางโรงงานจะนำไปใช้สื่อสารกับบริษัทแม่

หนังสืออ้างอิง

  1. McDonald MA. The environmental survey: practical guidance for new entrants to occupational health and safety. J Soc Occup Med 1978;28(3):95-100.
  2. Koh D, Sng J. Work and health. In: Koh D, Takahashi K, editors. Textbook of occupational medicine practice. 3rd ed. Singapore: World Scientific; 2011. p. 3-24.