มารู้จักกับสิ่งคุกคาม

บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

เรียบเรียงโดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์

วันที่เผยแพร่ 20 เมษายน 2562

แหล่งที่มา หนังสือแรกเริ่มเรียนรู้อาชีวเวชศาสตร์ (พิมพ์ครั้งที่ 3)


ในการดำเนินการทางด้านอาชีวเวชศาสตร์นั้น สิ่งหนึ่งที่ผู้ดำเนินการควรจะรู้จักไว้ เบื้องต้นก็คือเรื่องของสิ่งคุกคาม (hazard) การสัมผัส (exposure) และการประเมินความเสี่ยง (risk assessment) หลักการของเรื่องนี้เป็นหลักการพื้นฐานที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับปัญหาทางด้านอาชีวเวชศาสตร์ในแทบทุกกรณี เรียกได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของวิชาอาชีวเวชศาสตร์เลยทีเดียว สำหรับบทความนี้ จะได้กล่าวถึงเรื่องของ “สิ่งคุกคาม” อันเป็นเหตุของการเกิดโรคขึ้นเป็นอันดับแรก

คำว่าสิ่งคุกคาม (hazard) นั้นหมายถึง สิ่งใดๆ หรือสภาวการณ์ใดๆ ก็ตาม ที่มีความสามารถก่อปัญหาทางสุขภาพต่อคนได้ สิ่งคุกคามมักจะถูกแบ่งกลุ่มออกเป็นกลุ่มย่อยๆ ได้ 5 – 6 กลุ่ม ตามลักษณะของ “สิ่ง” หรือ “สภาวการณ์” ที่สามารถทำให้เจ็บป่วยได้ ดังนี้

1. สิ่งคุกคามทางกายภาพ (physical hazard)

คือสิ่งคุกคามที่เป็นพลังงานทางฟิสิกส์ ซึ่งมีคุณสมบัติทำให้เกิดโรคในคนได้ เช่น อุณหภูมิ ความกดอากาศ แรงสั่นสะเทือนของวัตถุ พลังงานเสียง พลังงานแสง รังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ตัวอย่างของสิ่งคุกคามทางกายภาพที่ทำให้คนเจ็บป่วย เช่น อุณหภูมิที่ร้อนเกินไปทำให้คนทำงานเป็นลมหมดสติได้ เสียงที่ดังเกินไปทำให้คนทำงานหูตึงได้ รังสีแกมมาทำให้เป็นมะเร็ง เหล่านี้เป็นต้น

2. สิ่งคุกคามทางเคมี (chemical hazard)

คือสิ่งคุกคามที่เป็นสารเคมีทุกชนิดซึ่งมีสมบัติเป็นพิษต่อคนได้ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะแก๊ส ของเหลว หรือของแข็ง ก็ตาม ทั้งที่เป็นธาตุและที่เป็นสารประกอบ ทั้งที่เป็นสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ ตัวอย่างเช่น สารตะกั่ว สารปรอท สารหนู ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า แก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ แก๊สไข่เน่า แก๊สคลอรีน ตัวอย่างของสิ่งคุกคามทางเคมีที่ทำให้คนเจ็บป่วย เช่น แก๊สคลอรีนรั่วไหลทำให้คนที่ดมแก๊สเข้าไปเสียชีวิต เกษตรกรพ่นยาฆ่าแมลงเป็นเวลานานทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ เหล่านี้เป็นต้น

3. สิ่งคุกคามทางชีวภาพ (biological hazard)

คือสิ่งคุกคามที่เป็นสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเชื้อจุลินทรีย์ แมลง หรือสัตว์ก่อโรค รวมทั้งเนื้อเยื่อหรือสารคัดหลั่งของสิ่งมีชีวิต ที่สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อและเจ็บป่วยได้ เช่น เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า เชื้อวัณโรค เชื้อโรคบิด เชื้ออหิวาห์ เชื้อมาลาเรีย เหล่านี้เป็นต้น

4. สิ่งคุกคามทางด้านจิตใจ (psychological hazard)

คือสภาวการณ์หรือสถานการณ์ใดๆ ก็ตาม ที่อาจกระตุ้นให้เกิดปัญหาทางด้านจิตใจ หรือความสัมพันธ์ในครอบครัว หรือในสังคม ของผู้ที่ทำงานอยู่ในสภาวการณ์นั้นๆ เช่น งานที่ทำไม่เป็นเวลาต้องอดหลับอดนอน งานที่มีความรีบเร่งสูง งานที่มีความรับผิดชอบสูง งานที่มีปัญหาสังคมภายในที่ทำงาน งานที่มีความกดดันจากผู้ร่วมงาน เหล่านี้เป็นต้น สิ่งคุกคามกลุ่มนี้ บางครั้งอาจเรียกว่าสิ่งคุกคามทางจิตสังคม (psychosocial hazard) ก็ได้

5. สิ่งคุกคามทางด้านชีวกลศาสตร์ (biomechanical hazard)

คือสภาวการณ์ใดๆ ก็ตาม ที่มีผลกระทบต่อระบบชีวกลศาสตร์ของผู้ที่ทำงาน มีผลทำให้ทำงานได้อย่างไม่สะดวกสบาย ติดขัด เกิดอาการปวดเมื่อย ทำงานได้ช้า ตัวอย่างของสภาวการณ์ดังกล่าวนี้ เช่น การทำงานในที่แคบ การที่ต้องเอี้ยวตัวยกของ การที่ต้องยกของหนัก การที่ต้องเพ่งสายตามองแสงจ้าเป็นเวลานานๆ การทำงานที่ต้องก้มๆ เงยๆ เหล่านี้เป็นต้น สิ่งคุกคามทางชีวกลศาสตร์สามารถแก้ไขได้ด้วยหลักวิชาการแขนงหนึ่งเรียกว่าการยศาสตร์ (ergonomics) ซึ่งใช้หลักการออกแบบ จัดวางสิ่งของ และปรับสภาพการทำงานให้เหมาะกับสรีระของคนทำงานมากที่สุด บางครั้งเราอาจเรียกสิ่งคุกคามทางด้านชีวกลศาสตร์ว่า สิ่งคุกคามทางด้านการยศาสตร์ (ergonomic hazard) เป็นคำแทนกันก็ได้

6. สิ่งคุกคามทางด้านความปลอดภัย (safety hazard)

เป็นสภาวการณ์อีกเช่นเดียวกัน แต่เป็นสภาวการณ์ที่มีโอกาสทำให้คนทำงานเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อร่างกาย พิการ หรือเสียชีวิตได้ เช่น การทำงานกับของแหลมคม การทำงานในที่สูง การทำงานกับไฟฟ้าแรงสูง การทำงานกับเครื่องจักรมีคมในขณะที่ง่วงนอน เหล่านี้เป็นต้น สิ่งคุกคามกลุ่มนี้ มักทำให้เกิด ปัญหาสุขภาพในรูปแบบของการบาดเจ็บ (injury) มากกว่าการทำให้เกิดการเจ็บป่วย (illness) บางครั้งเมื่อกล่าวถึงเฉพาะสิ่งคุกคามที่ทำให้เกิดเป็นโรค จึงมักจะกล่าวถึงเฉพาะสิ่งคุกคาม 5 กลุ่มแรก และสิ่งคุกคามกลุ่มนี้ถูกละไว้ในฐานที่เข้าใจ เนื่องจากทำให้เกิดการบาดเจ็บมากกว่าทำให้เป็นโรค

จะสังเกตเห็นว่าสิ่งคุกคาม 3 กลุ่มแรก เป็น “สิ่ง” (thing) คือเป็นสสารหรือ พลังงาน ที่มีลักษณะทางรูปธรรมสามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส หรือใช้เครื่องมือตรวจวัดได้ ในขณะที่ 3 กลุ่มหลัง เป็น “สภาวการณ์” (condition หรือ circumstance) ซึ่งมีลักษณะเป็นนามธรรม แต่ก็ก่อผลต่อสุขภาพของคนได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาสภาพจิตใจ ความไม่สะดวกสบาย หรือสภาวะที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

เมื่อมองในภาพกว้าง ดูเหมือนว่าทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเรา (everything) ล้วนแล้วแต่สามารถเป็นสิ่งคุกคามได้หมดทั้งสิ้น ซึ่งในความเป็นจริงก็เป็นเช่นนั้น สิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งทางรูปธรรม หรือสภาวการณ์ทางนามธรรม ล้วนแล้วแต่สามารถทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพกาย (physical health) หรือสุขภาพจิต (mental health) ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งได้ แต่ในการจะนำเรื่องใดมาพิจารณาเป็นประเด็นปัญหาต่อไปนั้น จะต้องดูโอกาสของการเกิดปัญหาเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่นสารตะกั่ว เป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคพิษตะกั่วได้ในคนทำงาน แต่หากคนทำงานสัมผัสไอของสารตะกั่วเป็นปริมาณน้อยมาก เช่นสัมผัสเดือนละครั้ง ในระดับที่ต่ำกว่าค่ามาตรฐาน กรณีเช่นนี้จัดว่ามีโอกาสเกิดปัญหาน้อยมาก ในทางตรงกันข้าม หากคนทำงานสัมผัสไอของสารตะกั่วทุกวัน วันละหลายชั่วโมง เป็นเวลานานหลายปี ก็จัดว่ามีโอกาสเกิดโรคมากกว่า น่าจะเป็นปัญหามากกว่า การประเมินว่า กรณีใดเป็นหรือไม่เป็นปัญหานั้น จะต้องใช้หลักการประเมินความเสี่ยง (risk assessment)

สรุป

สิ่งคุกคามคืออะไรก็ตามที่สามารถก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ สิ่งคุกคามมีอยู่รอบตัวเราทุกคน ทั้งในที่ทำงานและในสิ่งแวดล้อม หากพิจารณาอย่างถ้วนถี่แทบจะกล่าวได้ว่าของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกสามารถที่จะเป็นสิ่งคุกคามต่อสุขภาพได้ทั้งหมด สิ่งคุกคามอาจอยู่ในรูปสสาร พลังงาน หรือเป็นสภาวการณ์บางอย่างก็ได้ โดยทั่วไปเราแบ่งสิ่งคุกคามออกเป็น 5 – 6 กลุ่ม ตามลักษณะของสิ่งคุกคามนั้น คือ สิ่งคุกคามทางกายภาพ ทางเคมี ทางชีวภาพ ทางด้านจิตใจ ทางด้านชีวกลศาสตร์ และทางด้านความปลอดภัย การพิจารณาว่าสิ่งคุกคามจะทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาในเรื่องการสัมผัส และการประเมินความเสี่ยงร่วมด้วย

หนังสืออ้างอิง

  1. สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. ความรู้ในการป้องกันโรคจากการประกอบอาชีพ. นนทบุรี: โอ-วิทย์ (ประเทศไทย); ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์.
  2. Donagi A, Aladjem A. Systematization of occupational hazards by occupation. In: Stellman JM, editor. ILO Encyclopaedia of occupational health and safety. 4th ed. Vol. IV (Chapter 103). Geneva: International Labour Organization; 1998.