เรียบเรียงโดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์
วันที่เผยแพร่ 13 เมษายน 2552
ปัจจุบันคนมีอายุยืนยาวขึ้น คนทำงานในวัยสูงอายุ (elderly workers หรือ aging workers) จึงมีมากขึ้นตามไปด้วย ในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยเริ่มมีนโยบายเพิ่มระยะเวลาการเกษียณอายุคนทำงาน เช่น จากเดิม 60 ปีเพิ่มเป็น 65 ปี [1] คนทำงานกลุ่มผู้สูงอายุนี้ ในด้านสุขภาพมีข้อให้พิจารณาแตกต่างจากคนทำงานวัยหนุ่มสาวหลายประการ ซึ่งเป็นทั้งข้อเด่นและข้อด้อย ทำให้ผู้ทำงานด้านอาชีวอนามัยต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ
โดยทั่วไปแล้วคนเราจะมีสมรรถภาพร่างกายสูงสุดที่อายุประมาณ 25 ปี และจะคงตัวอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนกระทั่งเสื่อมถอยลง โดยมักจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้ที่อายุประมาณ 40 - 50 ปี [2] อย่างไรก็ดีความเปลี่ยนแปลงบางอย่างก็เริ่มเกิดขึ้นได้ตั้งแต่อายุ 20 – 25 ปี แล้ว [3] การกำหนดว่าอายุเท่าใดจึงจะเรียกได้ว่า “สูงอายุ” จึงไม่มีการกำหนดเป็นเกณฑ์ชัดเจน หากจะยึดตามความเสื่อมของสภาพร่างกายแล้ว ก็อาจประมาณการได้ว่าคนเราเริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุเมื่ออายุได้ประมาณ 45 ปีขึ้นไป
สภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุแต่ละคน มีความหลากหลายแตกต่างกันไป จะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับสภาพสังคม วัฒนธรรม เศรษฐานะ การดูแลตนเอง รวมทั้งงานที่ทำในอดีต [4] องค์กร Canadian Center for Occupational Health & Safety (CCOHS) ได้แนะนำแนวทางในการดูแลกลุ่มคนงานสูงอายุเอาไว้ดังนี้ [5]
การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาในผู้สูงอายุที่มีผลกับการทำงาน
คนทำงานสูงอายุนี้แม้จะมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายที่เสื่อมถอยลง แต่ความเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์และจิตใจนั้นโดยส่วนใหญ่จะมั่นคงขึ้น และยังมีประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้นด้วย คนงานสูงอายุมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานน้อยกว่าคนหนุ่มสาว แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น การบาดเจ็บมักจะรุนแรงกว่า และต้องพักรักษาตัวนาน หายช้ากว่า ลักษณะการบาดเจ็บก็ต่างกัน ในคนหนุ่มสาวการบาดเจ็บเกิดที่ตาและมือมากกว่า ส่วนผู้สูงอายุมักเกิดการบาดเจ็บที่หลัง
ผู้สูงอายุที่ทำงานซ้ำๆ ท่าเดิมมานานๆ โอกาสเกิด repetitive strain injury (RSI) ก็จะมากขึ้นตามอายุงาน เนื่องจากเมื่อเกิดการบาดเจ็บแล้วมักจะรุนแรงกว่าคนวัยหนุ่มสาว การจัดงาน และสภาพแวดล้อมการทำงานให้เหมาะสมเพื่อลดโอกาสการบาดเจ็บจึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์
ในเรื่องประสิทธิภาพในการทำงาน (work performance) พบว่าคนงานสูงอายุจะลาออกจากงานน้อยกว่า (low turnover rate) อุทิศตนเองให้งานมากกว่า (more dedicate) สร้างงานที่มีคุณค่าได้มากกว่า (more positive work value) และหยุดงานน้อยกว่า (less absenteeism) แต่หากเจ็บป่วยจนต้องหยุดงาน ก็มักจะต้องหยุดยาวกว่าคนหนุ่มสาว
การศึกษาในปัจจุบัน ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าคนสูงอายุจะทำงานมีประสิทธิภาพน้อยกว่าคนหนุ่มสาว ส่วนใหญ่พบว่าปัญหาการทำงานไม่มีประสิทธิภาพมักจะเกิดจากการรู้สึกว่าตนทำงานที่ไม่มีคุณค่า การขัดแย้งกับหัวหน้างาน งานที่มีความเครียดสูง และขาดการสนับสนุนจากคนรอบข้าง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกช่วงอายุอยู่แล้ว
คนงานสูงอายุทำงานได้ช้ากว่า ตัดสินใจได้ช้ากว่า คนหนุ่มสาว แต่อย่างไรก็ตาม ผลการตัดสินใจมักจะมีความถูกต้องมากกว่า และทำงานได้ถูกต้องมากกว่า (more accurate) ในเรื่องการเรียนรู้และการทำงานของสมอง คนสูงอายุอาจคิดได้ช้าลง ใช้เวลาในการเรียนรู้นานขึ้น มีความยากลำบากมากขึ้นในการทำงานของสมองเรื่องการคิดเชื่อมโยงเหตุผล (inductive reasoning) ความมีสมาธิจดจ่อกับเฉพาะบางสิ่งบางอย่าง (selective attention) การทำงานสองอย่างพร้อมกัน (dual-task activities) และการประมวลผลข้อมูลจะช้าลง (information processing) ส่วนการทำงานของสมองในเรื่องภาษา (vocabulary) ดูเหมือนจะไม่ได้เสื่อมลงตามอายุ ถึงแม้การทำงานบางอย่างของสมองจะช้าลง แต่ผู้สูงอายุสามารถใช้ “ ประสบการณ์” และ “ ความชำนาญ” มาทดแทนเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้
เมื่อพิจารณาแล้ว จะพบว่าผู้สูงอายุอาจมีปัญหาในกรณีที่ต้องทำงานที่มีตัวกระตุ้นมากๆ และซับซ้อน หรืองานที่ต้องทำหลายๆ อย่างพร้อมกัน และอย่างเร่งรีบ หรืองานที่ต้องทำในสภาพแวดล้อมที่วุ่นวาย โดยเฉพาะงานในสถานการณ์หรือสถานที่ใหม่ที่ไม่คุ้นเคย ส่วนหนึ่งก็เพราะในสภาพแวดล้อมที่วุ่นวายนั้น คนงานสูงอายุไม่สามารถเพ่งสมาธิเพื่อแยกได้ว่าตัวกระตุ้นใดควรให้ความสนใจ และตัวกระตุ้นใดไม่มีความสำคัญ การจัดสถานที่ทำงานในสภาพที่เอื้ออำนวยให้แก่ผู้สูงอายุจึงเป็นการเหมาะสม ซึ่งอาจจะมีความแตกต่างกันไปตามความชอบของแต่ละบุคคล โดยทั่วไปคือการจัดให้ทำงานในสภาพแวดล้อมที่สงบ ไม่เร่งรีบ ไม่วุ่นวายมาก เอื้ออำนวยต่อการใช้ทักษะและประสบการณ์เดิมในการทำงาน
คนงานสูงอายุสามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ได้เช่นเดียวกับคนหนุ่มสาว เมื่อเรียนรู้แล้วก็สามารถมีความเชี่ยวชาญได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ต้องใช้เวลาเรียนรู้และฝึกฝนมากกว่า การสอนควรอิงกับสิ่งที่รู้หรือประสบการณ์เดิมจะทำให้เข้าใจง่ายขึ้น (ควรสอนโดยให้ความสนใจกับคำถามที่ว่า “นี่คือการทำอะไร” หรือ “ทำอย่างนี้ทำไม” เนื่องจากผู้สูงอายุจำเป็นต้องใช้ประสบการณ์เดิมในการเทียบเคียงกับสิ่งที่จะเรียนรู้ใหม่ การสอนแบบสั่งให้ทำโดยไม่บอกเหตุผลอะไรเลยจะไม่ได้ผลดี)
อย่างไรก็ตามผู้สูงอายุแต่ละคนมีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ไม่เท่ากัน ปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างนี้ไม่ใช่เฉพาะเรื่องอายุเพียงอย่างเดียว แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาตลอดชีวิตก็เป็นปัจจัยสำคัญด้วย ผู้สูงอายุที่ตลอดช่วงชีวิตได้รับการฝึกอบรมทักษะต่างๆ หรือมีการศึกษาเรียนรู้เรื่องต่างๆ มามาก หรือคนที่ทำงานมาหลากหลายรูปแบบ คนเหล่านี้เป็นผู้เรียนที่มีประสบการณ์ ซึ่งมักจะเรียนรู้ทักษะใหม่หรือพัฒนาทักษะเดิมที่มีอยู่แล้วได้ไม่ยาก ส่วนคนงานสูงอายุที่ทำงานซ้ำๆ ง่ายๆ มาเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับการฝึกฝนที่จะเรียนรู้ จึงมีแนวโน้มที่จะกลัวหรือต่อต้านการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และหากเรียนรู้ก็ต้องใช้เวลานานกว่า
การดูแลสุขภาพของคนงานสูงอายุ นอกจากการจัดสภาพแวดล้อมการทำงานให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายและการทำงานของสมองที่เปลี่ยนแปลง ดังที่กล่าวไปแล้วนั้น เป็นที่ทราบดีว่าเมื่ออายุมากขึ้น ก็มีโอกาสเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ มากขึ้นด้วย คนงานสูงอายุบางคนอาจมีโรคประจำตัว การดูแลจัดสวัสดิการการรักษา และการเปิดโอกาสให้คนงานสูงอายุได้มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน อีกทั้งการสร้างเสริมสุขภาพ การเลือกการออกกำลังกายที่เหมาะสม การดูแลเรื่องการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ การสนับสนุนด้านจิตใจและสังคม ก็จะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข
เอกสารอ้างอิง