อันตรายจากการกินอาหารคลีน

บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

เรียบเรียงโดย นพ.พุทธิชัย แดงสวัสดิ์

วันที่เผยแพร่ 5 กุมภาพันธ์ 2559


ในยุคปัจจุบันกลุ่มคนรุ่นใหม่ใส่ใจในเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น มีหลายศาสตร์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องของอาหารการกิน ซึ่งแพร่หลายอยู่ในนิตยสารด้านการดูแลสุขภาพ และโซเชียลมีเดีย มีกระแสการกินอาหารเพื่อสุขภาพเกิดขึ้นมากมาย โดยกระแสที่มาแรง กำลังได้รับความนิยมจากผู้คนเป็นจำนวนมาก คือ “การกินอาหารคลีน” ซึ่งเป็นลักษณะการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพรูปแบบหนึ่ง ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกาย

การกินอาหารคลีน หรือที่เรียกย่อๆ กันว่าการกินคลีน (Clean eating) คือ การกินอาหารที่สด สะอาด โดยเน้นว่าเป็นอาหารแบบธรรมชาติ ไม่ผ่านการปรุงแต่งหรือเจือปนด้วยสารเคมีต่างๆ รวมถึงไม่กินอาหารหมักดอง อาหารขยะ และอาหารกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งเป็นอาหารกลุ่มที่มักจะมีปริมาณแป้ง ผงชูรส และโซเดียม ในปริมาณสูง การกินอาหารคลีนนั้นเน้นการกินให้ถูกหลักโภชนาการ กินในปริมาณที่พอเพียง ครบสัดส่วนทั้ง 5 หมู่ และอาหารต้องไม่มีสารปนเปื้อน

การกินอาหารคลีนนั้นคนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่า เป็นการเน้นกินอาหารจำพวกผักในปริมาณเยอะๆ แต่แท้จริงแล้วนั้น การกินอาหารคลีนเป็นการกินอาหารให้ครบสัดส่วน 5 หมู่ โดยเน้นกินอาหารทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน ผัก และผลไม้ ให้มีปริมาณที่พอเหมาะต่อความต้องการของร่างกาย อาหารคลีนนั้นส่วนใหญ่จะไม่ยึดติดกับรสชาติ แต่จะเน้นความเป็นธรรมชาติมากกว่า ดังนั้นผู้ที่กินอาหารคลีนจึงต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารใหม่ทั้งหมด โดยค่อยๆ ปรับตัวไปเรื่อยๆ ควรเลือกกินอาหารที่คงความเป็นธรรมชาติไว้ให้มากที่สุด ผ่านการปรุงแต่งน้อยที่สุด เช่น จากเดิมเคยกินข้าวขาวก็เปลี่ยนเป็นข้าวกล้อง หรือเคยกินผลไม้กระป๋องเป็นประจำก็หันมาเลือกกินผลไม้สดแทน จากที่เคยดื่มชากาแฟก็เปลี่ยนมาดื่มน้ำเปล่าหรือน้ำผลไม้คั้นสดแทน เป็นต้น

การกินอาหารคลีนนั้นรสชาติจะเป็นรอง แต่จะให้ความสำคัญกับตัวอาหารที่ไม่เน้นการปรุงแต่ง เพื่อให้การกินอาหารคลีนได้รับประโยชน์สูงสุดแก่ร่างกาย และผลพลอยได้ทำให้สุขภาพดีในระยะยาว ไม่เจ็บป่วยง่าย ดังนั้น จะเห็นได้ว่าอาหารคลีนอาจเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ของคนรักสุขภาพ ที่ต้องการสรรหาแต่สิ่งดีๆ ให้กับตนเองเลยทีเดียว

แต่อย่างใรก็ตาม แม้การกินอาหารคลีนจะมีประโยชน์ ในด้านหนึ่งก่ออาจก่อให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน ถ้ามีความเข้าใจในการกินอาหารคลีนที่คลาดเคลื่อน หรือยึดหลักการกินอาหารคลีนที่เคร่งครัดมากจนเกินไป ก็อาจมีผลเสียกับร่างกายได้ เราเรียกลักษณะแบบนี้ว่า การกินอาหารคลีนแบบเคร่งครัดมากเกินไป (Orthorexia)

อาการ Orthorexia (ออ-โท-เรก-เซีย) เป็นอาการผิดปกติในการกินที่ทำให้คนนั้นกินอาหารอย่างเคร่งครัด มีแคลอรี่จำกัด และต้องกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพตลอดเวลา บางทีอาจจะมีการลงโทษตัวเองเวลาไปกินอะไรที่ไม่ดีเข้ามาในร่างกาย เช่น ออกกำลังกายให้หนักขึ้น การกินเคร่งมากกว่าเดิมสิบเท่า หรือบางคนก็จะใช้วิธีอดอาหารไปเลยหลังจากมื้อที่กินอาหารที่ไม่ดี อาการ Orthorexia นั้นไม่ใช่โรคที่ติดต่อ แต่เป็นอาการผิดปกติที่มาจากแรงผลักดันภายใน (Internal motivation) เช่น รู้สึกอยากจะมีสุขภาพดีอย่างมาก รู้สึกอยากจะให้ตัวเองดูผอมตลอดเวลา รู้สึกว่าต้องกินอาหารที่ “บริสุทธิ์” ตลอดเวลา รู้สึกว่าอยากหลบหนีอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ โดยมีอาการแสดงออกมา เช่น หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารปนเปื้อนหรืออาหารที่มีสารกันบูดตลอดเวลา ไม่กินไขมัน น้ำมัน น้ำตาล และเกลือ ไม่กินเนื้อสัตว์ กินอาหารเสริมสมุนไพรหรืออาหารเสริมจำพวกโปรไบโอติก (Probiotic) หรืออาหารเสริมเม็ดหรือผง รู้สึกผิดเวลาไม่ได้กินของที่ตัวเองวางแผนเอาไว้ ใช้เวลาในการคิดเกี่ยวกับอาหารที่ต้องกินมากขึ้น กลัวที่จะกินอาหารนอกบ้าน กลัวที่จะกินอาหารที่คนอื่นทำมาให้ มีความเครียดเกี่ยวกับเรื่องอาหาร ไม่เคยคิดที่จะปล่อยให้ตัวเองหลุดไปกินอาหารอะไรก็ได้บางครั้งบางคราว เป็นต้น

ผลเสียที่ตามมาจากอาการ Orthorexia อันดับแรก คือความสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่อาจจะเปลี่ยนไปเพราะว่า ผู้ป่วยจะหมกมุ่นกับการกินมากเกินไปจนบางครั้งเมื่อเวลามีความจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องออกไปสังสรรค์กับเพื่อนๆ หรือครอบครัว ก็จะไม่สามารถจะกินอะไรได้ ผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกเบื่อเพราะอาหาร ปฏิเสธที่จะออกไปกินอาหารกับเพื่อนๆ เพราะว่าต้องการกินอาหารที่วางแผนไว้เท่านั้น ผลกระทบอันดับที่สองก็คือน้ำหนักของผู้ป่วยจะลดลงอย่างมาก เป็นเพราะว่าตัวเลือกอาหารถูกตัดลงเรื่อยๆ เมื่อพบว่าอาหารชนิดนั้นไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเราก็จะเลิกกิน จึงมีอาหารให้เลือกกินไม่หลากหลายพอ สิ่งที่ตามมาคือแคลอรี่ที่กินไปแต่ละวันไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งทำให้ผู้ป่วยซูบผอม ผลกระทบอันดับสามก็คือการขาดสารอาหาร (Malnutrition) เพราะว่าไม่สามารถกินเนื้อสัตว์ได้ ทำให้ขาดโปรตีนที่จำเป็นต่อการสร้างส่วนที่สึกหรอในร่างกาย และเนื้อสัตว์ยังมีสารอาหารสำคัญคือธาตุเหล็ก จึงอาจทำให้ขาดธาตุเหล็กได้ถ้าไม่กินเนื้อสัตว์ให้เพียงพอ

นอกจากนี้ยังพบว่า หากการเตรียมอาหารคลีนนั้นไม่สด สะอาด เพียงพอ เช่น การใช้บริการอาหารคลีนสำเร็จรูปจากร้านค้า หรือให้ผู้อื่นเตรียมให้ องค์ประกอบที่ไม่สด สะอาด บางอย่างนั้น อาจทำให้เกิดผลเสียต่อผู้ที่กินอาหารคลีนได้ เช่น การกินเนื้อปลาทูน่าที่ไม่สดเนื่องจากทิ้งไว้นาน อาจทำให้เกิดอาการแพ้ มีผื่นแดง ตัวบวม หายใจไม่ออก เกิดเป็นอันตรายต่อผู้กินได้

จะเห็นว่าการกินอาหารคลีนนั้น เป็นลักษณะการกินอาหารอย่างหนึ่งที่ดูเหมือนจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้กิน แต่ในบางแง่มุมก็อาจมีอันตรายแฝงมาได้เช่นกัน โดยเฉพาะถ้าเคร่งครัดในแนวทางการกินอาหารคลีนมากเกินไป หรือวัตถุดิบที่นำมาใช้เตรียมอาหารคลีนนั้นไม่สด สะอาด โดยทั่วไปการกินอาหารให้ปริมาณพอเพียง ครบ 5 หมู่ ร่วมกับการออกกำลังกาย และการมีสุขภาพจิตที่ดีนั้น ก็ถือว่าเพียงพอต่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขแล้ว

เอกสารอ้างอิง

  • 22 เมนูอาหารคลีนง่าย ๆ ทำง่ายกินง่ายได้สุขภาพ [อินเตอร์เน็ต]. 2557 [เข้าถึงเมื่อ 5 ต.ค. 2558]. เข้าถึงได้จาก: http://cooking.kapook.com/view101409.html.
  • ประชาชาติธุรกิจออนไลน์. โรคใหม่...ที่มากับการไดเอต [อินเตอร์เน็ต]. 2554 [เข้าถึงเมื่อ 3 ต.ค. 2558]. เข้าถึงได้จาก: http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1297238553.
  • อาหารคลีน (Clean food) [อินเตอร์เน็ต]. 2554 [เข้าถึงเมื่อ 7 ต.ค. 2558]. เข้าถึงได้จาก: http://www.sheacademy.in.th/dietetics-update/nutrition-sciences/clean-food/.
  • ธนพงศ์ แสงส่องสิน, วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์, ศิริพร โพดาพล. โรคพิษปลาทะเลสคอมบรอยด์จากการรับประทานอาหารคลีน. ธรรมศาสตร์เวชสาร 2558:15(4);685-8.