การตรวจสุขภาพคนทำงานอย่างคุ้มค่า
บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ
เรียบเรียงโดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์
วันที่เผยแพร่ 9 กุมภาพันธ์ 2556
อาชีวเวชศาสตร์คืออะไร? และแพทย์อาชีวเวชศาสตร์คือใคร?
อาชีวเวชศาสตร์ (Occupational medicine) ก็คือศาสตร์ทางการแพทย์แขนงหนึ่ง ซึ่งมุ่งเน้นการดูแลสุขภาพของคนทำงาน โดยจะดำเนินการในด้านการป้องกันโรคเป็นหลัก แต่ก็รวมถึงการดำเนินการตรวจวินิจฉัย การดูแลรักษา และการฟื้นฟูปัญหาสุขภาพอันเนื่องมาจากการทำงานด้วย ส่วนแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ (Occupational physician) ก็คือแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในศาสตร์ด้านอาชีวเวชศาสตร์ครับ
ทำไมคนทำงานจึงควรตรวจสุขภาพ?
เนื่องจากในการพัฒนาขององค์กรหรือภาคธุรกิจใดๆ ก็ตามนั้น “คน” เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้องค์กรเจริญก้าวหน้า สร้างผลประโยชน์ให้กับตัวองค์กรนั้นเองและสังคมส่วนรวมได้ ในปัจจุบันนี้องค์กรหรือภาคธุรกิจต่างๆ จึงนิยมส่งพนักงานมาตรวจสุขภาพกันมากขึ้น ซึ่งการตรวจสุขภาพนี้ ก็เป็นการดูแลให้คนทำงานภายในองค์กรนั้นมีความแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย สามารถทำงานให้กับองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสุขกับชีวิตมากขึ้น
เราจะตรวจสุขภาพคนทำงานในโอกาสใดได้บ้าง?
การตรวจสุขภาพคนทำงานนั้นสามารถทำได้ในหลายโอกาส ถ้าให้ยกตัวอย่างก็จะเริ่มตั้งแต่ก่อนเข้ามาทำงาน ก็จะมีการตรวจสุขภาพก่อนจ้างงาน (Pre-employment examination) เพื่อดูว่าคนทำงานนั้นมีสุขภาพดีหรือไม่ มีความเหมาะสมในการทำงานมากน้อยเพียงใด เมื่อเข้าไปทำงานแล้ว ก็จะมีการตรวจสุขภาพตามระยะ (Periodic examination) ซึ่งคนทำงานควรมาตรวจอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อดูว่าสุขภาพมีความเปลี่ยนแปลง เกิดความเจ็บป่วยหรือความเสื่อมของสุขภาพขึ้นบ้างหรือไม่ ในการทำงานที่เสี่ยงอันตรายบางอย่าง เช่น การทำงานกลางทะเล การทำงานใต้น้ำ การทำงานในที่อับอากาศ การทำงานในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกล การทำงานในแหล่งโรคระบาด องค์กรต้นสังกัดอาจส่งคนทำงานมาตรวจดูความพร้อมในการทำงาน (Fitness to work examination) เป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้การทำงานนั้นเกิดความปลอดภัยต่อตัวคนทำงานอย่างสูงสุด ในกรณีที่คนทำงานประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจนเกิดภาวะทุพพลภาพ จะมีการตรวจประเมินก่อนกลับเข้าทำงาน (Return to work examination) เพื่อคัดกรองว่าคนทำงานจะกลับเข้าไปทำงานได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ ต้องทำการฟื้นฟูหลังการเจ็บป่วยอย่างไรจึงจะสามารถทำงานได้ และกรณีสุดท้ายคือเมื่อคนทำงานจะเกษียณอายุ จะมีการตรวจสุขภาพก่อนเกษียณ (Retirement examination) ซึ่งจะเป็นการตรวจที่ช่วยบอกว่า หลังจากทำงานมาเป็นระยะเวลานานแล้ว คนทำงานเกิดโรคหรือปัญหาสุขภาพใดๆ ขึ้นหรือไม่ หากพบว่าเกิดขึ้นแพทย์จะได้ทำการรักษาให้อย่างทันท่วงที เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อที่คนทำงานจะได้พักผ่อน ท่องเที่ยว หรือดำเนินกิจกรรมตามแผนของชีวิตได้อย่างมีความสุขในวัยหลังเกษียณ
กระบวนการตรวจสุขภาพคนทำงานที่ดีต้องทำอย่างไรบ้าง?
การตรวจสุขภาพคนทำงานตามหลักวิชาการด้านอาชีวเวชศาสตร์นั้น ถ้าให้ดีต้องทำการตรวจให้ตรงกับความเสี่ยงของคนทำงานแต่ละคนด้วย ความเสี่ยงแรกที่ต้องคำนึงถึง ก็คือความเสี่ยงส่วนบุคคล ซึ่งแต่ละคนจะมีแตกต่างกันไป แพทย์ต้องพิจารณาถึงปัจจัยจาก อายุ เพศ รูปร่าง โรคประจำตัว โรคทางพันธุกรรมในครอบครัว การแพ้ยาและอาหาร รวมถึงปัจจัยอื่นๆ จึงจะสามารถวางแผนการตรวจสุขภาพและการส่งเสริมสุขภาพให้เหมาะสมกับคนแต่ละคนได้ ความเสี่ยงด้านที่สองคือความเสี่ยงจากการทำงาน ในส่วนนี้แพทย์จะต้องหาข้อมูลจากการสอบถามประวัติการทำงาน โดยอาจถามจากเจ้าตัว หรือได้รับข้อมูลจากองค์กรต้นสังกัด หรือเข้าไปเดินสำรวจสถานที่ทำงาน ก็จะทำให้แพทย์ทราบถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพ ที่คนทำงานแต่ละคนได้รับในการทำงานนั้น แล้วจึงจะนำมาออกแบบโปรแกรมการตรวจสุขภาพและการส่งเสริมสุขภาพ ให้เหมาะกับคนทำงานแต่ละคนได้อย่างดีที่สุด จะเห็นว่าในองค์กรที่ทำงานเดียวกัน คนทำงานแต่ละในแผนกที่ต่างกัน ก็จะมีลักษณะงานที่ต่างกัน ความเสี่ยงต่อสุขภาพที่ได้รับจากการทำงานก็ย่อมต่างกันไปด้วย
การเดินสำรวจสถานที่ทำงานคืออะไร?
การเดินสำรวจสถานที่ทำงาน (Walkthrough survey) ก็คือการที่แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ เข้าไปเดินสำรวจในสถานที่ทำงานจริงของคนทำงาน เช่น ในโรงงานอุตสาหกรรม ในสำนักงาน เพื่อดูว่าในสภาพการทำงานจริงนั้น คนทำงานมีความเสี่ยงต่อสุขภาพจากปัจจัยใดบ้าง ข้อมูลที่ได้จะช่วยให้แพทย์นำมาออกแบบการตรวจสุขภาพได้อย่างเหมาะสมตรงกับความเสี่ยงในการทำงานของคนทำงานแต่ละคน แต่ละแผนก เช่น หากแพทย์พบว่าคนทำงานบางคนต้องทำงานอยู่ในพื้นที่การทำงานที่มีเสียงดังตลอดเวลา มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคประสาทหูเสื่อมจากการได้รับเสียงดังได้ ก็จะแนะนำการตรวจสมรรถภาพการได้ยินให้กับคนทำงานผู้นั้น ข้อมูลที่ได้จากการเดินสำรวจสถานที่ทำงาน ยังทำให้แพทย์อาชีวเวชศาสตร์สามารถให้คำปรึกษาแก่องค์กร ในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เอื้ออำนวยต่อสุขภาพคนทำงานมากขึ้นได้ด้วย
ทำไมองค์กรหรือภาคธุรกิจต่างๆ จึงต้องมีแพทย์อาชีวเวชศาสตร์เป็นที่ปรึกษา?
เนื่องจากแพทย์อาชีวเวชศาสตร์เป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องสุขภาพของคนทำงานเป็นอย่างดี การที่องค์กรหรือภาคธุรกิจชั้นนำในปัจจุบัน นิยมจัดให้มีแพทย์อาชีวเวชศาสตร์เป็นที่ปรึกษาในเรื่องสุขภาพ ก็เนื่องจากองค์กรหรือภาคธุรกิจเหล่านี้เล็งเห็นประโยชน์ ในการที่แพทย์จะได้ช่วยให้คำแนะนำในการดำเนินการป้องกันโรค ทั้งโรคจากการทำงานและโรคจากปัจจัยอื่นๆ แพทย์สามารถให้คำแนะนำในการส่งเสริมสุขภาพ ทำการประเมินความเสี่ยง ให้คำแนะนำในการจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความปลอดภัยต่อคนทำงานและชุมชนที่อยู่โดยรอบ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความจริงใจขององค์กรในการดูแลสุขภาพคนทำงาน และช่วยสร้างสัมพันธ์อันดีต่อชุมชน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้องค์กรภาคธุรกิจชั้นนำในปัจจุบัน เล็งเห็นความสำคัญของการจัดให้มีแพทย์อาชีวเวชศาสตร์เป็นที่ปรึกษากันมากขึ้น
อยากให้แนะนำเกี่ยวกับศูนย์อาชีวเวชศาสตร์
ศูนย์อาชีวเวชศาสตร์ (Occupational medicine center) ก็คือหน่วยงานทางการแพทย์ในโรงพยาบาลไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชนก็ตาม ที่มุ่งเน้นให้บริการทางการแพทย์ด้านอาชีวเวชศาสตร์โดยเฉพาะ เป้าหมายของศูนย์อาชีวเวชศาสตร์ก็คือการให้บริการดูแลสุขภาพคนทำงานอย่างมีคุณภาพ ศูนย์ที่เปิดให้บริการอย่างครบวงจร อาจจะมีบริการครอบคลุมตั้งแต่การให้คำปรึกษาทางด้านสุขภาพแก่องค์กรภาคธุรกิจต่างๆ การวางแผนและดำเนินการตรวจสุขภาพให้กับคนทำงาน การวินิจฉัยโรคจากการทำงาน การตรวจประเมินความพร้อมในการทำงาน การส่งเสริมสุขภาพ การเป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการ การเดินสำรวจสถานที่ทำงานเพื่อประเมินความเสี่ยงทางด้านสุขภาพให้กับองค์กรภาคธุรกิจ อาจรวมถึงการทำวิจัย และการเป็นสถานที่ฝึกอบรมแพทย์และพยาบาลด้วย ศูนย์อาชีวเวชศาสตร์มักจะดำเนินการโดยทีมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ ทีมพยาบาลอาชีวอนามัย และบุคลากรสหวิชาชีพทางด้านสาธารณสุข อย่างไรก็ตามในโรงพยาบาลบางแห่ง ก็อาจเรียกชื่อหน่วยงานทางด้านอาชีวเวชศาสตร์ของตนเองด้วยชื่ออื่นได้ เช่น ในโรงพยาบาลภาครัฐบางแห่ง อาจจะใช้คำว่า “กลุ่มงานอาชีวเวชกรรม” แทน แต่ก็หมายถึงหน่วยงานที่ทำงานด้านอาชีวเวชศาสตร์เป็นการเฉพาะเหมือนกัน