เรียบเรียงโดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์
วันที่เผยแพร่ 2 มกราคม 2561
ในประเทศไทยนั้น กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ. 2556 [1] ได้กำหนดให้นายจ้างจัดอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล (Personal protective equipment; PPE) ให้ลูกจ้างสวมใส่เพื่อป้องกันอันตรายในการทำงานกับสารเคมีอันตรายอย่างเหมาะสม ซึ่งในการทำงานกับสารเคมีอันตราย อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ (Respirator) เป็นอุปกรณ์สำคัญอย่างหนึ่งที่ลูกจ้างจะขาดเสียมิได้ และในการสวมใส่อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจให้ได้ประสิทธิภาพนั้น จำเป็นจะต้องมีการทดสอบความพอดี (Fit test) อยู่เป็นระยะ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าคนทำงาน (ลูกจ้าง) ยังคงสวมใส่อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจไว้ที่ใบหน้าได้อย่างกระชับ อันจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการป้องกันได้อย่างสูง
บทความนี้จะกล่าวถึงขั้นตอน (Procedure) หรือแบบแผน (Protocol) ในการทดสอบความพอดีของอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่อ้างอิงมาจากข้อกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา รหัส 29 CFR 1910.134 [2] ที่กำหนดไว้โดยองค์กร Occupational Safety and Health Administration (OSHA) โดยตามข้อกฎหมายที่กำหนดนี้ นายจ้างในประเทศสหรัฐอเมริกาจะต้องจัดให้มีการทดสอบความพอดี (Fit test) ให้แก่ลูกจ้างที่ได้รับมอบหมายให้สวมใส่อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ ก่อนที่ลูกจ้างที่ได้รับมอบหมายจะสวมใส่ในครั้งแรก และทำอีกเป็นระยะอย่างน้อยปีละครั้ง (Annually) สำหรับในประเทศไทยแม้ไม่มีข้อกฎหมายด้านอาชีวอนามัยบังคับให้นายจ้างต้องจัดทำการทดสอบความพอดีนี้ แต่นายจ้างสามารถพิจารณาดำเนินการแบบสมัครใจ ในการจัดให้มีการทดสอบความพอดีให้กับลูกจ้างที่ได้รับมอบหมายให้สวมใส่อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจที่อยู่ในความดูแลของตนเองได้ เพื่อประโยชน์ในด้านความปลอดภัยของลูกจ้างอย่างสูงสุด
สาเหตุที่ต้องมีการทดสอบความพอดีของอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจอยู่เป็นระยะนั้น เนื่องจากมีโอกาสที่ใบหน้าของคนทำงานจะเปลี่ยนรูปทรงไป ทำให้การสวมใส่ส่วนที่สวมใส่บนใบหน้า (Facepiece) ของอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจหลวมหรือแน่นขึ้น ตัวอย่างสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงรูปทรงใบหน้า เช่น น้ำหนักลดหรือเพิ่มขึ้นมาก การทำฟันและดัดฟัน อุบัติเหตุที่ใบหน้าซึ่งทำให้ใบหน้าเปลี่ยนรูป แผลเป็น หนวดเคราที่ยาวขึ้น การศัลยกรรมตกแต่งที่ใบหน้า เหล่านี้เป็นต้น งานวิจัยของนักวิจัยจากองค์กร National Institute for Occupational Safety and Health (NIOSH) [3] รายงานว่า มีคนทำงานถึงประมาณ 10 % ที่ไม่ผ่านการทดสอบความพอดี แม้ว่าจะใช้อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจรุ่นเดิมและขนาดเดิมกับปีก่อนในการทดสอบ นอกจากนี้ผลการวิจัยชิ้นนี้ยังพบว่า คนที่น้ำหนักตัวลดลงมากกว่า 20 ปอนด์ (ประมาณ 9.1 กิโลกรัม) นั้นควรทำการทดสอบความพอดีใหม่ทันที เนื่องจากมีโอกาสที่อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจจะไม่พอดีสูง [3] หากส่วนที่สวมใส่บนใบหน้าของอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจนั้นไม่พอดี คือมีช่องว่างด้านข้างให้อากาศลอดเข้าได้ ประสิทธิภาพในการปกป้องทางเดินหายใจของอุปกรณ์นั้นก็จะลดลงหรือล้มเหลว [4]
สำหรับชนิดของการทดสอบความพอดีของอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ จะแบ่งได้ออกเป็น 2 แบบหลักๆ คือแบบเชิงคุณภาพ (Qualitative fit test; QLFT) กับแบบเชิงปริมาณ (Quantitative fit test; QNFT)
การทดสอบความพอดีแบบเชิงคุณภาพ (Qualitative fit test; QLFT) นั้นเป็นการทดสอบที่ให้คนทำงานใส่อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ แล้วสูดดมสารเคมีที่เป็นสารทดสอบ แล้วพิจารณาด้วยความเห็นของตนเอง (Subjective) ว่ารู้สึกได้ถึงสารทดสอบที่ใช้ทดสอบหรือไม่ ผลการทดสอบจะเป็นแบบ “ผ่าน (Pass)” คือไม่รู้สึกได้ถึงสารทดสอบ กับ “ไม่ผ่าน (Fail)” คือรู้สึกได้ถึงสารทดสอบ การทดสอบแบบเชิงคุณภาพนี้ทำได้ค่อนข้างง่ายกว่าแบบเชิงปริมาณ สามารถทำโดยบุคลากรทางด้านอาชีวอนามัยโดยทั่วไปที่ทราบขั้นตอนการปฏิบัติเป็นอย่างดีได้ (เช่น เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ พยาบาลอาชีวอนามัย แพทย์อาชีวเวชศาสตร์) ในการทดสอบนั้นมีแบบแผนการทดสอบหลายวิธีขึ้นกับสารที่ใช้ทดสอบ [5] ได้แก่ ใช้สารมีกลิ่น คือ Isoamyl acetate (IAA) เพื่อให้คนทำงานได้กลิ่นคล้ายกล้วย, ใช้สารให้ความหวาน คือ Saccharin หรือสารให้ความขม คือ Bitrex ® ซึ่งคนทำงานจะรู้สึกว่าหวานหรือขมถ้าไม่ผ่านการทดสอบ (หมายเหตุ สารทดสอบเป็นสารให้รส แต่ใช้ในการทดสอบอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจได้ เนื่องจากในขั้นตอนการทดสอบด้วยสารเหล่านี้จะให้คนทำงานหายใจเข้าออกทางปาก), ใช้สารระคายเคือง คือ Stannic chloride smoke เพื่อให้คนทำงานรู้สึกระคายเคือง การทดสอบแบบเชิงคุณภาพนี้ เหมาะสำหรับใช้ทดสอบอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจกลุ่มที่ส่วนที่สวมใส่บนใบหน้า (Facepiece) มีลักษณะเป็นหน้ากากแบบครึ่งหน้า (Half mask หรือ Half facepiece type) เท่านั้น ไม่เหมาะสำหรับการใช้ทดสอบในกลุ่มที่มีลักษณะเป็นหน้ากากแบบเต็มหน้า (Full face mask หรือ Full facepiece type) [6]
ภาพที่ 1 อุปกรณ์สำหรับทำการทดสอบความพอดีแบบเชิงคุณภาพ (Qualitative fit test) ด้วยสารให้ความหวาน (Saccharin) หรือสารให้ความขม (Bitrex ®)
สำหรับการทดสอบความพอดีแบบเชิงปริมาณ (Quantitative fit test; QNFT) นั้นเป็นการทดสอบที่จะได้ผลการทดสอบออกมาเป็นค่าตัวเลข เรียกว่า “ค่าความพอดี (Fit factor)” ซึ่งค่า Fit factor นี้คือค่าอัตราส่วนของความเข้มข้นของสารทดสอบในอากาศภายนอก ต่อความเข้มข้นของสารทดสอบในอากาศภายในอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ เช่น หากอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจชนิดหนึ่งมีค่า Fit factor = 100 จะหมายถึง อากาศภายในอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจชนิดนั้นสะอาดกว่าอากาศภายนอก 100 เท่าขณะที่ทำการสวมใส่ โดยองค์กร OSHA กำหนดไว้ว่า อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจที่มีลักษณะเป็นหน้ากากแบบครึ่งหน้า (Half mask หรือ Half facepiece type) จะต้องมีค่า Fit factor ตั้งแต่ 100 ขึ้นไป ส่วนกลุ่มที่มีลักษณะเป็นหน้ากากแบบเต็มหน้า (Full face mask หรือ Full facepiece type) จะต้องมีค่า Fit factor ตั้งแต่ 500 ขึ้นไป จึงจะถือว่า “ผ่าน” ในการทดสอบ [2] การทดสอบแบบเชิงปริมาณนี้ทำได้ยากกว่าการทดสอบแบบเชิงคุณภาพ เนื่องจากต้องใช้เครื่องมือเฉพาะที่มีความซับซ้อนกว่า มักต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญในการใช้เครื่องมือทดสอบ ซึ่งในการทดสอบเชิงปริมาณนั้นก็มีแบบแผน (Protocol) การทดสอบหลายวิธีเช่นกัน [5] ได้แก่ ใช้สารทดสอบที่ไม่เป็นอันตรายอย่าง Corn oil, Polyethylene glycol 400 (PEG 400), Di-2-ethyl hexyl sebacate (DEHS), หรือ Sodium chloride ทำให้เกิดเป็นละอองภายในห้องทดสอบ (Test chamber) แล้ววัดความเข้มข้นของละอองสารทดสอบในอากาศภายนอก เทียบกับในอากาศภายในอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจที่คนทำงานสวมใส่, ใช้การวัดความเข้มข้นของละอองในอากาศทั่วไป (Ambient aerosol) ที่อยู่ภายนอกเทียบกับภายในอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ เช่น การวัดด้วยเครื่องมือที่ชื่อว่า Portacount ®, ใช้การควบคุมความดันภายในอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจให้เป็นลบ (Controlled negative pressure) แล้วให้คนทำงานกลั้นหายใจ จากนั้นวัดอัตราการรั่วของอากาศ (Leak rate) ที่รั่วไหลเข้ามาภายในอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ แล้วนำ Leak rate มาคำนวณเทียบเป็นค่า Fit factor อีกที เช่น การวัดด้วยเครื่องมือที่ชื่อว่า Quantifit ® ซึ่งมีแบบแผนการทำ 2 แบบ ทั้งการทำท่าทางต่างๆ อย่างเดียว และแบบที่ให้ทำท่าทางต่างๆ ร่วมกับการให้ถอดหน้ากากแล้วใส่หน้ากากใหม่ (REDON protocol) [5] การทดสอบเชิงปริมาณนี้ สามารถใช้ทดสอบความพอดีกับอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจได้ทั้งกลุ่มที่ส่วนที่สวมใส่บนใบหน้า (Facepiece) มีลักษณะเป็นหน้ากากแบบครึ่งหน้า (Half mask หรือ Half facepiece type) และกลุ่มที่มีลักษณะเป็นหน้ากากแบบเต็มหน้า (Full face mask หรือ Full facepiece type) [6] ขั้นตอนการทำการทดสอบแบบเชิงปริมาณในรายละเอียดแต่ละแบบแผนจะไม่ขอกล่าวถึงในบทความนี้ เนื่องจากการทดสอบแบบเชิงปริมาณนั้นจะต้องใช้เครื่องมือเฉพาะ มีความซับซ้อน และมักต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญในการใช้เครื่องมือทดสอบ
ภาพที่ 2 เครื่อง Portacount ® สำหรับทำการทดสอบความพอดีแบบเชิงปริมาณ (Quantitative fit test)
สำหรับขั้นตอนการทำการทดสอบความพอดีแบบเชิงคุณภาพ (Qualitative fit test; QLFT) ซึ่งกำหนดไว้ในกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาโดยองค์กร OSHA นั้นมาจากข้อกฎหมาย รหัส 29 CFR 1910.134 ในส่วน Appendix A [5] ซึ่งเป็นส่วนที่บังคับให้ต้องปฏิบัติตาม ในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะแบบแผนที่ทำการทดสอบด้วยสารให้ความหวาน คือ Saccharin และสารให้ความขม คือ Bitrex ® เท่านั้น เนื่องจากการทดสอบด้วยสารทดสอบ 2 ชนิดนี้ค่อนข้างมีความปลอดภัยสูงและทำได้ง่าย รายละเอียดขั้นตอนการทดสอบความพอดีของอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจแบบเชิงคุณภาพนั้นเป็นดังนี้ [5]
การจัดเตรียมขั้นพื้นฐาน (General requirements)
การจัดเตรียมขั้นพื้นฐานเหล่านี้ จะต้องทำทั้งในกรณีทำการทดสอบแบบเชิงคุณภาพ (Qualitative fit test) และแบบเชิงปริมาณ (Quantitative fit test)
(หมายเหตุ สำหรับการทดสอบแบบเชิงคุณภาพทุกแบบแผน จะใช้ท่าทางตามรายการที่กำหนดนี้ในการทดสอบ แต่การทดสอบแบบเชิงปริมาณบางแบบแผน อาจมีท่าทางที่กำหนดให้คนทำงานทำต่างออกไปเป็นการเฉพาะได้ ซึ่งจะแตกต่างไปจากท่าทางในรายการนี้)
แบบแผนการทดสอบแบบเชิงคุณภาพ (Qualitative fit test protocols)
ภาพที่ 3 การคัดกรองความสามารถขั้นต่ำในการรับรส (Taste threshold screening)
ภาพที่ 4 การทดสอบท่าที่ 1 หายใจปกติ (Normal breathing)
ภาพที่ 5 การทดสอบท่าที่ 2 หายใจลึกๆ (Deep breathing)
ภาพที่ 6 การทดสอบท่าที่ 3 หันหน้าไปทางซ้าย- ขวา (Turning head side-to-side)
ภาพที่ 7 การทดสอบท่าที่ 4 เงยหน้าขึ้นลง (Moving head up and down)
ภาพที่ 8 การทดสอบท่าที่ 5 พูด (Talking)
ภาพที่ 9 การทดสอบท่าที่ 6 ก้มเอว (Bending over)
ภาพที่ 10 การทดสอบท่าที่ 7 หายใจปกติ (Normal breathing)
เอกสารอ้างอิง