จะทำอย่างไรเมื่อผลตรวจสมรรถภาพปอดออกมาผิดปกติ

บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

เรียบเรียงโดย

นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์, แพทย์อาชีวเวชศาสตร์

พญ.นวพรรณ ผลบุญ, แพทย์อาชีวเวชศาสตร์

วันที่เผยแพร่ 9 กุมภาพันธ์ 2556

การตรวจสมรรถภาพปอด (Lung function test หรือ Pulmonary function test) ด้วยวิธีการสไปโรเมตรีย์ (Spirometry) เป็นการตรวจเพื่อประเมินการทำงานของปอด ว่ายังมีการขยายตัวและเคลื่อนที่ของลมในปอดเป็นปกติดีหรือไม่ การตรวจด้วยเครื่องสไปโรเมตรีย์นี้ทำได้ค่อนข้างง่าย ปลอดภัย และมีราคาไม่แพง ทำให้ได้รับความนิยมในการใช้ประเมินสมรรถภาพปอดของพนักงานที่มีความเสี่ยงต่อโรคปอดในวงการอาชีวอนามัยอยู่มาก

ประโยชน์ของการตรวจสมรรถภาพปอดด้วยวิธีการสไปโรเมตรีย์มีอยู่หลายอย่าง สามารถใช้เป็นข้อมูลช่วยในการวินิจฉัยโรคปอดหลายชนิด ทั้งที่เกิดจากการทำงานและไม่ได้เกิดจากการทำงาน เช่น โรคหอบหืด โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอดฝุ่นฝ้าย เป็นต้น และยังสามารถใช้ประเมินอาการของผู้ป่วยโรคปอดที่มาทำการรักษา เพื่อดูว่าการรักษานั้นได้ผลดีหรือไม่ และใช้คัดกรองโรคปอดชนิดต่างๆ ที่ทำให้เกิดความผิดปกติของสมรรถภาพปอด

มาตรฐานการตรวจสมรรถภาพปอดนั้นมีการกำหนดไว้โดยองค์กรวิชาการต่างๆ เช่น มาตรฐานของสมาคมโรคทรวงอกแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (American Thoracic Society หรือ ATS) เป็นต้น สำหรับประเทศไทย มีการกำหนดมาตรฐานการตรวจไว้โดยสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2545 โดยมีการกำหนดทั้งวิธีการ เช่น ต้องนั่งเป่า ต้องเป่าเป็นจำนวนทั้งหมด 3 ครั้ง ต้องอมที่เป่าไว้ในปากให้สนิทแน่น ชนิดของเครื่องมือที่ใช้ตรวจ ข้อห้ามในการตรวจ และวิธีการแปลผล ซึ่งในการแปลผลนั้น แพทย์จะประเมินผลจากค่าปริมาตรและความเร็วของลมที่พนักงานเป่าออกมาจากปอด เปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานของประชากรไทยที่มีเพศ อายุ และความสูงเท่ากัน โดยผลการตรวจที่ผิดปกตินั้น อาจจะพบได้เป็นความผิดปกติแบบปอดจำกัดการขยายตัว (Restriction) ความผิดปกติแบบอุดกั้น (Obstruction) หรือความผิดปกติแบบผสม (Mixed type) ก็ได้

การตรวจสมรรถภาพปอดที่ดีนั้น ต้องทำโดยผู้ให้บริการสุขภาพที่มีมาตรฐาน ผลการตรวจที่ได้จึงจะน่าเชื่อถือ หากพบผลที่ผิดปกติแล้ว การส่งตัวพนักงานไปตรวจซ้ำเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนกับแพทย์อาชีวเวชศาสตร์อีกครั้งก็เป็นสิ่งที่ดี หากผลการตรวจหลายครั้งยังให้ผลออกมาผิดปกติในลักษณะเช่นเดิม ก็ควรพิจารณาเชื่อถือว่าพนักงานน่าจะมีความผิดปกติของสมรรถภาพปอดจริง การดำเนินการเมื่อพบว่าพนักงานมีสมรรถภาพปอดผิดปกติ มีแนวทางดูแลตามผลการตรวจที่พบ ดังนี้

  • พบความผิดปกติแบบปอดจำกัดการขยายตัว (Restriction)

ความผิดปกติแบบนี้เกิดจากการที่พนักงานเป่าลมออกมาได้ในปริมาตรที่น้อยกว่าปกติ เมื่อเทียบกับคนทั่วไปที่มีอายุ เพศ และความสูงเท่ากัน สาเหตุของการที่ปอดจำกัดการขยายตัวนี้มีได้หลายสาเหตุ ทั้งจากสาเหตุภายในเนื้อปอดเอง เนื่องจากเนื้อปอดมีความยืดหยุ่นน้อยลงทำให้ขยายตัวไม่ได้เต็มที่ เช่น เกิดผังพืดในเนื้อปอด (Pulmonary fibrosis) ทั้งจากการอักเสบเนื่องจากมีสิ่งแปลมปลอมสะสมในเนื้อปอด เช่น เป็นโรคปอดฝุ่นหิน (Silicosis) โรคปอดใยหิน (Asbestosis) พังผืดในเนื้อปอดที่เกิดขึ้นหลังการติดเชื้อ เช่น วัณโรคปอด (Tuberculosis) ปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial pneumonia) พังผืดในเนื้อปอดที่เกิดขึ้นจากยา (Medications induced pulmonary fibrosis) หรือจากสารเคมี (Chemical pneumonitis) หรือเกิดการเสียความยืดหยุ่นจากโรคทางเนื้อเยื่อ เช่น ซาร์คอยโดสิส (Sarcoidosis) เป็นต้น

การจำกัดการขยายตัว ยังอาจเกิดจากสาเหตุภายนอกปอด เช่น มีโครงสร้างของร่างกายผิดปกติ กระดูกหน้าอกบุ๋มผิดรูป (Pectus excavatum) กระดูกสันหลังคด (Scoliosis) หลังค่อม (Kyphosis) โรคกระดูกสันหลังติดยึด (Ankylosing spondilitis) หรือแม้แต่คนที่อ้วนมาก (Obesity) เหล่านี้สามารถทำให้เกิดผลผิดปกติแบบจำกัดการขยายตัวได้ทั้งหมด

อีกสาเหตุหนึ่งที่ควรคิดถึงเสมอคือปัจจัยในการตรวจ เทคนิคการตรวจที่ไม่ดีอาจทำให้พนักงานที่เข้ารับการตรวจออกแรงเป่าไม่ได้มากและนานเพียงพอ พนักงานที่ร่างกายอ่อนแอ อดนอน หรือเจ็บป่วยไม่สบาย อาจออกแรงเป่าออกมาได้น้อยกว่าความสามารถจริงที่ตนเองจะทำได้ ทำให้การตรวจมีผลคลาดเคลื่อนไป

หากพบผลการตรวจสมรรถภาพปอดผิดปกติแบบปอดจำกัดการขยายตัวนั้น ให้พิจารณาดูว่าเกิดจากสาเหตุใด หากเกิดจากโรคที่เป็นอันตราย หรือโรคที่จำเป็นต้องทำการรักษา ควรส่งตัวพนักงานไปพบอายุรแพทย์โรคทรวงอกเพื่อทำการรักษาจะดีที่สุด กรณีที่เป็นโรคที่เกิดจากการทำงาน เช่น โรคปอดฝุ่นหิน โรคปอดใยหิน โรคปอดฝุ่นฝ้าย โรคหอบหืดจากการทำงาน จะต้องกลับไปดำเนินการทางด้านอาชีวอนามัยภายในโรงงาน เพื่อควบคุมให้ระดับของฝุ่นอันตรายเหล่านี้ลดลงให้ได้มากที่สุด ให้ความรู้แก่พนักงาน จัดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลให้กับพนักงานที่มีความเสี่ยง รวมถึงทำการเปลี่ยนงานให้กับพนักงานที่เจ็บป่วยเป็นโรคแล้ว ทั้งหมดนี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคปอดจากการทำงานในระยะยาวได้

  • พบความผิดปกติแบบอุดกั้น (Obstruction)

ความผิดปกติแบบอุดกั้นคือพนักงานเป่าลมออกมาได้ในอัตราที่ช้ากว่าที่ควรจะเป็น ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดจากการตีบตันของทางเดินลมหายใจส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น หลอดลม หรือหลอดลมแขนง ซึ่งมักจะเกิดจากโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจบางชนิด เช่น โรคหอบหืด (Asthma) โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease หรือ COPD) โรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis) โรคปอดฝุ่นฝ้าย (Byssinosis) หรือเกิดจากมีสิ่งใดนอกปอดมากดเบียดทางเดินหายใจไว้ เช่น โรคต่อมไทรอยด์โตหรือคอพอก (Goiter) ก้อนเนื้องอกที่มากดเบียดหลอดลม (Tumor) จะเห็นว่าความผิดปกติแบบอุดกั้นนี้ ถ้าพบมักจะสัมพันธ์กับการเป็นโรคที่ต้องรักษาอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ จึงควรส่งพนักงานที่มีผลผิดปกติแบบนี้ทุกราย ไปตรวจวินิจฉัยและทำการรักษากับอายุรแพทย์โรคทรวงอกจะเป็นการดีที่สุด

  • พบความผิดปกติแบบผสม (Mixed type)

คือพบทั้งความผิดปกติแบบปอดจำกัดการขยายตัวและความผิดปกติแบบอุดกั้น เกิดจากเป็นโรคปอดทำให้เกิดความผิดปกติได้ทั้ง 2 แบบ เช่น เป็นโรคปอดฝุ่นหินมาเป็นเวลานาน ทำให้เนื้อเยื่อปอดเป็นพังผืด เกิดความผิดปกติแบบปอดจำกัดการขยายตัว และพังผืดที่เกิดขึ้นมีมากจนไปดึงรั้งทางเดินหายใจ ทำให้เกิดเป็นความผิดปกติแบบอุดกั้นขึ้นด้วย หากพบผลการตรวจที่ผิดปกติแบบผสมนี้ ให้ดำเนินการโดยส่งพนักงานไปพบแพทย์อายุรกรรมโรคทรวงอก เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโรคและรักษา เช่นเดียวกับที่พบความผิดปกติแบบอุดกั้น