แพทย์อาชีวเวชศาสตร์

บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

เรียบเรียงโดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์

วันที่เผยแพร่ 20 เมษายน 2562

แหล่งที่มา หนังสือแรกเริ่มเรียนรู้อาชีวเวชศาสตร์ (พิมพ์ครั้งที่ 3)


แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ (occupational physician) คือแพทย์เฉพาะทางสาขา หนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลสุขภาพของคนทำงาน อภิไธยเต็มของแพทย์เฉพาะทางสาขานี้ที่กำหนดโดยแพทยสภาคือ “แพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน (อาชีวเวชศาสตร์)” สาเหตุที่ต้องมีคำว่า “เวชศาสตร์ป้องกัน” อยู่ในอภิไธยด้วย เนื่องจากวิชาอาชีวเวชศาสตร์นั้น ถูกจัดเป็นแขนงย่อยหนึ่งของวิชาเวชศาสตร์ป้องกัน เช่นเดียวกับศาสตร์ด้านเวชศาสตร์ป้องกันสาขาอื่นๆ เช่น เวชศาสตร์ป้องกันคลินิก เวชศาสตร์การบิน หรือสาธารณสุขศาสตร์

อย่างไรก็ตาม คำที่คนทั่วไปใช้เรียกแพทย์เฉพาะทางสาขานี้ โดยปกติก็มักจะเรียกเพียงว่า “แพทย์อาชีวเวชศาสตร์” มากกว่า สำหรับในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อย่างกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสุขภาพของลูกจ้างฯ พ.ศ. 2547 ใช้คำเรียกที่สื่อถึงแพทย์เฉพาะทางสาขานี้ว่า “แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมด้านอาชีวเวชศาสตร์”

แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ มีการเปิดสอบรับรองโดยแพทยสภามาตั้งแต่ พ.ศ. 2539 นับถึงปัจจุบันก็กล่าวได้ว่า มีแพทย์เฉพาะทางสาขานี้ทำงานอยู่ในประเทศไทยมา เป็นเวลาประมาณ 20 ปีแล้ว แต่หากเทียบกับศาสตร์การแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่นที่มีมาก่อน เช่น สูติศาสตร์ อายุรศาสตร์ ศัลยศาสตร์ ก็นับว่ายังเป็นสาขาที่ใหม่อยู่มาก

การสำรวจจำนวนของแพทย์อาชีวเวชศาสตร์โดย พุทธิชัย แดงสวัสดิ์ และคณะ ในปี พ.ศ. 2557 พบว่าประเทศไทยมีแพทย์อาชีวเวชศาสตร์อยู่จำนวนทั้งสิ้น 142 คน โดยพบว่าแพทย์อาชีวเวชศาสตร์มีทั้งเพศชายและเพศหญิง (เพศชายร้อยละ 77.5 และเพศหญิงร้อยละ 22.5) มีอายุเฉลี่ย 50.3 ปี ส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในกรุงเทพมหานคร (ร้อยละ 46.4) รองลงมาคือภาคกลาง (ร้อยละ 21.8) และภาคตะวันออก (ร้อยละ 10.6)

การสำรวจโดย วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์ และคณะ ในปี พ.ศ. 2551 พบว่าแพทย์ อาชีวเวชศาสตร์ ส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในภาครัฐ เช่น ในโรงพยาบาลของรัฐ ในมหาวิทยาลัย ในกระทรวงสาธารณสุข (ร้อยละ 71 .7) ทำงานในโรงพยาบาลเอกชน (ร้อยละ 4.0) ทำงานเป็นแพทย์ประจำสถานประกอบการ (ร้อยละ 9.1) ที่เหลือ เป็นแพทย์อิสระ แพทย์เกษียณอายุ หรือเจ้าของกิจการ (ร้อยละ 15.2)

หนังสืออ้างอิง

  1. ข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยอภิไธยผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาต่างๆ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2536. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 110 ตอนที่ 64. (ลงวันที่ 26 เมษายน 2536).
  2. กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสุขภาพของลูกจ้างและส่งผลการตรวจแก่พนักงานตรวจแรงงาน พ.ศ. 2547. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 122 ตอนที่ 4 ก. (ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2547).
  3. พุทธิชัย แดงสวัสดิ์, วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์, ดุสิต จันทยานนท์, ฉันทนา จันทวงศ์. การสำรวจจำนวนบุคลากรด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2557. ธรรมศาสตร์เวชสาร 2558;15(3):393-405.
  4. วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์, ฉัตรชัย เอกปัญญาสกุล, โยธิน เบญจวัง. แพทย์เฉพาะทางสาขาอาชีวเวชศาสตร์ในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2551. วารสารความปลอดภัยและสุขภาพ 2552;2(8):51-9.