เรียบเรียงโดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์
วันที่เผยแพร่ 26 กุมภาพันธ์ 2554
บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อตอบคำถามให้แก่พี่พยาบาลท่านหนึ่ง ซึ่งต้องการทราบว่า การดื่มกาแฟนั้นตกลงมันเป็นประโยชน์หรือโทษกันแน่? ก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหา ผมขอออกตัวก่อนนะครับ ว่ามันอาจไม่ใช่บทความที่สมบูรณ์แบบและครอบคลุมทุกแง่ทุกมุม สาเหตุก็เพราะว่ากาแฟนั้นเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ดื่มกันอยู่ทั่วโลก งานศึกษาวิจัยถึงผลดีผลเสียของกาแฟจึงมีอยู่จำนวนมหาศาล ซึ่งแน่นอนว่าผมไม่สามารถจะค้นคว้ามาทั้งหมดได้ เนื้อหาในบทความนี้จึงเป็นลักษณะบทสรุปคร่าวๆ เพื่อให้เกิดการมองในมุมกว้างเกี่ยวกับประโยชน์และโทษของเครื่องดื่มยอดนิยมชนิดนี้มากกว่า เอาล่ะครับ...ถ้ายอมรับได้ในความไม่สมบูรณ์พร้อมของบทความผมแล้ว เราก็มาดูกันเลยว่าดื่มกาแฟมันดีหรือไม่ดียังไง
กาแฟ (coffee) เป็นเครื่องดื่มมหัศจรรย์ที่มีรสชาติหอมหวน ชวนดื่ม บางคนก็บอกว่ากาแฟนั้นเป็นเครื่องดื่มจากสวรรค์ เพราะมันสร้างสุนทรียภาพให้กับผู้ดื่มได้ บางคนก็ทำธุรกิจร้านกาแฟจนมีเงินตั้งตัวได้ และอีกไม่น้อยที่ถึงกับทำให้ร่ำรวยเลยทีเดียว แต่ทางด้านวิชาการก็มีข้อมูลของกาแฟต่อผลของสุขภาพอยู่มากมาย บ้างก็บอกว่ามันมีประโยชน์อยู่ไม่ใช่น้อย แต่บ้างก็บอกว่ามีโทษอยู่เยอะเหมือนกัน
หากเปรียบเทียบกาแฟกับบุหรี่และสุรา เราจะพบว่าสำหรับบุหรี่และสุรา ข้อมูลทางวิชาการในปัจจุบันนี้แทบทุกหน่วยงานทุกองค์กร ล้วนยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า การสูบบุหรี่และการดื่มสุรา น่าจะส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าผลดี แต่สำหรับกาแฟ ข้อมูลวิชาการที่มีในปัจจุบันยังดูขัดแย้งกันอยู่ อีกทั้งงานวิจัยที่ทำเกี่ยวกับผลสุขภาพของกาแฟก็มีอยู่จำนวนมาก วันที่เขียนบทความนี้ (26 กุมภาพันธ์ 2554) หากเราเข้าไปค้นข้อมูลในฐานข้อมูลงานวิจัย pubmed (www.pubmed.gov) โดยใช้คำค้นว่า “coffee” จะพบว่ามีงานวิจัยที่ทำเกี่ยวกับผลของกาแฟต่อสุขภาพอยู่มากมายถึง 8,042 เรื่อง นี่เป็นการค้นหาจากเพียงแค่ฐานข้อมูลเดียว หากรวบรวมงานวิจัยที่เกี่ยวกับกาแฟจากทั่วโลกอาจจะมีมากกว่านี้
การที่คนเราดื่มกาแฟนั้น ถ้าไม่ได้ติดใจในรสชาติของกาแฟแล้ว ส่วนหนึ่งก็อาจจะเพราะหวังผลลดความง่วง สารออกฤทธิ์สำคัญที่อยู่ในกาแฟคือสารคาเฟอีน (caffeine) สารเคมีชนิดนี้มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท จึงทำให้ผู้ดื่มตื่นจากอาการง่วงได้ นอกจากฤทธิ์กระตุ้นประสาทแล้ว คาเฟอีนยังออกฤทธิ์ต่อร่างกายส่วนอื่นๆ ด้วยไม่ต่างจากการกินยาชนิดหนึ่งเข้าไป ผลข้างเคียง (side effects) ที่ว่านี้ได้แก่ ทำให้ใจสั่น ชีพจรเร็วขึ้น เวียนหัว กระสับกระส่าย ปากแห้ง ปวดท้อง คลื่นไส้ ท้องเสีย ปัสสาวะเพิ่มขึ้น ผลข้างเคียงที่กล่าวมานี้ อาจเกิดขึ้นมากน้อยแตกต่างกันไปในคนแต่ละคน หรือในคนคนเดียวกัน ผลบางอย่างก็เกิดมาก ผลบางอย่างก็เกิดน้อย ผลแต่ละอย่างจะเกิดมากหรือเกิดน้อยก็ขึ้นอยู่กับปริมาณคาเฟอีนที่ได้รับและสรีระวิทยาของร่างกาย
ด้วยเหตุนี้ท่านที่อยู่ในวงสังคมคนชอบดื่มกาแฟ คงจะเคยได้ยินเพื่อนบางคนบอกว่า ดื่มกาแฟแล้วไม่เห็นหายง่วงเลย หรือดื่มกาแฟทีไรแล้วท้องเสียทุกที หรือดื่มกาแฟแล้วใจสั่นจนทำงานไม่ได้ ในขณะที่บางคนดื่มกาแฟไปแล้วมีอาการเหล่านี้บ้างแต่ก็ไม่รุนแรงนัก
ในเรื่องของฤทธิ์กระตุ้นสมอง ก่อให้เกิดอาการใจสั่น และทำให้ชีพจรเต้นเร็วนั้น หากได้รับคาเฟอีนในปริมาณสูงมาก เช่น ในกรณีของการกินคาเฟอีนอัดเม็ดที่มีขายในต่างประเทศเข้าไปจำนวนมากเกิน สามารถทำให้หัวใจเต้นรัวจนเสียชีวิตได้ ในกรณีของการกินเมล็ดกาแฟสดเข้าไปจำนวนมาก ก็เคยมีรายงานว่าทำให้มีอาการโคม่าได้เหมือนกัน แต่สำหรับกรณีของกาแฟที่ชงสำเร็จแล้วนั้น ปริมาณคาเฟอีนที่มีอาจไม่มากพอที่จะทำให้โคม่าหรือเสียชีวิตได้ ถ้าไม่ได้ดื่มเข้าไปหลายๆ ลิตร เท่าที่ทราบปัจจุบันจึงยังไม่มีรายงานคนเสียชีวิตจากการดื่มกาแฟชงสำเร็จ
ในภาพรวมของการทำให้เสียชีวิตและเป็นมะเร็งในระยะยาว เราพบว่าการดื่มกาแฟเป็นประจำอาจช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุรวมกันลงได้ สำหรับในเรื่องการก่อมะเร็งนั้น ข้อสรุปเท่าที่มีในปัจจุบันเราเชื่อว่าการดื่มกาแฟไม่ใช่เหตุก่อมะเร็ง
มีงานวิจัยหลายชิ้น บ่งชี้ว่ากาแฟ อาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงจากโรคบางอย่างได้ ตัวอย่างของโรคเหล่านี้ เช่น โรคหลงลืม (dementia) โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) ทำให้ความจำระยะสั้นดีขึ้น (short term recall) ลดความเสี่ยงต่อการเป็นนิ่วในถุงน้ำดี (gallstone) ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน (diabetes) ช่วยป้องกันภาวะตับแข็ง (cirrhosis) ลดความเสี่ยงต่อการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease) ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกาต์ (gout) อย่างไรก็ตาม ผลดีที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นสมมติฐานที่ได้จากการวิจัยทางด้านระบาดวิทยาเป็นส่วนใหญ่ แม้จะทำการเก็บข้อมูลในประชากรจำนวนหลายหมื่นหลายแสนคน แต่เรื่องของอาหารกับการป้องกันโรคนี้ก็มักมีปัจจัยรบกวนมากมาย เพราะวันๆ หนึ่งคนเราก็ไม่ได้กินอะไรเพียงอย่างเดียว และในแต่ละวันก็กินเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ด้วย อีกทั้งในหลายความสัมพันธ์ที่พบนี้ก็ยังไม่สามารถหาเหตุผลกลไกมาอธิบายได้กระจ่าง การพิจารณาข้อมูลเหล่านี้แบบฟังหูไว้หูจึงเป็นสิ่งที่แนะนำ
หากกล่าวถึงผลเสียของการดื่มกาแฟ ก็มีงานวิจัยหลายฉบับที่พบความอันตรายจากการดื่มกาแฟเช่นกัน ที่ค่อนข้างชัดเจนคือกาแฟทำให้เป็นแผลในกระเพาะอาหาร (peptic ulcer) กระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux) ทำให้ระดับไขมันในเลือดสูงขึ้น (increase lipid level) ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นชั่วคราว (high blood pressure) รบกวนการดูดซึมธาตุเหล็กและทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง (iron deficiency anemia) ในมารดาและทารก ทำให้นอนไม่หลับ (insomnia) และวิตกกังวล (anxiety) เช่นเดียวกับผลดีของกาแฟ ผลเสียของกาแฟที่พบนี้ก็มาจากการศึกษาวิจัยทางระบาดวิทยาที่มีข้อจำกัดมากมาย การพิจารณาผลดีผลเสียของการดื่มกาแฟจึงควรทำอย่างระมัดระวัง
ในเรื่องการป้องกันฟันผุ มีการตั้งสมมติฐานว่า สารกลุ่มโพลีฟีนอล (polyphenol) ในกาแฟมีฤทธิ์ป้องกันฟันผุได้ ดังนั้นการดื่มกาแฟไม่ใส่น้ำตาลอาจทำให้ลดโอกาสในการเกิดฟันผุลง แต่หากมองในแง่ความสวยงามแล้ว พบว่ากาแฟมีฤทธิ์ทำให้ฟันเหลือง (tooth staining)
เกี่ยวกับอาการปวดหัวกับกาแฟ ผลการวิจัยที่ออกมาในปัจจุบันยังมีความขัดแย้งกันอยู่ ในอดีตเราเชื่อว่าคาเฟอีนในกาแฟเป็นสารที่มีฤทธิ์แก้ปวดหัวได้ ยาแก้ปวดหัวหลายสูตรจึงมีส่วนผสมของคาเฟอีนอยู่ด้วย ยาเหล่านี้เป็นยาที่แพทย์มักจ่ายให้แก่ผู้ป่วยที่ปวดศีรษะ ทั้งปวดศีรษะแบบบีบรัด (tension headache) และโรคปวดศีรษะไมเกรน (migraine headache) อย่างไรก็ตามงานวิจัยบางส่วนมีข้อมูลแย้งว่า การได้รับคาเฟอีนในระยะสั้นนั้นอาจลดอาการปวดหัวได้จริง แต่ถ้าดื่มบ่อยๆ จนเกิดอาการติด เมื่อไม่ได้ดื่มกลับจะทำให้ปวดหัวมากขึ้น
ส่วนในเรื่องของการต้านอนุมูลอิสระ มีการกล่าวถึงกาแฟทั้งแง่ที่ว่าสามารถป้องกันมะเร็งได้ เนื่องจากฤทธิ์ของสารต้านอนุมูลอิสระในกาแฟหลายตัว เช่น เมทิลไพริดิเนียม (methylpiridinium) โพลีฟีนอล (polyphenol ) อย่างไรก็ตาม ฤทธิ์ของสารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้ ค้นพบการออกฤทธิ์แค่เพียงในหลอดทดลองเป็นส่วนใหญ่ การพิสูจน์ผลออกฤทธิ์ที่เกิดประโยชน์ในคนจริงๆ ยังไม่มีให้เห็นชัดเจน การเชื่ออย่างสนิทใจว่ากินกาแฟแล้วจะป้องกันมะเร็งได้นั้นจึงยังอาจไม่ถูกนัก ในทางตรงข้ามกัน นักวิจัยก็ค้นพบสารสกัดที่อาจก่อมะเร็งอยู่ในกาแฟหลายชนิดเหมือนกัน แต่สารเหล่านี้ก็มีข้อมูลแต่เพียงในหลอดทดลอง ข้อสรุปที่เป็นกลางในปัจจุบันนี้ ที่พอน่าเชื่อถือได้ คือการกล่าวว่า การดื่มกาแฟค่อนข้างชัดเจนว่าไม่ใช่เหตุก่อมะเร็ง แต่ฤทธิ์ต้านมะเร็งนั้นมีจริงหรือไม่อาจยังไม่รู้แน่ชัด
จากผลที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ผลของกาแฟต่อสุขภาพนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีดูจะมีมากกว่าข้อเสียเล็กน้อย ผลบางอย่างข้อมูลปัจจุบันยังดูมีความขัดแย้งกันอยู่ อาจต้องรอการพิสูจน์ในอนาคตจึงจะทราบข้อสรุปที่ชัดเจนขึ้น ในประชากรบางกลุ่ม การดื่มกาแฟอาจก่อผลเสียได้ค่อนข้างมาก เช่น คนเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ คนเป็นโรคกระเพาะอาหาร คนเป็นโรคกรดไหลย้อน ประชากรกลุ่มนี้จึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟถ้าเป็นไปได้ แต่ในคนที่ไม่มีความเสี่ยงใดๆ แล้ว การดื่มกาแฟก็ไม่ได้เป็นเรื่องห้าม
เอกสารอ้างอิง