จะทำอย่างไรเมื่อผลตรวจสารเคมีในร่างกายออกมาผิดปกติ

บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

เรียบเรียงโดย

นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์, แพทย์อาชีวเวชศาสตร์

พญ.นวพรรณ ผลบุญ, แพทย์อาชีวเวชศาสตร์

วันที่เผยแพร่ 12 กุมภาพันธ์ 2556


การตรวจระดับสารเคมีในร่างกาย โดยดูจากตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (Biological marker หรือ Biomarker) เป็นการตรวจที่ช่วยให้ผู้ที่ทำงานทางด้านอาชีวอนามัย สามารถติดตามระดับการสัมผัสสารเคมีในสถานที่ทำงานของพนักงานได้เป็นอย่างดี การตรวจนี้จัดเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเฝ้าระวังทางชีวภาพ (Biological monitoring) ซึ่งกำลังมีการนำมาใช้ตรวจปฏิบัติกันมากขึ้นในวงการอาชีวอนามัยของประเทศไทยในปัจจุบัน

การตรวจระดับสารเคมีในร่างกายต้องใส่ใจรายละเอียด

การตรวจระดับสารเคมีในร่างกายนั้น มักเก็บตัวอย่างส่งตรวจจากเลือด (Blood) หรือ ปัสสาวะ (Urine) ของพนักงานเป็นหลัก นอกจากการตรวจพิเศษบางชนิดที่อาจมีการเก็บตัวอย่างจากส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ลมหายใจออก (Exhaled air) เส้นผม (Hair) หรือตัวอย่างเนื้อเยื่อ (Tissue) การตรวจที่ดีมีมาตรฐาน จะต้องทำการเก็บตัวอย่างให้ถูกชนิด คือต้องทราบว่าการตรวจเพื่อประเมินการสัมผัสสารเคมีชนิดที่สนใจนั้น จะต้องตรวจอย่างไร เพราะบางครั้งจะเป็นการตรวจสารเคมีชนิดนั้นโดยตรงเลย เช่น การประเมินการสัมผัสสารตะกั่ว (Lead) ก็จะดูจากการตรวจตะกั่วในเลือด (Lead in blood) แต่ในบางกรณี จะเป็นการตรวจดูระดับสารเมตาโบไลต์ (Metabolite) ของสารเคมีชนิดนั้นๆ แทน เพราะเมื่อสารเคมีที่สนใจเข้าไปในร่างกายของพนักงานแล้ว จะแปรสภาพเป็นสารเมตาโบไลต์ที่ตรวจได้ เช่น การตรวจไซลีน (Xylene) นั้น จะใช้การตรวจกรดเมทิลฮิพพูริคในปัสสาวะ (Methyl hippuric acid in urine) เป็นตัวประเมินการสัมผัส เป็นต้น

นอกจากนี้ยังต้องเก็บตัวอย่างให้ถูกเวลา เนื่องจากการตรวจสารเคมีแต่ละชนิดก็มีช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเก็บตัวอย่างแตกต่างกันไป บางชนิดเก็บหลังเลิกงาน (End of shift) บางชนิดเก็บก่อนเข้างาน (Prior to shift) บางชนิดเก็บในวันสุดท้ายของสัปดาห์ (End of workweek) เหล่านี้เป็นต้น การเก็บตัวอย่างที่ดีต้องทำให้ถูกวิธีและมีคุณภาพ ต้องทราบแน่ชัดว่าจะเก็บจากเลือด หรือเก็บจากปัสสาวะ หรือเก็บจากสิ่งส่งตรวจอื่น ก่อนเก็บตัวอย่างต้องมีการให้คำแนะนำที่เหมาะสมแก่พนักงาน เพราะการตรวจสารเคมีบางอย่างมีผลบวกลวงมาก ในการตรวจระดับสารเคมีบางชนิด พนักงานอาจต้องงดอาหารบางอย่างก่อนทำการเก็บตัวอย่างก็มี เช่น ก่อนตรวจระดับสารหนูรวมในปัสสาวะ (Total arsenic in urine) จะต้องแนะนำให้พนักงานงดอาหารทะเลอย่างน้อย 3 วันก่อนตรวจ ซึ่งต้องแนะนำให้พนักงานปฏิบัติตามเพื่อความน่าเชื่อถือของผลการตรวจที่ออกมาด้วย หลังจากเก็บตัวอย่างแล้ว ผู้ทำการเก็บตัวอย่างต้องใส่เลือดหรือปัสสาวะที่เก็บมาไว้ในภาชนะที่เหมาะสม เก็บไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะสม และระยะเวลาในการเก็บจนถึงเริ่มเข้าเครื่องตรวจต้องไม่นานเกินไป การตรวจต้องทำโดยห้องปฏิบัติการด้านพิษวิทยาที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน น่าเชื่อถือ มีเครื่องมือที่แม่นยำ และตรวจสอบได้

จะทำอย่างไรหากผลการตรวจระดับสารเคมีในร่างกายออกมาผิดปกติ

หากการวางแผนและเก็บตัวอย่างส่งตรวจระดับสารเคมีในร่างกายได้อย่างดีแล้ว ผลตรวจที่ออกมาจึงจะถือว่าน่าเชื่อถือ ในขั้นตอนต่อไป เมื่อผลการตรวจออกมาพบว่าระดับสารเคมีในร่างกายของพนักงานนั้นสูงกว่าค่าปกติ จะมีแนวทางในการดำเนินงานดังนี้

ค่าระดับสารเคมีที่ตรวจออกมาได้นั้น จะต้องนำมาเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานที่เป็นปัจจุบันขององค์กรที่น่าเชื่อถือ ตัวอย่างขององค์กรที่กำหนดค่ามาตรฐานระดับสารเคมีในร่างกายไว้ในปัจจุบัน เช่น องค์กรนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมภาครัฐแห่งประเทศอเมริกา (American Conference of Governmental Industrial Hygienist หรือ ACGIH) ซึ่งจะออกค่ามาตรฐานและกำหนดไว้ว่า สารเคมีตัวใดบ้างที่สามารถตรวจวัดระดับสารเคมีในร่างกายได้ และค่ามาตรฐานที่อยู่ในระดับปลอดภัยต้องไม่เกินเท่าใด หากเปรียบเทียบกับมาตรฐานแล้วพบว่าค่าสูงจริง อาจจะลองส่งตัวอย่างเลือดหรือปัสสาวะของพนักงานไปตรวจซ้ำอีกครั้งหนึ่งเพื่อยืนยัน ถ้าตรวจซ้ำแล้วค่ายังสูงก็จัดว่ามีความน่าเชื่อถือมาก

หากค่าระดับสารเคมีในร่างกายพนักงานนั้นสูงจริง การดำเนินการที่เหมาะสมคือควรพิจารณาว่าพนักงานมีการสัมผัสระดับสารเคมีที่ตรวจพบว่าสูงนั้นมาจากแหล่งใดบ้าง ซึ่งพนักงานอาจได้รับจากการทำงาน (Occupation) หรือจากสิ่งแวดล้อม (Environment) ก็ได้ การได้รับควรพิจารณาด้วยว่าได้รับเข้าทางช่องทางการสัมผัสใด ทางการหายใจ ทางผิวหนัง หรือทางการกิน หากพิจารณาแล้วว่ามีโอกาสได้รับจากการทำงาน ควรดูข้อมูลการตรวจวัดระดับสารเคมีนั้นในสถานที่ทำงานว่าสูงเกินค่ามาตรฐานหรือไม่ ถ้าพบว่าสูงด้วยมีโอกาสมากที่ระดับสารเคมีในร่างกายของพนักงานที่พบว่าสูงจะเกิดจากการทำงาน ซึ่งการดำเนินการแก้ไขที่ดีสุด ก็คงเป็นการเข้าไปควบคุมระดับสารเคมีนั้นด้วยวิธีการทางอาชีวอนามัย เพื่อให้พนักงานสัมผัสกับสารเคมีชนิดนั้นน้อยลงให้มากที่สุด ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เช่น การเปลี่ยนไปใช้สารเคมีอื่นที่มีพิษน้อยกว่า การลดปริมาณการใช้สารเคมีนั้น การทำระบบปิด ทำระบบเปียก ทำฝาปิดภาชนะ เพื่อลดการฟุ้งกระจายของสารเคมีในอากาศ เหล่านี้เป็นต้น

แต่หากพบว่าค่าระดับสารเคมีในร่างกายของพนักงานที่สูงขึ้นนั้น เกิดจากสิ่งแวดล้อม ก็ควรให้คำแนะนำแก่พนักงานในการปฏิบัติตัวเพื่อลดการสัมผัสกับสารเคมีอันตรายโดยไม่ตั้งใจ เช่น ลดการกินอาหารบางอย่าง หลีกเลี่ยงการทำงานอดิเรกที่ต้องสัมผัสกับสารเคมีอันตราย หรือในกรณีที่เป็นปัญหามลพิษในชุมชนของพนักงาน อาจต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมมาประเมินและแก้ไขปัญหาให้ ในฝั่งของแพทย์อาชีวเวชศาสตร์นั้น ถ้าพบว่าค่าสารเคมีในร่างกายพนักงานสูง แล้วมีอาการแสดงของโรคพิษสารเคมีด้วย แพทย์จะต้องวินิจฉัยเป็นโรคพิษจากสารเคมีและดำเนินการให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป พนักงานที่มีระดับสารเคมีในร่างกายสูงทุกราย หลังจากได้รับการแก้ไขเพื่อลดปริมาณการสัมผัสสารเคมีที่พิจารณาแล้ว ควรจะได้รับการตรวจประเมินระดับสารเคมีในร่างกายซ้ำ เพื่อติดตามว่ามาตรการลดการสัมผัสสารเคมีอันตรายที่ดำเนินไปนั้นได้ผลหรือไม่