แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ให้บริการอะไรกับโรงงานได้บ้าง

บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

เรียบเรียงโดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์

วันที่เผยแพร่ 20 เมษายน 2562

แหล่งที่มา หนังสือแรกเริ่มเรียนรู้อาชีวเวชศาสตร์ (พิมพ์ครั้งที่ 3)


แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ (occupational physician) เป็นแพทย์ที่มีความรู้เฉพาะทางด้านการดูแลสุขภาพของคนทำงาน การทำงานของแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโรงงาน (factory) หรือองค์กรธุรกิจ (business organization) ต่างๆ นั้นมีหลากหลายกิจกรรม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้คนทำงานมีสุขภาพดีขึ้นทั้งสิ้น

ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์อาชีวเวชศาสตร์กับโรงงานนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกคือแพทย์ที่ทำงานเป็นลูกจ้างของโรงงาน (company doctor) คือแพทย์ที่โรงงานจ้างไว้เพื่อดำเนินการด้านสุขภาพภายในองค์กรธุรกิจของตนเอง แพทย์กลุ่มนี้จะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพนักงาน มักได้รับการยอมรับนับถือจากพนักงาน รู้รายละเอียดของระบบงาน รู้ข้อดีและข้อจำกัดของโรงงานที่ตนเองทำงานอยู่เป็นอย่างดี องค์กรธุรกิจที่จะจ้างแพทย์กลุ่มนี้ไว้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีโรงงานในเครือหลายแห่ง เช่น กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี กลุ่มธุรกิจปูนซีเมนต์ กลุ่มธุรกิจเหมืองแร่ กลุ่มธุรกิจผลิตเครื่องอุปโภคบริโภค โดยแพทย์ที่ทำงานมักจะต้องดูแลทุกหน่วยธุรกิจ (ทุกโรงงาน) ให้กับทางนายจ้าง

แพทย์กลุ่มที่สอง ทำงานในลักษณะให้บริการด้านสุขภาพเช่นเดียวกับแพทย์กลุ่มแรก แต่มีข้อแตกต่างคือไม่ได้เป็นลูกจ้างประจำของโรงงาน โดยจะดำเนินงานในรูปแบบเป็นที่ปรึกษา (consultant) ให้กับโรงงานแทน แพทย์ที่ทำงานในกลุ่มนี้อาจสังกัดอยู่โรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลเอกชน ตั้งบริษัทรับปรึกษาขึ้นมาเอง หรือเป็นแพทย์อิสระก็ได้ ข้อดีของแพทย์ในกลุ่มนี้คือจะมีความเป็นอิสระทางวิชาการมากกว่า ไม่ถูกกดดันจากสถานะการเป็นลูกจ้างของโรงงาน แต่การดำเนินการให้บริการทางสุขภาพใดๆ ก็อาจทำได้ยากลำบากกว่าแพทย์กลุ่มแรก เนื่องจากมักมีข้อจำกัดในเรื่องการรับทราบข้อมูลระบบงานภายในของโรงงานนั้นๆ องค์กรธุรกิจที่มีขนาดกลางถึงขนาดเล็กมักนิยมจ้างแพทย์ในลักษณะที่เป็นแพทย์ที่ปรึกษานี้ เพราะมีความเหมาะสมในเรื่องค่าใช้จ่าย ส่วนตัวแพทย์เองก็สามารถทำงานให้กับหลายโรงงานได้ด้วย

แพทย์กลุ่มสุดท้ายที่ทำงานเกี่ยวกับโรงงาน คือแพทย์ที่ทำหน้าที่เป็น “ผู้รักษากฎหมาย” แพทย์ในกลุ่มนี้จะไม่ได้ให้บริการด้านสุขภาพแบบแพทย์ในสองกลุ่มแรก แต่จะทำงานในลักษณะเดียวกับ “พนักงานสอบสวน” หรือ “พนักงานตรวจแรงงาน” แพทย์กลุ่มนี้จะทำงานสังกัดกระทรวงแรงงาน หรือเป็นที่ปรึกษาที่ได้รับการมอบอำนาจจากกระทรวงแรงงานมาอีกทีหนึ่ง บริบทของการทำงานจะประกอบด้วย การเข้าไปสอบสวนเหตุการณ์เมื่อเกิดการร้องเรียนเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพอนามัยของคนทำงานในโรงงานที่มีปัญหา หรือการเข้าไปเก็บข้อมูล สอบสวนโรค วินิจฉัยโรค ในกรณีที่มีข้อพิพาทด้านโรคจากการทำงานเกิดขึ้น รวมถึงการไปเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในศาลด้วย

เนื้อหาด้านการบริการสุขภาพให้แก่องค์กรธุรกิจที่จะกล่าวในส่วนต่อไป จะขอกล่าวถึงเฉพาะบทบาทของแพทย์ในกลุ่มแรกคือแพทย์ประจำโรงงาน และกลุ่มที่สองคือแพทย์ที่ปรึกษาโรงงานเท่านั้น ส่วนบทบาทการควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมายของแพทย์ที่ทำงานสังกัดกระทรวงแรงงานจะไม่ขอกล่าวถึงในรายละเอียด

การที่แพทย์เข้าไปดำเนินงานด้านสุขภาพให้กับองค์กรธุรกิจนั้น จุดมุ่งหมายหลักก็เพื่อให้พนักงานขององค์กรธุรกิจมีสุขภาพดี การที่พนักงานมีสุขภาพดี ก็จะทำให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว เพราะพนักงานที่มีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ จะมีโอกาสผลิตงานที่มีคุณภาพออกมาได้มากกว่า นอกจากจุดมุ่งหมายหลักในเรื่องการสร้างสุขภาพดีให้กับพนักงานแล้ว องค์กรธุรกิจยังได้ประโยชน์ทางอ้อมจากการดูแลสุขภาพพนักงานทางอื่นๆ ด้วย เช่น ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลพนักงาน ลดอัตราการขาดงานจากปัญหาสุขภาพ สามารถนำข้อมูลที่ได้มาใช้ทำมาตรฐานคุณภาพขององค์กร องค์กรมีชื่อเสียงในทางที่ดีมากขึ้น และเป็นการสบายใจที่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน

การดำเนินการด้านสุขภาพของแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ให้กับองค์กรธุรกิจต่างๆ นั้น โดยทั่วไปมักจะต้องทำร่วมกับทีมงานด้านสุขภาพและบุคลากรสาขาอาชีพอื่น เช่น พยาบาลอาชีวอนามัย (occupational health nurse) นักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม (industrial hygienist) เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (safety officer) เจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ (human resource officer) อย่างไรก็ตาม บริการด้านสุขภาพบางอย่างก็เป็นบทบาทหน้าที่หลักที่แพทย์อาชีวเวชศาสตร์สามารถทำได้แต่เพียงผู้เดียว เช่น การตรวจสุขภาพพนักงานประจำปี การตรวจสุขภาพเพื่อประเมินความพร้อมในการทำงาน การออกแบบการตรวจสุขภาพของพนักงาน และการวินิจฉัยโรคจากการทำงาน เป็นต้น

การดำเนินการเพื่อให้บริการด้านสุขภาพ (health service) หรืออาจเรียกให้จำเพาะเจาะจงขึ้นว่าการดำเนินการเพื่อให้บริการด้านอาชีวอนามัย (occupational health service) ที่แพทย์อาชีวเวชศาสตร์สามารถดำเนินการให้กับองค์กรธุรกิจได้นั้น มีการรวบรวมและเสนอแนะไว้โดย สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ ในหนังสือ “ตำราอาชีวเวชศาสตร์เบื้องต้น” ซึ่งมีแง่มุมต่างๆ ที่น่าสนใจ จำนวนทั้งสิ้นถึง 15 ประเด็น เรียงไปตามลำดับดังนี้

1. การศึกษาข้อมูลเบื้องต้นของโรงงาน

แรกเริ่มเมื่อแพทย์อาชีวเวชศาสตร์จะเข้าไปทำหน้าที่ดูแลสุขภาพให้กับคนทำงานในโรงงานหรือองค์กรธุรกิจใด แพทย์จะต้องเข้าไปศึกษาข้อมูลพื้นฐานขององค์กรนั้นก่อนเป็นอันดับแรก ข้อมูลที่จะต้องทราบ เช่น องค์กรธุรกิจนั้นผลิตหรือให้บริการอะไร มีขนาดเล็กใหญ่เพียงใด มีคนทำงานจำนวนเท่าใด คนทำงานมีอายุเฉลี่ยเท่าใด ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวหรือเป็นคนสูงอายุ ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงหรือเพศชาย ส่วนใหญ่มีอายุงานมากหรือน้อย ข้อมูลการเจ็บป่วยเป็นอย่างไร มีอัตราการย้ายงานมากน้อยเพียงใด กระบวนการผลิตมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง มีการใช้สารเคมีอะไรบ้าง มีการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัยอะไรมาแล้วบ้าง มีการจัดทำมาตรฐานคุณภาพอะไรมาแล้วบ้าง มีการจัดสวัสดิการอะไรให้แก่คนทำงานบ้าง มีวัฒนธรรมองค์กรเป็นอย่างไรบ้าง เป็นต้น ข้อมูลเบื้องต้นเหล่านี้ จะช่วยให้แพทย์อาชีวเวชศาสตร์มีความเข้าใจลักษณะขององค์กรธุรกิจนั้นมากขึ้น และช่วยให้สามารถแก้ปัญหาสุขภาพให้กับองค์กรได้อย่างเป็นองค์รวม

2. การเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อม

การเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อม (environmental monitoring) ทำโดยการตรวจวัดระดับสิ่งคุกคามที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมการทำงาน เช่น ระดับเสียง ระดับแสง ระดับสารเคมีในอากาศ หน้าที่การตรวจวัดสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นความเชี่ยวชาญของนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม เมื่อมีการจัดหานักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมมาทำการตรวจวัดในสิ่งแวดล้อมแล้ว แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ควรที่จะต้องทราบผลการตรวจวัดด้วย เพื่อให้สามารถประเมินอันตรายจากสิ่งคุกคามที่จะเกิดแก่คนทำงานในสภาพแวดล้อมนั้นได้

หากยังไม่เคยมีการตรวจวัดระดับสิ่งคุกคามในสิ่งแวดล้อมเลย แพทย์อาชีวเวชศาสตร์อาจต้องทำการเดินสำรวจโรงงานเพื่อดูว่ามีความจำเป็นจะต้องทำการตรวจวัดระดับสิ่งคุกคามใดบ้างหรือไม่ หากมีความจำเป็นก็ควรแนะนำให้ทางโรงงานจัดให้มีการตรวจวัดขึ้น โดยให้นักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมเป็นผู้มาตรวจวัด หากมีการตรวจวัดแล้ว แต่ยังไม่ถูกต้องหรือยังไม่เหมาะสม เช่น ตรวจวัดสารเคมีผิดตัว ความถี่ในการตรวจน้อยเกินไป วัดผิดจุด วัดผิดตำแหน่ง ก็ต้องแนะนำให้ทางโรงงานจัดการตรวจวัดเพิ่มเติมให้ถูกต้องด้วย นอกจากนี้การจัดเก็บข้อมูลการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อม ก็ควรจัดเก็บไว้อย่างมีระบบเพื่อให้สามารถนำข้อมูลมาประเมินย้อนหลังได้

3. การแจ้งผลการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อม

เมื่อวิเคราะห์ผลการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมในภาพรวม และรายละเอียดในแต่ละจุดตรวจวัดเรียบร้อยแล้ว ควรทำการแจ้งผลการวิเคราะห์นี้แก่ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ว่าผลการตรวจวัดระดับสิ่งคุกคามที่พบเกินกว่าค่ามาตรฐานที่ยอมรับได้หรือไม่ หากผลการตรวจวัดมีค่าเกินกว่าค่ามาตรฐานที่ยอมรับได้ และการประเมินความเสี่ยงก็พบว่ามีความเสี่ยงที่คนทำงานจะได้รับอันตราย ก็ควรทำการแก้ไขที่สิ่งแวดล้อมการทำงานก่อนเป็นอันดับแรก เพราะเป็นการแก้ไขที่ต้นเหตุของปัญหา การปล่อยให้คนทำงานมีความเสี่ยง หรือสัมผัสสิ่งคุกคามจนเป็นโรค แล้วค่อยมาแก้ไขโดยการรักษาโรคทีหลังนั้นไม่ใช่ตัวเลือกที่ถูกต้องนัก การแก้ไขที่สิ่งแวดล้อมการทำงานให้ดีที่สุดก่อนเป็นสิ่งที่เหมาะสมกว่า

4. การประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ

เมื่อได้ทำการควบคุมแก้ไขที่สิ่งแวดล้อมแล้ว จึงมาทำการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพที่คนทำงานเป็นอันดับต่อไป การประเมินทำเพื่อให้ทราบว่าสิ่งคุกคามที่คนทำงานสัมผัสนั้นจะสร้างความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพมากน้อยเพียงใด ขั้นตอนของการประเมินความเสี่ยงประกอบด้วย (1) การบ่งชี้สิ่งคุกคาม (hazard identification) (2) การประเมินขนาดการสัมผัสกับผลกระทบที่เกิดขึ้น (dose-response assessment) (3) การประเมินการสัมผัส (exposure assessment) และ (4) การอธิบายลักษณะของความเสี่ยง (risk characterization) เมื่อทำการประเมินความเสี่ยงแล้ว แพทย์ควรส่งต่อข้อมูลความเสี่ยงที่ประเมินได้ให้นายจ้างจัดการความเสี่ยง (risk management) รวมทั้งทำการสื่อสารความเสี่ยง (risk communication) ให้ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างเข้าใจด้วย

การศึกษาข้อมูลของโรงงาน การดูรายละเอียดของการทำงานแผนกต่างๆ การพิจารณาความเหมาะสมของการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อม การค้นหาสิ่งคุกคามภายในโรงงาน การประเมินความเสี่ยง รวมถึงการออกแบบการตรวจสุขภาพของคนทำงานให้ตรงตามความเสี่ยงที่ได้รับนั้น แพทย์อาชีวเวชศาสตร์สามารถทราบข้อมูลได้จากการเดินสำรวจโรงงาน (walkthrough survey) การเดินสำรวจโรงงานนี้เป็นเครื่องมือสำคัญ ที่ช่วยให้แพทย์อาชีวเวชศาสตร์สามารถทราบข้อมูลความเสี่ยงภายในโรงงานได้เป็นอย่างดี

5. การเฝ้าระวังสุขภาพของคนทำงาน

เมื่อประเมินความเสี่ยงจนทราบว่าคนทำงานใดมีความเสี่ยงอะไรบ้างแล้ว การดำเนินการเฝ้าระวังสุขภาพของคนทำงาน (health surveillance) เป็นลำดับขั้นที่สามารถดำเนินการได้ต่อไป ความเสี่ยงในการเกิดโรคที่แพทย์สามารถเฝ้าระวังได้นั้น ไม่เพียงแต่ความเสี่ยงจากในงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงความเสี่ยงจากปัจจัยส่วนบุคคล เช่น อายุ เพศ พันธุกรรม และความเสี่ยงจากพฤติกรรมสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การเฝ้าระวังทางสุขภาพนั้น จัดเป็นหน้าที่หลักอย่างหนึ่งของแพทย์อาชีวเวชศาสตร์

แนวทางการเฝ้าระวังสุขภาพ สามารถทำได้โดยการออกแบบการตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงที่คนทำงานแต่ละคนหรือแต่ละแผนกได้รับ เช่น คนที่ทำงานสัมผัสฝุ่นหิน มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคปอดฝุ่นหิน ก็ควรออกแบบการตรวจสุขภาพให้สอดคล้องกับความเสี่ยง โดยการแนะนำให้ตรวจภาพรังสีทรวงอก (chest X-ray) และ ตรวจสมรรถภาพปอด (lung function test) เป็นต้น การค้นหาความผิดปกตินั้น สามารถค้นหาได้ทั้งจาก การซักประวัติ (history taking) การตรวจร่างกาย (physical examination) และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (laboratory investigation)

การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อดูว่าคนทำงานมีการสัมผัสสิ่งคุกคามหรือไม่ การสัมผัสมีมากน้อยเพียงใด โดยการส่งตรวจระดับของสิ่งคุกคามใน เลือด ปัสสาวะ เส้นผม หรืออากาศที่หายใจออกมานั้น มีชื่อเรียกเฉพาะว่า “การเฝ้าระวังทางชีวภาพ” (biological monitoring) สารเคมีที่ตรวจมีคำศัพท์เรียกเฉพาะว่า “ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ” (biological marker) การตรวจเฝ้าระวังทางชีวภาพนี้ เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ช่วยในการประเมินว่าคนทำงานสัมผัสกับสิ่งคุกคามมากน้อยเพียงใด ซึ่งแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ควรพิจารณาเลือกการตรวจที่ถูกต้องเหมาะสมให้แก่โรงงานด้วย

กระบวนการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ รวมถึงการเฝ้าระวังทางชีวภาพ ทั้งหมดถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเฝ้าระวังสุขภาพ (health surveillance) ของคนทำงาน ในทางปฏิบัติอาจเรียกรวมขั้นตอนเหล่านี้ว่าการตรวจสุขภาพทางอาชีวเวชศาสตร์ (occupational health examination) ก็ได้ การตรวจสุขภาพเป็นทักษะสำคัญที่แพทย์อาชีวเวชศาสตร์จะต้องทำการฝึกฝนให้เชี่ยวชาญอยู่เสมอ เนื่องจากเป็นหน้าที่หลักของแพทย์ที่จะดำเนินการในส่วนนี้ หากแพทย์สามารถตรวจสุขภาพได้อย่างเหมาะสมและเชี่ยวชาญแล้ว ก็จะทำให้มีโอกาสตรวจพบความผิดปกติของร่างกายคนทำงานได้มากขึ้น และตรวจพบได้รวดเร็ว ทำให้คนทำงานมีโอกาสได้รักษาตัวตั้งแต่ที่โรคยังมีอาการไม่มาก รวมทั้งโรงงานก็จะได้มีข้อมูลเพื่อรีบไปดำเนินการแก้ไขทางด้านสิ่งแวดล้อมการทำงานให้ดีขึ้น เพื่อไม่ให้คนทำงานเกิดอันตรายต่อสุขภาพอีก

การตรวจสุขภาพทางอาชีวเวชศาสตร์นั้น ทำได้ในหลายโอกาส ตั้งแต่คนเข้ามาทำงานจนถึงออกจากงานไป จุดมุ่งหมายของการตรวจนั้นมีอยู่ 2 ประการหลัก คือ (1) ตรวจเพื่อหาความผิดปกติที่อาจเกิดเป็นโรคหรือเป็นอันตรายขึ้น ไม่ว่าโรคนั้นจะเกิดจากการทำงานหรือเกิดจากปัจจัยส่วนบุคคลก็ตาม เมื่อตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจะได้รีบทำการรักษา (2) ตรวจเพื่อประเมินความพร้อมในการทำงาน (fitness for work) หากพบว่าร่างกายไม่พร้อมที่จะทำงานจะได้ให้หยุดทำงานที่เสี่ยงจะทำให้เกิดอันตรายนั้นไว้ก่อน และรีบทำการแก้ไขฟื้นฟูจนร่างกายแข็งแรงดีหรือไม่เสี่ยงจนเกินไปแล้ว จึงค่อยให้กลับมาทำงานนั้น อย่างไรก็ตามจุดมุ่งหมายใหญ่ของการตรวจสุขภาพนั้นก็คือ ตรวจเพื่อหวังให้คนทำงานมีสุขภาพดีและเกิดความปลอดภัยในการทำงานสูงสุดนั่นเอง

ตัวอย่างของการตรวจสุขภาพทางอาชีวเวชศาสตร์ ได้แก่ การตรวจสุขภาพก่อนจ้างงาน (pre-employment health examination) การตรวจสุขภาพก่อนเข้าประจำตำแหน่งงาน (pre-placement health examination) การตรวจสุขภาพตามระยะเวลา (periodic health examination) การตรวจสุขภาพเพื่อดูความพร้อมในการทำงาน (fitness for work health examination) เช่น การตรวจเพื่อดูความพร้อมในการทำงานในที่อับอากาศ (fitness for work in confined-space) การตรวจเพื่อดูความพร้อมในการทำงานดำน้ำ (fitness to dive) การตรวจเพื่อดูความพร้อมก่อนกลับเข้าทำงาน (return to work health examination) และก่อนที่คนทำงานจะเกษียณหรือออกจากงานไปก็สามารถจัดให้มีการตรวจสุขภาพได้ด้วย (retirement and exit health examinations)

6. แนะนำมาตรการป้องกันและควบคุมสิ่งคุกคามต่อสุขภาพ

เป็นหน้าที่อย่างหนึ่งที่แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ต้องร่วมกับบุคลากรสาขาอาชีพอื่น ในการแนะนำโรงงานถึงแนวทางการป้องกัน (prevent) และควบคุม (control) สิ่งคุกคามต่อสุขภาพ การดำเนินการป้องกันและควบคุมนั้นทำโดยใช้หลักการทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรม คือการควบคุมที่แหล่งกำเนิด (source) ที่ทางผ่าน (pathway) และที่ตัวคน (person) การควบคุมควรใช้วิธีการทางด้านวิศวกรรม (engineering control) แก้ไข และใช้การบริหารจัดการ (administrative control) ช่วยเสริม

หากข้อมูลในการตรวจสุขภาพทางอาชีวเวชศาสตร์ แสดงผลว่าคนทำงานมีความผิดปกติจำนวนมาก หรือพบความผิดปกติที่สำคัญ ก็จะเป็นข้อแนะนำที่สำคัญที่ทำให้โรงงานต้องรีบดำเนินการแก้ไขสภาพสิ่งแวดล้อมการทำงานให้ดีขึ้น การวิเคราะห์ข้อมูลผลการตรวจสุขภาพทางด้านอาชีวเวชศาสตร์จึงมีความสำคัญในส่วนนี้ด้วย

7. การจัดการปฐมพยาบาลและแผนรองรับเหตุฉุกเฉิน

การจัดการปฐมพยาบาล (first aid) นั้น แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ร่วมกับพยาบาลอาชีวอนามัยควรจัดให้มีการเตรียมความพร้อมไว้ด้วย เนื่องจากเมื่อเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานขึ้นเมื่อใด คนทำงานจะได้รับการปฐมพยาบาลที่ถูกต้องเหมาะสมในเบื้องต้น เช่น การทำแผล การล้างสารเคมีออกจากตัว การช่วยฟื้นคืนชีวิต ทำให้สามารถส่งตัวไปทำการรักษาที่โรงพยาบาลต่อได้อย่างปลอดภัย การจัดระบบการปฐมพยาบาลนี้ รวมตั้งแต่การอบรมความรู้ให้คนทำงานสามารถปฐมพยาบาลเพื่อนร่วมงานได้ การจัดให้มีห้องปฐมพยาบาล การจัดให้มีพยาบาลคอยดูแล การจัดให้มีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลที่เพียงพอ เช่น ผ้าพันแผล ยา น้ำเกลือ ที่ล้างตา อ่างล้างมือ ฝักบัวล้างตัว การจัดให้มีรถสำหรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน และการจัดแผนการทำหน้าที่ของฝ่ายต่างๆ ไว้รองรับเมื่อเกิดมีอุบัติเหตุจากการทำงานขึ้นด้วย

ในด้านการจัดแผนรองรับเหตุฉุกเฉินนั้น ก็มีความสำคัญไม่น้อยเช่นกัน โรงงานทุกแห่งมีโอกาสประสบกับภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ ได้ การจัดเตรียมแผนความพร้อมไว้ย่อมเป็นการรอบคอบ ซึ่งจะช่วยให้ลดความสูญเสียทั้งต่อชีวิตของคนทำงานและทรัพย์สินของโรงงานได้ การจัดแผนเตรียมความพร้อมที่ดีอาจทำให้โรงงานยังสามารถดำเนินการผลิตต่อไปได้แม้ต้องประสบกับภัยพิบัติบางอย่างที่ยังมีความรุนแรงไม่มากนัก แผนรับมือเหตุฉุกเฉินที่นิยมมีการจัดเตรียมไว้ เช่น แผนรับมืออัคคีภัย แผนรับมืออุบัติภัยสารเคมีรั่วไหล แผนรับมือน้ำท่วมและพายุ แผนรับมือโรคระบาด เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ แผนรับมือการก่อการร้าย เหล่านี้เป็นต้น การซ้อมแผนตามช่วงเวลาจะช่วยให้คนทำงานมีความพร้อมและสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งการประสานงานร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ก็จะได้มีการประเมินประสิทธิภาพไว้ด้วย ในแผนภัยพิบัติไม่ว่าแผนใดก็ตาม จะต้องมีการเตรียมความพร้อมในส่วนที่เกี่ยวกับผู้บาดเจ็บหรือเจ็บป่วย แพทย์อาชีวเวชศาสตร์จึงมักต้องมีส่วนเกี่ยวข้องในการวางแผนเหล่านี้ด้วยเสมอ

8. การจัดบริการสุขภาพ

การจัดบริการสุขภาพเป็นบริการที่แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ดำเนินการร่วมกับพยาบาลอาชีวอนามัย เพื่อจัดให้โรงงานได้รับบริการสุขภาพหรือบริการทางการแพทย์ในเบื้องต้นที่สมควรได้รับ ในบทบาทของแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ บริการทางสุขภาพที่แพทย์จะสามารถทำให้แก่โรงงานได้นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ

(1) การให้บริการสุขภาพในบริบทที่แพทย์ทั่วไปควรให้บริการกับประชาชน ซึ่งมีทั้งในส่วนของ การป้องกัน การวินิจฉัย และการรักษาโรค แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ที่ดีควรสามารถให้บริการสุขภาพทั่วไปเหล่านี้ให้แก่โรงงานได้ด้วย ตัวอย่างของบริการด้านการป้องกัน เช่น การฉีดวัคซีน การให้คำแนะนำทางสุขศึกษา การวินิจฉัยโรคทั่วไปที่ไม่ได้เกิดจากการทำงาน นอกจากนี้ยังอาจรวมถึงการตรวจรักษาโรคทั่วไปด้วย (ในประเด็นการตรวจรักษาโรคทั่วไปนั้น หากโรงงานตั้งอยู่ในเมืองหรือพื้นที่ที่มีการบริการทางสาธารณสุขที่ดีแล้ว บทบาทของแพทย์อาชีวเวชศาสตร์มักจำกัดอยู่ที่การตรวจวินิจฉัยและให้การปฐมพยาบาลในเบื้องต้น ส่วนการรักษานั้นนิยมส่งต่อให้คนทำงานไปรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งจะถูกต้องเหมาะสมกว่าการรักษาที่โรงงานจนหายจากโรค เนื่องจากโรงพยาบาลมักมีเครื่องมือ ยา และแพทย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญพร้อมมากกว่าอย่างมาก แต่หากที่ทำงานนั้นเป็นพื้นที่ห่างไกล (remote area) เช่น ในแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเล การสร้างเขื่อนในป่าลึก การรักษาโรคทั่วไปจนหายหรืออาการดีขึ้นย่อมยังต้องอาศัยแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่เป็นหลัก เนื่องจากการขนส่งคนทำงานที่เจ็บป่วยมาเป็นระยะทางไกลโดยไม่ได้รักษาอาจจะเป็นอันตรายต่อคนทำงานนั้นมากกว่า)

(2) การให้บริการวินิจฉัยโรคจากการทำงาน เนื่องจากการวินิจฉัยโรคจากการทำงานนั้น เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะของแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ หากเกิดพบประเด็นสงสัยโรคจากการทำงานขึ้น จึงเป็นหน้าที่หลักของแพทย์ที่จะวินิจฉัยโรคว่าเป็นจากการทำงานหรือไม่ การวินิจฉัยโรคจากการทำงานนี้ จะนำไปสู่การปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงาน การเบิกเงินชดเชยให้แก่คนทำงานที่เจ็บป่วย และการเก็บสถิติเพื่อป้องกันโรคต่อไป

9. การจัดบริการฟื้นฟูสภาพ

หากพนักงานเกิดการเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ จนทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพขึ้นอย่างมาก แพทย์อาชีวเวชศาสตร์มีหน้าที่ดำเนินการร่วมกับบุคลากรวิชาชีพอื่นๆ เพื่อดูแลผู้ป่วยกลับเข้าทำงาน (return to work management) โดยแพทย์อาชีวเวชศาสตร์เป็นผู้ตรวจประเมินความพร้อมในการกลับเข้าทำงาน หากคนทำงานนั้นยังไม่พร้อม ก็จัดให้มีบริการฟื้นฟูสภาพ (rehabilitation) แก่คนทำงานนั้น เช่น ส่งตัวไปทำกายภาพบำบัด (physical therapy) อาชีวบำบัด (occupational therapy) รวมถึงทำอวัยวะเทียมและกายอุปกรณ์ (prosthesis and orthosis) ที่โรงพยาบาลหรือศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพ ช่วยเหลือจนคนทำงานนั้นสามารถกลับมาทำงานได้อีกครั้งหนึ่ง

10. การปรับงานให้เหมาะกับคนทำงาน

การปรับสภาพพื้นที่ทำงาน (work station) ให้เหมาะสมกับคนทำงานนั้น แพทย์อาชีวเวชศาสตร์มีบทบาทในการเสนอแนะแนวทางแก้ไขให้กับโรงงานได้ หากพบว่ามีความไม่เหมาะสม หน้าที่ในการปรับสภาพที่ทำงานนี้ บทบาทหลักจะดำเนินการโดยบุคลากรหลายสาขาอาชีพ โดยเฉพาะ วิศวกร นักออกแบบ ช่าง เจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย นักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม และผู้เชี่ยวชาญทางด้านการยศาสตร์ การปรับปรุงแก้ไขนี้ ทำเพื่อให้ถูกต้องตามหลักการอาชีวอนามัย (คือทำให้คนทำงานสัมผัสสิ่งคุกคามน้อยลง) เช่น แก้ไขเครื่องจักรให้ปล่อยไอสารเคมีออกมาน้อยลง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น เช่น แก้ไขเครื่องจักรที่ไม่มีที่กำบังให้มีกำบัง ป้องกันการบาดเจ็บต่อมือคนทำงาน แก้ไขเพื่อให้ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ (คือทำให้ทำงานได้อย่างสะดวกขึ้น) เช่น แก้ไขเก้าอี้นั่งทำงานให้มีพนักและปรับระดับได้เพื่อให้พนักงานนั่งทำงานได้สบายขึ้นและไม่เป็นโรคปวดหลัง เหล่านี้เป็นต้น

11. การคุ้มครองกลุ่มเสี่ยง

คนทำงานกลุ่มพิเศษบางกลุ่มมีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคจากการทำงานได้มากกว่าคนทั่วไป เช่น สตรีมีครรภ์ แรงงานเด็ก คนสูงอายุ คนที่มีความไวรับ (susceptible group) คนที่มีภูมิไวเกิน (hypersensitive group) คนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง คนที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง คนเหล่าควรได้รับการคุ้มครองให้มีความปลอดภัยในการทำงานเป็นพิเศษ การประเมินโดยความรู้ของแพทย์อาชีวเวชศาสตร์เพื่อคุ้มครองคนทำงานกลุ่มพิเศษเหล่านี้ จะช่วยให้พวกเขามีความปลอดภัยในการทำงานมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น กรณีของสตรีมีครรภ์ ทารกในครรภ์นั้นจะมีความไวต่อการเกิดโรคพิษตะกั่วมากกว่าคนทั่วไปมาก ในการประเมินความเสี่ยงหากพบว่าคนทำงานสัมผัสไอสารตะกั่วเป็นสตรีมีครรภ์ แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ก็มีหน้าที่แนะนำโรงงานให้คุ้มครองความปลอดภัยของสตรีมีครรภ์นั้น อาจโดยการแก้ไขสภาพแวดล้อมเพื่อลดการสัมผัสไอสารตะกั่วในที่ทำงานลง หรือย้ายไปทำงานอื่นชั่วคราวจนกว่าจะคลอดบุตร เป็นต้น

12. การฝึกอบรมและการให้ข้อมูล

การฝึกอบรม (training) และการให้ข้อมูล (information) แก่คนทำงานนั้น จะช่วยให้คนทำงานมีความรู้ด้านสุขภาพ สามารถดูแลสุขภาพของตนเองได้ดีขึ้น การฝึกอบรมและให้ข้อมูลนี้เป็นงานที่แพทย์อาชีวเวชศาสตร์และบุคลากรสาขาอาชีพอื่นสามารถดำเนินการได้ร่วมกัน หัวข้อในการฝึกอบรมนั้น มีได้ตั้งแต่ การให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งคุกคามที่สัมผัส วิธีการทำงานให้เกิดความปลอดภัย การใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลอย่างถูกวิธี การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ความรู้เกี่ยวกับโรคจากการทำงาน ความรู้เกี่ยวกับโรคระบาดหรือโรคที่กำลังเป็นประเด็นน่าสนใจ ไปจนถึงความรู้ทั่วไปด้านสุขภาพ

13. การจัดบริการส่งเสริมสุขภาพ

เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญในการดูแลสุขภาพของคนทำงาน การจัดกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพ (health promotion) ภายในโรงงานนั้น โดยทั่วไปแพทย์อาชีวเวชศาสตร์จะดำเนินงานเสริมกับพยาบาลอาชีวอนามัย และบุคลากรสาขาอาชีพอื่นที่เกี่ยวข้อง กิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพนี้ จะช่วยให้คนทำงานมีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น เจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ลดน้อยลง การขาดงานเนื่องจากการเจ็บป่วยมีโอกาสลดลงได้ จึงถือว่ามีประโยชน์ต่อคนทำงานและองค์กรอย่างมาก

กิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพที่นิยมดำเนินการมีหลากหลายกิจกรรม เช่น การจัดกิจกรรมการออกกำลังกาย (exercise program) การจัดกิจกรรมลดความอ้วนและลดไขมันในเลือด (reduce body weight and reduce lipid level) การจัดการด้านความสะอาดปลอดภัยของโรงอาหารและดูแลด้านโภชนาการ (canteen management program) การจัดโครงการอนุรักษ์การได้ยิน (hearing conservation program; HCP) การจัดบริการสายด่วนดูแลปัญหาด้านจิตใจ (employee assistant program; EAP) การจัดบริการเลิกบุหรี่ (smoking cessation program) การจัดกิจกรรมปลอดยาเสพติดหรือโรงงานสีขาว (drug-free workplace) เหล่านี้เป็นต้น

กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพแบบต่างๆ นั้น มักจะมีการตั้งชื่อเรียกให้แตกต่างกันไปในแต่ละแห่ง ส่วนหนึ่งอาจเนื่องจากจะเป็นการทำให้คนทำงานเกิดความสนใจและมาเข้าร่วมกิจกรรมกันมากขึ้น แต่ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไรก็ตาม เนื้อแท้แล้วกิจกรรมเหล่านี้ทั้งหมดจัดทำขึ้นเพื่อมุ่งหวังส่งเสริมให้คนทำงานมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดีขึ้นในด้านใดด้านหนึ่งนั่นเอง

14. การจัดระบบการจัดเก็บข้อมูล

การจัดเก็บข้อมูลทางด้านสุขภาพอย่างเป็นระบบนั้น จะช่วยให้โรงงานสามารถนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อดำเนินการพัฒนาแก้ไขปัญหาสุขภาพให้กับคนทำงานได้อย่างดียิ่งขึ้น ข้อมูลที่ควรทำการจัดเก็บไว้ เช่น ข้อมูลผลการตรวจวัดระดับสิ่งคุกคามในสิ่งแวดล้อม ข้อมูลเอกสารความปลอดภัยในการทำงานกับสารเคมี (safety data sheet หรือ SDS ซึ่งจะเป็นเอกสารที่มีข้อมูลสมบัติทางเคมี ความเป็นพิษ และวิธีการดูแลรักษาหากได้รับพิษจากสารเคมีชนิดนั้นระบุไว้) ข้อมูลผลการเดินสำรวจโรงงานของผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ข้อมูลผลการตรวจเฝ้าระวังทางชีวภาพ ข้อมูลผลการตรวจสุขภาพประจำปี เหล่านี้เป็นต้น

ระบบการจัดเก็บมีสิ่งที่ควรคำนึงถึงคือ (1) จะจัดเก็บในรูปแบบใด หากโรงงานมีคนทำงานจำนวนไม่มากอาจจัดเก็บในรูปแบบเอกสาร ใส่แฟ้มไว้ แต่หากมีคนทำงานอยู่จำนวนมาก เช่น องค์กรที่มีพนักงานอยู่หลายพันคน การจัดเก็บข้อมูลสุขภาพในรูปแบบแฟ้มเอกสารอาจไม่เหมาะสมนัก เพราะจะค้นหาหรือนำมาวิเคราะห์ได้ลำบาก การจัดเก็บในรูปแบบไฟล์คอมพิวเตอร์จะเหมาะสมกว่า การใช้พื้นที่สำหรับเก็บ ในกรณีของเอกสารในรูปแบบแฟ้มจะต้องใช้พื้นที่มาก และหากไม่จัดเรียงให้เป็นสัดส่วนก็อาจสูญหายได้ง่าย โดยเฉพาะกรณีที่โรงงานมีคนทำงานจำนวนมาก แต่หากเป็นเอกสารในรูปแบบไฟล์คอมพิวเตอร์ก็จะประหยัดพื้นที่กว่า หากเก็บในรูปแบบไฟล์คอมพิวเตอร์ ก็ต้องดูด้วยว่าจะจัดเก็บโดยใช้โปรแกรมชนิดใด ใช้โปรแกรมระบบปฏิบัติการสำนักงานเท่านั้นก็เพียงพอ หรือว่าต้องใช้โปรแกรมจัดการฐานข้อมูล ปัจจัยในการเลือกขึ้นอยู่กับจำนวนข้อมูล ความรู้ความสามารถในการจัดการข้อมูลของบุคลากร และงบประมาณที่มี เป็นหลัก (2) จะให้ใครจัดเก็บ ตัวอย่างเช่น ผลการตรวจสุขภาพประจำปีของคนทำงานในโรงงาน โดยทั่วไปผู้ที่มีหน้าที่เก็บข้อมูลนี้ อาจเป็นพยาบาลที่ห้องพยาบาล หรืออาจเก็บไว้ที่แผนกทรัพยากรมนุษย์ หรือโรงงานที่มีแผนกอาชีวอนามัยและความปลอดภัย อาจเก็บไว้ที่แผนกอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ต้องทำการพิจารณาผู้เก็บให้เหมาะสมด้วย (3) การเข้าถึงข้อมูล ควรต้องกำหนดว่าบุคคลใด หรือแผนกใด สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนไหนได้บ้าง โดยเฉพาะข้อมูลผลการตรวจสุขภาพของคนทำงานนั้น จัดว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคล โดยทั่วไปจะนำมาเปิดเผยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของข้อมูลไม่ได้ การจำกัดการเข้าถึงข้อมูลเพื่อเป็นการรักษาความลับให้กับเจ้าของผลตรวจสุขภาพจึงเป็นสิ่งที่ต้องกระทำ

ระบบการจัดเก็บข้อมูลที่ดีนั้น เป็นส่วนหนึ่งของระบบการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจากการทำงานเช่นกัน การจัดเก็บที่ดีจะทำให้ข้อมูลไม่สูญหาย ค้นหามาใช้ประโยชน์ในภายหลังได้ง่าย ที่สำคัญคือจะทำให้สามารถวิเคราะห์ปัญหาในภาพรวมทั้งองค์กรได้ด้วย ตัวอย่างเช่น การเก็บข้อมูลผลการตรวจสุขภาพประจำปีเอาไว้ทุกปีนั้น ทำให้วิเคราะห์เปรียบเทียบได้ว่า พนักงานในแผนกเจียรเหล็กมีผลตรวจสมรรถภาพการได้ยินลดลงทุกปีแทบทุกคน ซึ่งจะนำไปสู่การค้นหาสาเหตุและแก้ไขปัญหาได้ หรือการวิเคราะห์ทำให้พบว่า พนักงานสำนักงานจำนวนมากมีปัญหาเรื่องไขมันในเลือดสูง ซึ่งก็จะนำไปสู่การค้นหาสาเหตุและแก้ไขปัญหาได้เช่นกัน เหล่านี้เป็นต้น

15. การวิจัย

นอกเหนือจากการให้บริการสุขภาพแก่คนทำงานในโรงงานแล้ว แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ยังสามารถมีบทบาทในการทำวิจัยเพื่อเพิ่มองค์ความรู้ให้มากขึ้นโดยอาศัยความร่วมมือกับโรงงานที่ทำงานอยู่ด้วย การทำวิจัยนั้นเป็นประโยชน์ทั้งกับทางโรงงานเอง เพราะจะทำให้โรงงานได้มีองค์ความรู้ไว้ดูแลสุขภาพของคนทำงานให้ดีขึ้น และหากผลการวิจัยอันเป็นประโยชน์นั้นได้รับการเผยแพร่ไปในวงกว้างแล้ว องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยก็ยังจะเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติที่สามารถนำความรู้นั้นไปใช้ได้อีกด้วย

การบริการทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่แพทย์อาชีวเวชศาสตร์สามารถดำเนินการให้กับโรงงานได้ โดยอาจทำเป็นผู้ดำเนินการหลัก หรือเป็นผู้แนะนำ ส่งเสริม สนับสนุน จัดเตรียม จัดหา หรือดำเนินการร่วมกับบุคลากรสาขาอาชีพอื่นก็ได้ การดำเนินการอาจมีความแตกต่างกันไปในโรงงานแต่ละแห่ง ไม่จำเป็นว่าทุกโรงงานจะต้องดำเนินการครบหมดทุกข้อ การจะดำเนินการกิจกรรมใด ทำมากหรือน้อยเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ปัญหาด้านสุขภาพที่เด่นชัดที่โรงงานประสบ ชนิดของสิ่งคุกคามที่มีปัญหามากที่สุดในโรงงานนั้น จำนวนของคนทำงาน วัฒนธรรมขององค์กร นโยบายของผู้บริหาร รวมถึงงบประมาณที่มีในการแก้ไขปัญหาด้วย

หนังสืออ้างอิง

  1. สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์. ตำราอาชีวเวชศาสตร์เบื้องต้น. กรุงเทพมหานคร: บุ๊คเน็ท; 2547.
  2. Rom WN. The discipline of environmental and occupational medicine. In: Rom WN, Markovitz SB, editors. Environmental and occupational medicine. 4th ed. Philadelphia: Lippincott Williams & Wilkins; 2007. p. 3-8.