ประวัติของวิชาอาชีวเวชศาสตร์

บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

เรียบเรียงโดย พญ.จุฑารัตน์ จิโน

วันที่เผยแพร่ 20 เมษายน 2562

แหล่งที่มา หนังสือแรกเริ่มเรียนรู้อาชีวเวชศาสตร์ (พิมพ์ครั้งที่ 3)


วิชาอาชีวเวชศาสตร์นั้น แม้ว่าจะเป็นวิชาที่ค่อนข้างใหม่สำหรับวงการแพทย์ แต่แท้ที่จริงแล้ววิชานี้มีประวัติมายาวนานหลายร้อยปี ในอดีต แพทย์และนักวิชาการหลายท่านให้ความสนใจในเรื่องผลของการทำงานที่ทำให้เกิดโรค รวมถึงการดูแลสุขภาพของคนทำงาน ความรู้ในวิชาอาชีวเวชศาสตร์นั้นถูกสะสมมาตั้งแต่ยุคโบราณ เฟื่องฟูขึ้นในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม และพัฒนามาจนถึงยุคปัจจุบัน บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ที่ผู้ศึกษาวิชาอาชีวเวชศาสตร์ควรรู้จักไว้ มีดังนี้

ฮิปโปเครตีส (Hippocrates; 460 – 377 ปี ก่อนคริสตกาล) ได้สังเกตอาการของผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม และมุ่งเน้นในเรื่องความสมดุลของสภาพร่างกายกับสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำ อากาศ และสถานที่ นอกจากนี้ยังสังเกตพบอาการปวดร้าวขา (sciatica) ในนักรบที่ขี่ม้าอยู่เป็นเวลานาน เป็นตัวอย่างของนักปราชญ์ในยุคโบราณที่ให้ความสำคัญในเรื่องสุขภาพกับสิ่งแวดล้อมและลักษณะการทำงาน

พาราเซลซัส (Paracelsus หรือ Theophrastus Bombastus von Hoehenheim; ค.ศ. 1493 – 1541) ถูกยกย่องให้เป็นบิดาแห่งพิษวิทยา เขาเป็นผู้กล่าวประโยคอมตะประโยคหนึ่งไว้ว่า “All substances are poisons; there is none which is not a poison. The right dose differentiates a poison and remedy” แปลเป็นไทยได้ว่า “ทุกสิ่งในโลกนี้ล้วนเป็นพิษ ไม่มีสิ่งใดเลยในโลกนี้ที่ไม่เป็นพิษ ขนาดการรับสัมผัสเท่านั้นที่จะเป็นตัวกำหนดระดับความเป็นพิษของทุกสิ่ง” แนวคิดจากประโยคนี้ยังคงถูกใช้เป็นพื้นฐานของวิชาพิษวิทยามาจนถึงปัจจุบัน พาราเซลซัสเป็นผู้มีคุณูปการในวงการอาชีวเวชศาสตร์ในฐานะเป็นผู้ศึกษาโรคระบบทางเดินหายใจในคนงานเหมืองถ่านหินและคนงานหลอมโลหะ

รามาซซินี (Bernardino Ramazzini; ค.ศ. 1633 – 1714) แพทย์ชาวอิตาลี ได้รับการยกย่องจากทั่วโลกให้เป็นบิดาแห่งอาชีวเวชศาสตร์ เขาเป็นผู้เขียนตำราด้านอาชีวเวชศาสตร์เล่มแรกของโลกที่ชื่อว่า “De Morbis Artificum Diatriba” ในปี ค.ศ. 1700 ตำรานี้ต่อมาถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษในปี ค.ศ. 1940 ในชื่อ “Diseases of Workers” หรือแปลเป็นไทยคือ “โรคของคนทำงาน” หนังสือนี้ทำให้ชาวโลกได้รู้จักเขาในวงกว้างขึ้น รามาซซินีได้ทุ่มเททำการศึกษาเกี่ยวกับโรคของคนอาชีพต่างๆ เช่น คนขุดแร่ ช่างทาสี ช่างทอง ช่างเป่าแก้ว ช่างปั้นหม้อ หมอตำแย ไปจนถึงคนทำงานนั่งโต๊ะ และเขียนสิ่งที่ตรวจพบลงในหนังสือ “De Morbis Artificum Diatriba” แต่ละบทแยกไว้เป็นหมวดหมู่ ข้อศึกษาของรามาซซินีพบว่าความเจ็บป่วยของคนทำงานเหล่านี้มาจากไอควันที่เป็นพิษและจากท่าทางการทำงานที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งความรู้ที่กล่าวมายังคงเป็นหลักการพื้นฐานที่ใช้ได้ในวงการอาชีวเวชศาสตร์มาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้เขายังค้นพบว่าช่างเป่าแก้วที่ทำงานไปนานๆ จะมีปัญหาสายตา ช่างปั้นหม้อที่ใช้สารตะกั่วทาเคลือบหม้ออาจได้รับพิษจากงานที่ทำ และคนไข้ที่ได้รับการรักษาโดยการฉีดปรอทเหลวเข้าในร่างกายอาจเกิดอาการพิษทางระบบประสาท ข้อความรู้ที่กล่าวมาทั้งหมดยังคงเป็นความจริงมาจนถึงปัจจุบันนี้

ผลงานของรามาซซินี เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้แพทย์ทั่วโลกหันมาสนใจปัญหาโรคที่เกิดจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น คำถามหนึ่งที่รามาซซินีเสนอให้แพทย์ทุกคนถามผู้ป่วยเพื่อหาสาเหตุของการเกิดโรคก็คือ “What is your occupation?” หรือแปลเป็นไทยได้ว่า “คุณทำงานอะไร?” ประโยคคำถามนี้ยังคงเป็นคำถามที่มีประโยชน์สำหรับแพทย์ ที่จะช่วยในการค้นหาสาเหตุของโรคและรักษาผู้ป่วยมาจนถึงทุกวันนี้

เพอร์ซิวาล พอตต์ (Percival Pott; ค.ศ. 1714 – 1788) เป็นผู้ค้นพบว่าโรคมะเร็งถุงอัณฑะ (scrotal cancer) มีความสัมพันธ์กับการสัมผัสเขม่าในเด็กที่ทำงานทำความสะอาดปล่องไฟ (chimney sweep) ในเมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ พอตต์เชื่อว่าเขม่า (soot) ที่ติดสะสมอยู่ที่ถุงอัณฑะเป็นสาเหตุทำให้เกิดมะเร็งขึ้น จึงนับว่าเป็นแพทย์คนแรกที่ค้นพบการเกิดโรคมะเร็งจากการทำงาน

โทมัส มอร์ริสัน เลก (Thomas Morrison Legge; ค.ศ. 1863 – 1932) แพทย์ชาวอังกฤษ เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนางานทางด้านอาชีวเวชศาสตร์ เขาเป็นแพทย์ที่ทำหน้าที่ผู้ตรวจสอบโรงงาน (medical inspector) คนแรกของโลก และยังได้ทำการศึกษาความรู้เกี่ยวกับพิษของตะกั่ว ฟอสฟอรัส สารหนู และปรอท เพิ่มเติมขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นผู้เสนอให้บรรจุวิชาอาชีวเวชศาสตร์เข้าไว้ในหลักสูตรของโรงเรียนแพทย์อีกด้วย

อลิซ ฮาร์มิลตัน (Alice Hamilton; ค.ศ. 1869 – 1970) แพทย์หญิงผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นแพทย์ผู้บุกเบิกงานด้านอาชีวเวชศาสตร์คนแรกของประเทศสหรัฐอเมริกา ฮาร์มิลตันเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคพิษตะกั่ว เธอได้ศึกษาอันตรายจากสารตะกั่วในโรงงานหลายแห่งในประเทศอเมริกา นอกจากนี้ยังได้ศึกษาพิษของสารอื่นๆ เช่น พิษของฟอสฟอรัสที่ทำให้เกิดการย่อยสลายของกระดูกขากรรไกร (phossy jaw) ในคนงานทำไม้ขีดไฟ พิษของแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ที่เกิดในคนงานโรงหลอมเหล็ก พิษของไนโตรกลีเซอรีนที่พบในคนงานทำกระสุนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือกลุ่มอาการนิ้วตาย (dead finger) ที่พบในคนที่ใช้เครื่องเจาะหิน (jackhammer) ยุคเริ่มแรก ฮาร์มิลตันยังเป็นนักกิจกรรมสังคม และเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการดูแลสุขภาพคนทำงานให้ดีขึ้น เธอได้เขียนหนังสือที่มีชื่อเสียงไว้สองเล่มชื่อ “Industrial Poisons” และ “Exploring the Dangerous Trades”

สำหรับประเทศไทยนั้น ผู้บุกเบิกงานด้านอาชีวเวชศาสตร์ให้เกิดขึ้นได้คือ ศาสตราจารย์แพทย์หญิง มาลินี วงศ์พานิช (หรือ ฮัจญะ มาเรียม อะมัน; ประมาณ พ.ศ. 2475 – 2545 หรือ ประมาณ ค.ศ. 1932 – 2002) ท่านจบการศึกษาด้านอาชีวเวชศาสตร์จาก London school of hygiene and tropical medicine และกลับมาทำงานที่มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ก่อตั้งภาควิชาอาชีวอนามัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลขึ้น ซึ่งภาควิชานี้ เป็นแหล่งผลิตนักวิชาการด้านอาชีวอนามัยและเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยให้กับประเทศออกมาเป็นจำนวนมาก แพทย์หญิงมาลินี วงศ์พานิช ยังเป็นผู้วางรากฐานหลักสูตรแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และพยาบาลอาชีวอนามัย โดยดำเนินงานร่วมกับกรมการแพทย์ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งชมรมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ ที่มีชื่อว่า “ชมรมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์แห่งประเทศไทย” ขึ้น

หนังสืออ้างอิง

  1. Ramazzini B. De Morbis Artificum Diatreba. 1710 - 1713.

  2. Gochfeld M. Chronologic history of occupational medicine. JOEM 2005;47(2):96-114.

  3. Rom WN. The discipline of environmental and occupational medicine. In: Rom WN, Markovitz SB, editors. Environmental and occupational medicine. 4th ed. Philadelphia: Lippincott Williams & Wilkins; 2007. p. 3-8.