เรียบเรียงโดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์
วันที่เผยแพร่ 3 ตุลาคม 2557
ปัญหาสมรรถภาพการได้ยินที่ลดลงนั้น เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งต่อการดำเนินชีวิต เนื่องจากทำให้ผู้ป่วยมีประสิทธิภาพของการสื่อสารลดลง ไม่สามารถติดต่อกับผู้อื่นได้ตามปกติ ผลที่เกิดขึ้นอาจทำให้เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต การทำงาน การสันทนาการ และส่งผลกระทบต่อจิตใจ [1] ผู้ป่วยที่มีปัญหาสมรรถภาพการได้ยินลดลงนี้ ในบางสาเหตุหากได้รับการตรวจพบแล้วทำการรักษาหรือใช้เครื่องช่วยฟัง อาจมีการได้ยินที่ดีขึ้น ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
การตรวจคัดกรองสมรรถภาพการได้ยินเพื่อค้นหาผู้ป่วยที่มีปัญหาสมรรถภาพการได้ยินผิดปกตินั้น เป็นวิธีการที่จะช่วยค้นหาความผิดปกติชนิดนี้ในประชากรได้ อันจะนำไปสู่การค้นหาสาเหตุและการดูแลรักษาต่อไป การทดสอบสมรรถภาพการได้ยินด้วยเครื่องตรวจสมรรถภาพการได้ยิน (Audiometry) ที่ดำเนินการและแปลผลโดยผู้เชี่ยวชาญ เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการใช้คัดกรองสุขภาพคนทำงานได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตามในบางสถานการณ์ที่มีข้อจำกัด เช่น ในท้องถิ่นทุรกันดาร หรือการดูแลประชากรในพื้นที่ยากจนซึ่งไม่มีเครื่องตรวจการได้ยิน การทดสอบเสียงกระซิบ (Whispered voice test) เป็นทางเลือกหนึ่ง ที่ผู้ดูแลสุขภาพปฐมภูมิสามารถนำมาใช้เป็นการทดสอบเพื่อคัดกรองสมรรถภาพการได้ยินในเบื้องต้นได้ รายละเอียดของการทดสอบชนิดนี้ เป็นดังต่อไปนี้
การทดสอบเสียงกระซิบ เป็นการทดสอบที่ใช้ประเมินสมรรถภาพการได้ยินในประชากร โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือ สามารถทำได้แม้ในหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ ไม่ทำให้ผู้เข้ารับการทดสอบเจ็บตัว และไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงอันตรายต่อผู้เข้ารับการทดสอบ แต่การทดสอบนี้เป็นเพียงแค่การทดสอบคัดกรองในเบื้องต้นเท่านั้น โดยการทดสอบใช้หลักการที่ว่า หากผู้เข้ารับการทดสอบไม่สามารถได้ยินและเข้าใจเสียงกระซิบของผู้ทำการทดสอบได้แล้ว ผู้เข้ารับการทดสอบนั้นน่าจะมีปัญหาในเรื่องสมรรถภาพการได้ยิน
วิธีการทำการทดสอบเสียงกระซิบนั้นปัจจุบันยังไม่มีแนวทางที่กำหนดไว้ให้ปฏิบัติชัดเจน รายละเอียดการทดสอบชนิดนี้ในเวชปฏิบัติแต่ละแห่งหรือในงานวิจัยแต่ละฉบับยังมีความแตกต่างกันอยู่หลายแบบ ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างวิธีการทดสอบที่มีการใช้ในงานวิจัยหลายฉบับวิธีการหนึ่ง ดังนี้ [2- 4]
ผลจากการทบทวนข้อมูลงานวิจัยอย่างเป็นระบบ [5] พบว่าการทดสอบเสียงกระซิบนี้ หากเปรียบเทียบกับการทดสอบสมรรถภาพการได้ยินด้วยเครื่องตรวจการได้ยินซึ่งเป็นการทดสอบมาตรฐานแล้ว ในประชากรที่เป็นผู้ใหญ่ (อายุตั้งแต่ 17 ปีขึ้นไป) การทดสอบนี้จะมีค่าความไว (Sensitivity) อยู่ที่ร้อยละ 90 – 100 และมีค่าความจำเพาะ (Specificity) อยู่ที่ร้อยละ 80 – 87 ค่า Positive likelihood ratio อยู่ในช่วง 4.6 – 7.7 และค่า Negative likelihood ratio อยู่ในช่วง 0 – 0.12 ซึ่งหมายถึงการทดสอบนี้มีความไวสูง มีความจำเพาะพอใช้ได้ มีโอกาสพบผลบวกจริงอยู่มากพอควร และแทบไม่มีโอกาสพบผลลบลวง
เนื่องจากการทดสอบนี้ประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่ต้องใช้เครื่องมือ และไม่อันตราย จึงอาจสามารถนำการทดสอบนี้มาใช้เป็นการทดสอบเบื้องต้นได้ในสถานการณ์ที่มีความจำกัดของทรัพยากร แต่หากทดสอบผลแล้วพบว่าผู้เข้ารับการทดสอบ “ไม่ผ่าน” การทดสอบ ผู้ดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิก็ควรส่งผู้เข้ารับการทดสอบนั้น มาทดสอบสมรรถภาพการได้ยินด้วยเครื่องตรวจการได้ยิน และพบกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุต่อไป
ข้อจำกัดของการทดสอบนี้ที่ยังต้องมีการศึกษาวิจัยและพัฒนากันต่อไปก็คือ [5] การทดสอบนี้ยังไม่มีแนวทางปฏิบัติที่กำหนดไว้ชัดเจน รายละเอียดการทดสอบของแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน เช่น ระยะห่างของผู้ทำการทดสอบกับผู้เข้ารับการทดสอบ การเลือกใช้การออกเสียงตัวเลขหรือตัวอักษรในการทดสอบ โดยเฉพาะปัจจัยสำคัญหนึ่งที่อาจทำให้เกิดความแตกต่างของผลการทดสอบได้มาก คือระดับเสียงที่กระซิบของผู้ทำการทดสอบแต่ละคนที่อาจแตกต่างกัน ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้ต้องใช้การทดสอบเสียงกระซิบนี้คัดกรองโรคด้วยความระมัดระวัง
เอกสารอ้างอิง