คู่มือการลงรหัส ICD-10 สำหรับโรคจากการประกอบอาชีพ

หนังสือเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

ชื่อหนังสือ: คู่มือการลงรหัส ICD-10 สำหรับโรคจากการประกอบอาชีพ (ICD-10 for Occupational Health Conditions)

คลิกที่ภาพเพื่อดาวน์โหลด

ชื่อหนังสือ

คู่มือการลงรหัส ICD-10 สำหรับโรคจากการประกอบอาชีพ (ICD-10 for Occupational Health Conditions)

เรียบเรียงโดย

วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์

วันที่เผยแพร่

15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

จำนวนหน้า

64 หน้า

เกี่ยวกับเนื้อหา

คู่มือการลงรหัส ICD-10 สำหรับโรคจากการประกอบอาชีพฉบับนี้ เนื้อหาหลักอ้างอิงมาจากเอกสารขององค์การอนามัยโลกเรื่อง International Statistical Classification of Diseases and Related Health Problems (ICD-10) in Occupational Health ซึ่งจัดทำขึ้นในปี ค.ศ. 1999 จุดมุ่งหมายที่จัดทำฉบับภาษาไทยขึ้น วัตถุประสงค์เพื่อเป็นคู่มือสำหรับช่วยให้บุคลากรในสถานพยาบาลต่างๆ สามารถลงรหัส ICD-10 โรคจากการประกอบอาชีพได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และช่วยในการพัฒนาระบบรายงานสถิติโรคจากการประกอบอาชีพสำหรับประเทศไทย นอกจากเอกสารขององค์การอนามัยโลกที่เป็นต้นฉบับแล้ว ผู้เรียบเรียงยังได้อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากเอกสารอื่นๆ มาเพิ่มเติมด้วย ตามที่ปรากฏในรายการอ้างอิงท้ายเล่ม

เนื้อหาภายในแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 เป็นหลักการพื้นฐานในการลงรหัส ICD-10 โรคจากการประกอบอาชีพ ซึ่งได้พยายามถอดความจากต้นฉบับภาษาอังกฤษให้มีใจความคล้ายคลึงของเดิมมากที่สุด ส่วนที่ 2 ของคู่มือเป็นรายการรหัสโรค ได้จัดทำไว้ในรูปแบบสองภาษา (ไทย – อังกฤษ) เพื่อให้ผู้อ่านที่ไม่คุ้นเคยกับชื่อโรคภาษาอังกฤษเกิดความเข้าใจได้เมื่อนำไปใช้งาน ส่วนของรายการรหัสโรคนี้ ชื่อโรคและชื่อสิ่งคุกคามที่เป็นภาษาอังกฤษ ผู้เรียบเรียงใช้คำเดิมตามต้นฉบับภาษาอังกฤษ ส่วนชื่อโรคและชื่อสิ่งคุกคามที่เป็นภาษาไทย จะยึดตามหนังสือบัญชีจำแนกโรคระหว่างประเทศ (ICD-10) ฉบับภาษาไทย ของกระทรวงสาธารณสุข (พ.ศ. 2541) หรือหนังสือมาตรฐานการวินิจฉัยโรคจากการทำงานฉบับเฉลิมพระเกียรติ ของกระทรวงแรงงาน (พ.ศ. 2550) เล่มใดเล่มหนึ่งเป็นหลัก ขึ้นอยู่กับว่าคำแปลในหนังสือเล่มใดจะอ่านเข้าใจง่ายกว่ากัน ในบางโรคอาจมีการปรับคำเรียกชื่อโรคให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายขึ้นโดยผู้เรียบเรียงเอง ซึ่งจะเลือกใช้คำที่นิยมเรียกกันอยู่ในวงการอาชีวอนามัยปัจจุบันเป็นส่วนมาก อย่างไรก็ดี หากเกิดปัญหาในการทำความเข้าใจชื่อโรคที่เป็นภาษาไทย ให้ดูชื่อโรคภาษาอังกฤษเพื่ออ้างอิงประกอบแทน เนื้อหาในรายการโรคบางหัวข้อ โดยเฉพาะหัวข้อโรคติดเชื้อจากการประกอบอาชีพ อาจไม่ตรงกับต้นฉบับภาษาอังกฤษเดิมทั้งหมด เนื่องจากผู้เรียบเรียงได้ตัดบางโรคที่พบไม่บ่อยในประเทศไทยออก (เช่น ทูลารีเมีย เป็นต้น) และนำบางโรคที่พบบ่อยกว่าในประเทศไทยมาใส่ไว้แทน (เช่น มาลาเรีย เมลิออยโดสิส เป็นต้น)

การแปลเนื้อหาจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ได้พยายามถอดความโดยยึดหลักให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายเป็นหลัก และทำการตรวจสอบการสะกดและสำนวนให้มีความถูกต้องแล้ว แต่หากยังมีการใช้คำผิดในส่วนใด หรืออ่านแล้วทำให้รู้สึกติดขัด ผู้เรียบเรียงต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย