แนวทางการตรวจและแปลผลสมรรถภาพการได้ยินในงานอาชีวอนามัย

หนังสือเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

ชื่อหนังสือ: แนวทางการตรวจและแปลผลสมรรถภาพการได้ยินในงานอาชีวอนามัย (Guideline for Standardization and Interpretation of Audiometry in the Occupational Health Setting)

คลิกที่ภาพเพื่อดาวน์โหลด

ชื่อหนังสือ

แนวทางการตรวจและแปลผลสมรรถภาพการได้ยินในงานอาชีวอนามัย พ.ศ. 2561 (Guideline for Standardization and Interpretation of Audiometry in the Occupational Health Setting, 2018 Version)

เรียบเรียงโดย

มูลนิธิสัมมาอาชีวะ

วันที่เผยแพร่

12 ตุลาคม พ.ศ. 2561

จำนวนหน้า

176 หน้า

เกี่ยวกับเนื้อหา

การตรวจสมรรถภาพการได้ยินด้วยเครื่องตรวจสมรรถภาพการได้ยินนั้น เป็นการตรวจที่มีประโยชน์อย่างมากในงานอาชีวอนามัย เนื่องจากเป็นการตรวจที่ทำได้ค่อนข้างง่าย และมีราคาไม่แพง การตรวจนี้เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้บุคลากรทางด้านอาชีวอนามัยสามารถประเมินระดับสมรรถภาพการได้ยินในคนทำงาน เพื่อประโยชน์ในการประเมินสุขภาพคนทำงาน และในการป้องกันโรคประสาทหูเสื่อมจากเสียงดัง (Noise-induced hearing loss) นอกจากนี้ การตรวจสมรรถภาพการได้ยินในงานอาชีวอนามัย ยังมีประโยชน์ในแง่ใช้เป็นเครื่องชี้วัดในการประเมินประสิทธิภาพของการจัดทำโครงการอนุรักษ์การได้ยิน (Hearing conservation program) ในสถานประกอบการต่างๆ ตามกฎหมายของประเทศไทยอีกด้วย

แต่การตรวจสมรรถภาพการได้ยินในงานอาชีวอนามัยอย่างมีคุณภาพนั้น ก็จัดว่าเป็นความท้าทายต่อผู้ให้บริการทางการแพทย์อย่างหนึ่ง เนื่องจากการตรวจสมรรถภาพการได้ยินในงานอาชีวอนามัยมีวัตถุประสงค์เพื่อการคัดกรองและป้องกันโรคเป็นหลัก จึงมีรายละเอียดและเทคนิคการตรวจที่แตกต่างไปจากการตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคที่มีการตรวจกันตามสถานพยาบาลโดยปกติทั่วไป อีกทั้งการตรวจยังมักต้องให้บริการแก่คนทำงานจำนวนมาก ในเวลาที่จำกัด และบางครั้งต้องเข้าไปทำการตรวจในสถานประกอบการ ซึ่งอาจมีระดับเสียงในพื้นที่การตรวจดังกว่าการตรวจภายในพื้นที่ของสถานพยาบาล ปัจจัยเหล่านี้ ล้วนมีผลต่อคุณภาพของการตรวจสมรรถภาพการได้ยินในงานอาชีวอนามัยทั้งสิ้น

เพื่อให้แนวทางการตรวจและแปลผลสมรรถภาพการได้ยินในงานอาชีวอนามัยของผู้ให้บริการทางการแพทย์แต่ละรายในประเทศไทย มีความเป็นมาตรฐาน เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มูลนิธิสัมมาอาชีวะจึงได้จัดทำ “แนวทางการตรวจและแปลผลสมรรถภาพการได้ยินในงานอาชีวอนามัย พ.ศ. 2561” ฉบับนี้ขึ้น โดยมุ่งหวังให้เป็นแนวทางกลาง สำหรับผู้ให้บริการทางการแพทย์ของประเทศไทยได้นำไปใช้อ้างอิง ประกอบการทำงานอย่างมีคุณภาพ และถูกต้องตามหลักวิชาการ

มูลนิธิสัมมาอาชีวะหวังเป็นอย่างยิ่งว่า “แนวทางการตรวจและแปลผลสมรรถภาพการได้ยินในงานอาชีวอนามัย พ.ศ. 2561” ฉบับนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพคนทำงานของประเทศไทยต่อไปในอนาคต