ผลต่อสุขภาพจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้ากำลังอ่อน (ELF-EMF)

บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

เรียบเรียงโดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์

วันที่เผยแพร่ 11 มิถุนายน 2556


บทนำ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มีความสนใจที่เพิ่มขึ้นของผลจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้ากำลังอ่อนหรือ Extremely Low Frequency Electromagnetic Field (ELF-EMF) ต่อผลของสุขภาพ รายงานทางการแพทย์หลายฉบับกล่าวถึงผลในการก่อมะเร็ง ผลต่อระบบสืบพันธุ์ และผลต่อระบบประสาทพฤติกรรมศาสตร์ ปัจจุบันแม้จะยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในแง่มุมทั้งหมด แต่ก็เริ่มมีข้อมูลบางอย่างที่ทำให้เราพอทราบถึงผลต่างๆ เหล่านี้ได้บ้างแล้ว จึงได้ทำการสรุปรวบรวม และนำมาเสนอในบทความนี้

คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากับสุขภาพ

รังสี (Radiation) ที่เราพบในชีวิตประจำวันนั้น ในบางสภาวะพบว่าสามารถก่ออันตรายแก่สุขภาพของเราได้ ในการแบ่งประเภทของรังสีตามผลต่อสุขภาพ เราแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ ionizing radiation กับ non-ionizing radiation

Ionizing radiation หรือรังสีที่ทำให้แตกตัว คือรังสีกำลังสูงที่มีคุณสมบัติทำให้อะตอม (atom) หรือโมเลกุล (molecule) ของสารที่รังสีนั้นไปตกกระทบ เกิดการแยกอนุภาคอิเล็กตรอน (electron) ออกไป สารที่ถูกรังสีตกกระทบนั้น จึงกลายเป็นอนุมูลอิสระ (free radical) ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งในสิ่งมีชีวิตได้ รังสีเหล่านี้มีทั้งที่อยู่ในรูปอนุภาคและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

  • รังสีในรูปอนุภาค (particle) เช่นรังสีแอลฟา (alpha) รังสีเบต้า (beta) ซึ่งเกิดจากการสลายตัวของสารกัมมันตรังสีตามธรรมชาติ และอนุภาคที่ปกติไม่ได้เกิดการสลายตัวของสารกัมมันตรังสีตามธรรมชาติ แต่เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์เช่น โปรตรอน (proton) โพรสิตรอน (positron) มิวออน (muon) และมีซอนประจุ (charge mesons) จะเห็นว่าอนุภาคที่มีประจุส่วนใหญ่ ล้วนทำตัวเป็น ionizing radiation ได้ทั้งสิ้น
  • รังสีในรูปคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งสามารถทำตัวเสมือนเป็นอนุภาคได้ (photon) ส่วนใหญ่เป็นรังสีกำลังสูงคือรังสีเอ็กซ์ (X-ray) และรังสีแกมมา (gamma ray) แต่ในบางกรณีก็พบว่ารังสีอัลตร้าไวโอเล็ต (ultraviolet) ที่มีกำลังความถี่สูง ก็สามารถทำตัวเป็น ionizing radiation ได้เช่นกัน (1)

Non-ionizing radiation หรือรังสีที่ไม่ทำให้แตกตัว เป็นรังสีที่มีกำลังต่ำกว่า จึงไม่ทำให้เกิดการแตกตัวของอิเล็กตรอนของอะตอมหรือโมเลกุลที่ไปตกกระทบ รังสีเหล่านี้จะอยู่ในรูปคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทั้งหมด ไล่เรียงตามความถี่ (frequency) จากสูงไปต่ำคือ รังสีอัลตร้าไวโอเล็ต (ultraviolet) แสง (visible light) รังสีอินฟราเรด (infra red) คลื่นไมโครเวฟ (microwave) คลื่นวิทยุ (radiofrequency) และคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากำลังอ่อน (ELF-EMF) รังสีเหล่านี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้มากมาย แต่เมื่อมาตกกระทบกับร่างกายมนุษย์ จะก่อให้เกิดผลต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นได้ทั้งประโยชน์และโทษ เช่นคลื่นไมโครเวฟเมื่อเข้าสู่ร่างกายนั้นทำให้เกิดความร้อน ซึ่งเอามาใช้ประโยชน์ในทางกายภาพบำบัดในปัจจุบัน ส่วนรังสีอัลตร้า ไวโอเล็ตก็มีการนำมาใช้ฉายแสงรักษาโรคสะเก็ดเงิน แสงแดดก็กระตุ้นให้เกิดการสร้างวิตามินดีในร่างกาย ในแง่ของการเกิดโทษเมื่อสัมผัสกับร่างกายนั้น พบได้ว่ามีรายงานการเกิดผลต่อสุขภาพในผู้ที่สัมผัสรังสีเหล่านี้มากผิดปกติได้ ทุกชนิดซึ่งในบทความนี้ จะได้กล่าวถึงเฉพาะผลต่อสุขภาพจาก ELF-EMF โดยละเอียดต่อไป

อะไรคือสนามแม่เหล็กไฟฟ้า

Electromagnetic Field (EMF) หรือสนามเหล็กไฟฟ้า คือสนามทางกายภาพ ที่เกิดจากความต่างศักดิ์ของประจุไฟฟ้า 2 แหล่ง ทำให้เกิดคลื่นเคลื่อนที่จากแหล่งกำเนิดไปในทุกทิศทางอย่างไม่มีจุดสิ้นสุด สนามแม่เหล็กไฟฟ้านี้แยกได้เป็นสนามแม่เหล็ก (magnetic field) กับสนามไฟฟ้า (electric field) ซึ่งทั้ง 2 สนามจะวางตัวตั้งฉากกัน

อะไรคือสนามคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากำลังอ่อน

สนามคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากำลังอ่อน หรือ Extremely Low Frequency Electromagnetic Field (ELF-EMF) คือสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่คลื่นในช่วง 3 – 3,000 Hz ซึ่งเป็นความถี่คลื่นในระดับต่ำมาก โดยความถี่ที่ได้รับความสนใจว่าจะมีผลต่อสุขภาพมากที่สุดคือความถี่ที่ 50 – 60 Hz ซึ่งเป็นความถี่ของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดจากกระแสไฟฟ้าที่ใช้อยู่ตามบ้านเรือนนั่นเอง (ในประเทศอเมริกาใช้ระบบความถี่ 60 Hz ส่วนประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่จะใช้ระบบความถี่ 50 Hz รวมถึงประเทศไทยด้วย) ความถี่ระดับนี้เป็นความถี่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ต่ำกว่าความถี่ของคลื่น microwave และ radiofrequency เสียอีก

หน่วยวัดระดับของสนามแม่เหล็กไฟฟ้านั้น แม้จะมีทั้งสนามแม่เหล็กและสนามไฟฟ้าอยู่ด้วยกัน แต่เวลาวัดจะใช้คนละหน่วย ระดับของสนามไฟฟ้าจะใช้หน่วย Volts/meter (V/m) ส่วนระดับของสนามแม่เหล็กจะใช้หน่วย Tesla หรือ gauss (1 Tesla = 10,000 gauss) ซึ่งในการศึกษาเกี่ยวกับเรื่อง ELF-EMF นี้ จะวัดระดับสนามแม่เหล็กในระดับ microTesla (uT) หรือ milligauss (mG) เสียเป็นส่วนมาก เนื่องจากคลื่นมีกำลังต่ำดังกล่าวแล้ว ในเรื่องของการเกิด health effects นั้น สนามแม่เหล็กดูเหมือนจะมีโอกาสทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้มากกว่า เนื่องจากสามารถผ่านทะลุเข้าไปในร่างกายได้โดยจะไม่มีการลดระดับลงเลย แต่เนื่องจากสนามทั้ง 2 ชนิดนี้มักเกิดขึ้นร่วมกัน จึงมักจะทำการพิจารณาผลเสียต่อสุขภาพที่เกิดขึ้นไปร่วมกัน

ELF-EMF เป็นสิ่งที่พบอยู่รอบตัวเราในชีวิตประจำวัน และคนทุกคนต้องมีโอกาสได้สัมผัส ที่พบบ่อยที่สุด คือสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่อยู่รอบสายไฟฟ้า ทั้งจากเสาไฟฟ้าทั่วไปและเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง สนามแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาไฟฟ้าทั่วไปซึ่งมีกำลังไฟฟ้า 8 – 24 kV จะน้อยกว่าจากสายส่งไฟฟ้าแรงสูงซึ่งมีกำลังไฟฟ้าสูงถึง 765 kV เลยทีเดียว สำหรับภายในบ้านก็มีการสัมผัส ELF-EMF ได้เช่นกัน ส่วนใหญ่มาจากสายไฟภายในบ้าน และบางส่วนส่งออกมาจากอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่นหม้อแปลง โทรทัศน์ เครื่องดูดฝุ่น เครื่องเป่าผม เครื่องผสมอาหาร คอมพิวเตอร์ หรือรถจักรยานยนต์ เป็นต้น

ระยะทาง (distance) ที่สนามแม่เหล็กไฟฟ้าไปถึงได้หรือวัดค่าได้นั้น แตกต่างกันไปในแต่ละแหล่งกำเนิด โดยทั่วไปสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดจากอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้านต่างๆ จะมีระยะทางไม่เกิน 1 – 2 เมตรเท่านั้น แต่สนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดจากเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง จะมีระยะทางได้ถึง 50 – 150 เมตร (2) การวัดระดับสนามแม่เหล็กไฟฟ้าในที่ทำงานทั่วไป มักพบระดับที่ 0.1 – 10 uT แต่ถ้าเป็นคนทำงานใกล้อุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดใหญ่เช่นหม้อแปลงจะได้รับสนามแม่เหล็กไฟฟ้ามากกว่านั้น ในบ้านโดยทั่วไปมีระดับที่ 0.1 uT ในขณะที่บ้านที่อยู่ใกล้สายส่งไฟฟ้าแรงสูง พบว่ามีระดับสนามแม่เหล็กไฟฟ้าสูงกว่า อาจวัดได้ถึง 5 – 10 uT เลยก็เป็นได้ (3)

ปัจจุบันมีรายงานการศึกษาวิจัยหลายฉบับ พบว่าการสัมผัสสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ELF-EMF โดยตรงอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพขึ้นได้ในหลายระบบ ดังต่อไปนี้

ผลก่อมะเร็ง

การศึกษาทางระบาดวิทยาหลายการศึกษา พบประเด็นการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก (childhood leukemia) สัมพันธ์กับการพักอาศัยอยู่บริเวณใกล้เสาไฟฟ้าแรงสูง แม้ในช่วงต้นความสัมพันธ์จะยังดูไม่ชัดเจนนัก แต่การศึกษาที่ทำต่อๆ มา ดูเหมือนความสัมพันธ์นี้จะชัดเจนขึ้น

ในปี ค.ศ. 1797 Wertheimer and Leeper (4) ได้ทำการศึกษาในรัฐ Colorado สหรัฐอเมริกาพบว่าเด็กที่บ้านอยู่ใกล้เสาส่งไฟฟ้าแรงสูงจะป่วยเป็น leukemia, lymphoma และ nervous system cancer มากกว่ากลุ่มควบคุม ข้อมูลที่พบดูเหมือนว่าเด็กที่ยิ่งบ้านอยู่ใกล้ และใช้เวลาอยู่ในบ้านนานเท่าใด ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น (dose-response relationship) การศึกษานี้ เริ่มทำให้เกิดความสนใจในหมู่นักวิชาการ ในเรื่องผลของสนามแม่เหล็กไฟฟ้ากำลังอ่อนที่ก่อให้เกิดมะเร็ง

การศึกษาแบบ case-control study ขนาดใหญ่ขึ้น โดย Savitz (5) ในปี ค.ศ.1988 โดยทำในรัฐ Denver และ Colorado ของสหรัฐอเมริกา ศึกษาในผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งชนิดต่างๆ เช่น leukemia, lymphoma และ soft tissue sarcoma จำนวน 356 คน ซักประวัติย้อนหลังและทำการประเมินขนาดการสัมผัสโดยวัดปริมาณสนามแม่เหล็กไฟฟ้าและดูขนาดของสายไฟ (wire code) รอบบ้านของผู้เข้าร่วมการศึกษาแต่ละคนด้วย พบว่าผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็ง มีความสัมพันธ์กับการมีสายไฟแบบแรงสูง (high current configuration) มากกว่ากลุ่มควบคุม ส่วนการวัดสนามแม่เหล็กที่ 60 Hz ในบ้านนั้นกลับไม่พบความสัมพันธ์กับโรคมะเร็ง การศึกษานี้ทำให้เกิดคำถามใหม่ขึ้นว่า ขนาดของสายไฟที่อยู่รอบบริเวณบ้านจะเป็นตัวบ่งบอกปริมาณสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่เด็กได้รับและมีผลต่อการเป็นมะเร็งหรือไม่ อย่างไรก็ดี ผู้ทำการศึกษานี้ก็ได้ให้ข้อคิดเห็นไว้ว่า การศึกษาของเขายังมีความจำกัดในเรื่องการประเมินการสัมผัส เทคนิคการวัดสนามแม่เหล็กไฟฟ้า และเรื่องการย้ายที่อยู่อาศัยไปมาของผู้เข้าร่วมการศึกษาแต่ละคน

ในปี ค.ศ. 1997 Linet (6) และคณะได้ทำการศึกษาแบบ case-control study โดยจำเพาะเจาะจงโรค Acute Lymphoblastic Leukemia (ALL) ว่ามีความสัมพันธ์กับการอาศัยในบริเวณใกล้เคียงกับสนามแม่เหล็กไฟฟ้าหรือไม่ แต่กลับได้ผลที่แตกต่างออกไป โดยได้ทำการศึกษาในผู้ป่วยเด็กโรค ALL 638 ราย และกลุ่มควบคุม 620 ราย ทำการวัดระดับสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่ 60 Hz ในห้องนอนของเด็ก และห้องอื่นๆ รวมทั้งบริเวณหน้าบ้านอีก 3 – 4 จุด และทำการประเมินขนาดการได้รับสนามแม่เหล็กจากขนาดสายไฟ (wire code) โดยดูจากขนาดของเสาไฟฟ้าและระยะห่างของสายส่งกับบ้าน การศึกษานี้ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการเป็นโรค ALL ในเด็กกับการสัมผัสสนามแม่เหล็กไฟฟ้า OR 1.24 (95%CI 0.86 – 1.79) ทั้งจากการประเมินจากการวัดระดับสนามแม่เหล็กโดยตรงและจากการแบ่งกลุ่มตาม wire code

ผลการวิจัยแบบ case-control study ซึ่งได้ผลแตกต่างกันหลายการศึกษา ได้ถูกนำมารวมและทำการวิเคราะห์ใหม่ในปี ค.ศ.2000 โดยคณะของ Ahlbom (7) ผลจากการทำ pooled analysis ครั้งนี้ได้ผลรวมจากการศึกษา 9 การศึกษา ออกมาไปในแนวทางว่า การสัมผัส ELF-EMF โดยการอาศัยอยู่ในบ้านที่ใกล้สายส่งไฟฟ้าแรงสูง อาจจะมีความสัมพันธ์กับการเกิด childhood leukemia จริงถ้าหากระดับสนามแม่เหล็กไฟฟ้าในบ้านสูงกว่า 0.4 uT estimated RR = 2.0 (95%CI 1.27 – 3.13) แต่คณะวิจัยให้ความเห็นว่าการแสดงความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นนี้ก็ยังไม่ชัดเจนเนื่องจากการประเมินการสัมผัสที่ยังอาจมีความลำเอียง และไม่สามารถอธิบายกลไกที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์นี้ขึ้นได้ด้วย

ทางองค์กร IARC ซึ่งมีหน้าที่ประเมินความเสี่ยงในการก่อมะเร็งของสารหรือสภาวะต่างๆ ได้ทำการสรุปข้อมูลในปี ค.ศ. 2001 และจัดกลุ่ม ELF-EMF ไว้เป็น carcinogen class IIB คือมีโอกาสเป็นสภาวะที่ก่อมะเร็งในคนได้ แต่ก็ยังมีข้อมูลไม่ชัดเจนเพียงพอ

ในปี ค.ศ. 2002 คณะผู้วิจัยของ Savitz นำโดย Kaune (8) ได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมจากการศึกษาเดิมในปี ค.ศ.1988 โดยได้กลับไปทำการศึกษาที่รัฐ Denver ใช้ชื่อการศึกษาว่า Back To Denver Study (BTD study) ทำการวัดสนามแม่เหล็กในห้องนอน ห้องนั่งเล่น และห้องกินข้าวในบ้านของ subject แต่ละคนที่คลื่นความถี่ 60 Hz, 180 Hz และแบบ Harmonic (60 – 420 Hz) พบว่าระดับสนามแม่เหล็กที่ความถี่ 180 Hz และ Harmonic มีความสัมพันธ์กับขนาดของสายไฟ ซึ่งสนับสนุนแนวคิดจากการศึกษาเดิมว่าบ้านที่มี wire code เป็นแบบ high current configuration จะทำให้เด็กเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็ง

การศึกษาขนาดใหญ่ถัดมาในปี ค.ศ. 2004 ซึ่งทำในประเทศญี่ปุ่น โดยคณะของ Mizoue (9) พบความสัมพันธ์อย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ของการอาศัยอยู่ใกล้บริเวณเสาไฟฟ้าแรงสูงกับ childhood leukemia เช่นกัน โดย incidence rate ratio = 2.2 (95%CI 0.5 – 9.0)

สำหรับมะเร็งจากการสัมผัส ELF-EMF จากการทำงานนั้น ไม่มีผลการศึกษาที่มีแนวทางชัดเจน แม้ว่าจะมีการศึกษาความสัมพันธ์ของคนทำงานที่มีโอกาสสัมผัส ELF-EMF สูงกว่าคนทั่วไป กับ leukemia หรือ brain cancer บ้างแล้ว แต่ผลที่ได้ก็ไม่ได้ชี้ชัดว่าเพิ่มความเสี่ยงหรือไม่ (10-13)

อย่างไรก็ดีการศึกษาทั้งหมดที่พบนี้ ล้วนแต่เป็นการศึกษาทางด้านระบาดวิทยาทั้งสิ้น สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็นจะต้องใช้อธิบายผลการเกิดมะเร็งหรือผลต่อสุขภาพอื่นๆ ที่จะเกิดจาก ELF-EMF ได้คือ กลไกทางด้านชีววิทยา ดังได้กล่าวแล้วว่า ELF-EMF เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากำลังอ่อนในกลุ่ม non-ionizing radiation จึงไม่สามารถอธิบายการเกิดมะเร็งจากการทำให้อะตอมหรือโมเลกุลที่รังสีไปสัมผัสเกิดเป็นอนุมูลอิสระขึ้นได้ มีทฤษฎีบางอย่างพยายามอธิบายกลไกที่จะเกิดผลด้วยวิธีการอื่น เช่นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากำลังอ่อนนี้ อาจไปทำให้การส่งสัญญาณภายในเซลล์ หรือการขนส่งโปรตีนผิดปกติไป หรือทำให้เกิดสภาวะที่ยีนจะทำงานผิดปกติ เป็นต้น

กลไกที่จะก่อมะเร็งได้จากการสัมผัสคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากำลังอ่อนนี้ แม้การทดลองในหลอดทดลอง (in vitro) ก็ยังไม่สามารถแสดงผลได้ชัดเจน หรือหากจะแสดงผลได้ก็ต้องใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้าในระดับที่สูง เช่น 100 uT ขึ้นไปจึงจะเกิดผล ซึ่งแตกต่างจากระดับของ ELF-EMF ที่คนได้รับในชีวิตจริง อีกทั้งผลผิดปกติในหลอดทดลอง ก็อาจจะไม่ได้เกิดผิดปกติจริงๆ เมื่อเกิดในสิ่งมีชีวิตก็ได้

ผลต่อระบบสืบพันธุ์และการคลอดบุตร

สำหรับผลของ ELF-EMF ที่มีต่อการเจริญพันธุ์ (reproductive effect) และการทำให้ทารกเกิดความผิดปกติ (teratogenic effect) นั้น มีการทำการทดลองในตัวอ่อนของสัตว์หลายชนิด และผลการศึกษาเกือบทั้งหมดไม่พบความผิดปกติใดๆ การทดลองที่มีการออกแบบอย่างดีโดยคณะของ Berman (14) ซึ่งทำการศึกษาความผิดปกติในไข่ไก่ที่ได้รับสนามแม่เหล็กไฟฟ้าในห้องปฏิบัติการของหลายประเทศ พบความผิดในไข่ไก่ที่ได้รับสนามแม่เหล็กไฟฟ้ามากกว่ากลุ่มควบคุมเพียงเล็กน้อย

การศึกษาในคนซึ่งทำในพนักงานรับโทรศัพท์หญิงที่บริเวณท้องสัมผัส ELF-EMF จาก Video Display Terminal (VDT) ในการทำงาน เทียบกับพนักงานรับโทรศัพท์หญิงที่ไม่ได้ใช้ VDT ในการทำงาน โดย Schnorr (15) ในปี ค.ศ.1991 นั้นไม่พบความแตกต่างสำหรับความเสี่ยงในการเกิด spontaneous abortion การศึกษาโดย Grajewski (16) ในปี ค.ศ.1997 ซึ่งทำในพนักงานรับโทรศัพท์หญิงเช่นกัน ไม่พบการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิด low birth weight หรือ preterm labor และการศึกษาโดย Lindbohm (17) ในปี ค.ศ.1992 ในเสมียนหญิงที่ใช้ VDT ในการทำงาน ไม่พบการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิด spontaneous abortion เช่นกัน แต่มีข้อน่าสนใจที่พบในการศึกษานี้ว่าในกลุ่มที่สัมผัสสนามแม่เหล็กไฟฟ้ากำลังอ่อนในระดับสูงผิดปกติ อาจจะมีความเสี่ยงในการเกิด spontaneous abortion เพิ่มขึ้นได้

การศึกษาที่พบความผิดปกติในการสัมผัส ELF-EMF ระหว่างตั้งครรภ์อีกกรณีหนึ่งคือ ELF-EMF ที่เกิดจากขดลวดที่ใช้ในเตียงทำความอุ่น ในปี ค.ศ.1986 Wertheimer and Leeper (18) ได้รายงานความผิดปกติของ fetal growth และ spontaneous abortion ซึ่งเกิดเพิ่มขึ้นในบ้านที่ใช้เตียงแบบมีขดลวดทำความอุ่น และมีความสัมพันธ์กับฤดูกาลที่มีการใช้เตียงนี้มากด้วย จึงทำให้เกิดความสนใจขึ้นว่า ผลที่เกิดอาจเป็นจากการสัมผัส ELF-EMF ที่เกิดจากเตียงทำความอุ่น แต่ในการศึกษาลักษณะเดียวกัน ที่ทำต่อๆ มาโดยคณะของ Bracken (19) Shaw (20) และ Lee (21) ไม่มีการศึกษาใดพบความสัมพันธ์ทำนองนี้อีก

การศึกษาผลความผิดปกติของบุตรที่พ่อทำงานใน power plant ซึ่งสัมผัส ELF-EMF ขนาดสูงในประเทศสวีเดนโดย Nordstrom (22) ในปี ค.ศ.1983 พบความผิดปกติที่มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ผู้ศึกษาให้ความเห็นว่าการศึกษายังมีข้อจำกัดเนื่องจากใช้ขนาดตัวอย่างเล็ก การทบทวนการศึกษาที่ทำในประชากรกลุ่มใหญ่ขึ้นต่อมาโดย Tornqvist (23) ในปี ค.ศ.1998 ไม่พบความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นทั้งในแง่ความผิดปกติและมะเร็งของบุตร และการศึกษาในกลุ่มผู้ทำงานใน power plant อีกการศึกษาหนึ่งโดย Knave (24) ในปี ค.ศ.1979 ไม่พบความผิดปกติทางร่างกายใดๆ ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงผลต่อการมีบุตรด้วย

กล่าวโดยสรุปจากหลักฐานที่มีทั้งหมดในปัจจุบันนี้ เรายังไม่พบว่าการสัมผัส ELF-EMF ในระดับที่พบทั่วไปในสิ่งแวดล้อมและการทำงาน จะก่อให้เกิดผลผิดปกติใดๆ ในด้านการเจริญพันธุ์และความผิดปกติต่อบุตร (25, 26)

ผลต่อระบบเลือด, ภูมิคุ้มกัน และต่อมไร้ท่อ

การศึกษาผลของสนามแม่เหล็กไฟฟ้ากำลังอ่อนต่อระบบเลือดและระบบภูมิคุ้มกัน ทั้งที่ทำในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลองมีหลายการศึกษา และใช้ตัวแปรต่างๆ กันในการประเมินผลต่อสุขภาพ (27) เช่น erythrocyte indices, differential WBC count, splenic lymphocyte subgroup analysis, lymphocyte proliferation, T-cell function, natural killer cell activity หรือ antibody cell activity แม้ว่าในบางการศึกษา (28, 29) จะพบตัวแปรทางระบบภูมิคุ้มกันในสัตว์ทดลองที่ผิดปกติไป แต่ความผิดปกติที่เกิดขึ้นนี้ ก็ไม่ได้ทำให้เกิดผลทางกายภาพที่ชัดเจนใดๆ ในสัตว์ทดลอง จึงยังมีข้อจำกัดในการแปลผล และการคาดการณ์ผลที่จะเกิดในมนุษย์

ส่วนการศึกษาทางระบาดวิทยาในมนุษย์นั้น การศึกษาในปี ค.ศ. 2001 โดย Nordenson (30) พบการเกิด chromosomal breaks ของเซลล์ lymphocyte ของคนทำงานขับรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ แต่การศึกษานี้ทำในกลุ่มตัวอย่างเพียง 18 รายและกลุ่มควบคุม 16 รายเท่านั้น และการศึกษาลักษณะคล้ายคลึงกันโดย Bauchinger (31) ในปี ค.ศ.1981 นั้น ไม่พบว่ามี structural chromosomal change หรือ SCE ของ lymphocyte ที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ

มีความสนใจการศึกษาถึงผลการยับยั้งการหลั่งฮอร์โมน melatonin เนื่องจากการสัมผัสสนามแม่เหล็กไฟฟ้ากำลังอ่อนขึ้น เนื่องจากเชื่อว่าฮอร์โมนตัวนี้มีฤทธิ์ oncostatic และ antioxidant ซึ่งการทำงานที่ลดลงของฮอร์โมนนี้อาจอธิบายกลไกการก่อมะเร็งโดย ELF-EMF ได้ การทดลองในหนูโดย Wilson (32, 33) พบการหลั่งของ melatonin ที่ลดลงในหนูที่สัมผัสสนามแม่เหล็กไฟฟ้า แต่ผลการทดลองที่เกิดขึ้นอาจถูกรบกวนได้จากหลายสาเหตุที่จะทำให้ปริมาณการหลั่ง melatonin ของ pineal gland เปลี่ยนแปลงไป การศึกษาความสัมพันธ์ของ melatonin metabolite คือ 6-hydroxymelatonin sulfate (6-OHMS) ในปัสสาวะของผู้ทำงานสัมผัสสนามแม่เหล็กไฟฟ้าโดย Burch (34-36) พบค่าที่ลดลงของ metabolite นี้ และการศึกษาในฟินแลนด์โดย Juutilainen (37) ในผู้หญิงที่ทำงานสัมผัส ELF-EMF เนื่องจากทำงานใกล้เครื่องทอผ้าในช่วงกลางคืนพบการลดลงของ 6-OHMS ในปัสสาวะเช่นกัน การศึกษาโดย Davis (38) ก็พบผลที่สอดคล้องกับการศึกษาอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตามการศึกษาค่าของ 6-OHMS ในปัสสาวะนั้นเป็นเพียงการศึกษาระดับ metabolite ของ melatonin และมีผลกระทบได้จากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งระยะความยาวนานของกลางวัน อายุ ดัชนีมวลกาย การดื่มแอลกอฮอล์และการใช้ยาหลายชนิด เช่น beta-blocker, calcium channel blocker หรือ psychotropic drug

โดยภาพรวมแล้ว ปัจจุบันนี้ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนใดที่บ่งชี้ว่า การสัมผัส ELF-EMF ในระดับที่พบในชีวิตประจำวันหรือการทำงานทั่วไป จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพในด้านระบบเลือด ระบบภูมิคุ้มกัน หรือระบบต่อมไร้ท่อที่ชัดเจน (27, 39)

ผลต่อระบบประสาทพฤติกรรมศาสตร์

เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า มนุษย์เราสามารถสัมผัสถึงสนามไฟฟ้าที่มีกำลังสูงพอได้ (39) ความรู้สึกถึง “ไฟช็อต” นี้เป็นความรู้สึกที่คนโดยทั่วไปไม่ชอบ ส่วนสนามแม่เหล็กยังไม่มีข้อมูลปรากฏแน่ชัดว่ามนุษย์สามารถรู้สึกถึงสนามพลังนี้ แต่สัตว์บางชนิดเช่นนกที่มีพฤติกรรมอพยพย้ายถิ่นนั้น มีข้อมูลว่าสามารถรับรู้และตอบสนองต่อสนามแม่เหล็กแบบ static ของโลกได้ (40) จากแนวคิดนี้อาจมีส่วนให้เชื่อได้ว่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้าอาจมีผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ จึงมีการทดลองหลายอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้

การทดลองดูการเปลี่ยนแปลงของ transmembrane calcium transport ในตัวอย่างเนื้อเยื่อระบบประสาทเมื่อได้รับสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (41) เป็นการทดลองเกี่ยวกับเรื่องนี้ในระยะแรก แม้ผลจะไม่แน่นอน แต่ก็เป็นหัวข้อหนึ่งในการถูกนำมาพิจารณาเพื่ออธิบายผลของ ELF-EMF ต่อระบบประสาท (42)

สำหรับการศึกษาในมนุษย์นั้น เคยมีการศึกษาบางรายงาน (43, 44) พบความเปลี่ยนแปลงของ learning หรือ cognition ในคนงานที่สัมผัสกับ ELF-EMF และในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา ความสนใจในความสัมพันธ์ของ ELF-EMF กับการเกิดโรคเรื้อรังทางระบบประสาทโดยเฉพาะกลุ่ม neurodegenerative disorder คือ Alzheimer's disease (AD) และ amyotrophic lateral sclerosis (ALS) มีมากขึ้น จากการรวบรวมข้อมูลของคณะทำงานทั้ง National Institute of Environmental Health Sciences (NIEHS) working group (39) และ IARC (45) ให้ข้อสรุปออกมาคล้ายคลึงกันคือ ELF-EMF อาจมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคเรื้อรังทางประสาทได้ทั้ง AD และ ALS แม้การสรุปผลจะยังไม่ชัดเจนนักเนื่องจากจำนวนการศึกษาขณะนั้นยังมีน้อย การศึกษาซึ่งทำในช่วงหลังๆ จึงเริ่มมีการออกแบบการศึกษาที่ดีขึ้น และทำให้พบผลความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัส ELF-EMF กับการเกิด AD ที่ค่อนข้างชัดเจนขึ้น (46-48) ส่วนโรค ALS นั้นมีรายงานการศึกษาที่พบความสัมพันธ์กับการสัมผัสกับสนามแม่เหล็กไฟฟ้ามากผิดปกติเช่นกัน (49-51) โดยเฉพาะผลการศึกษาจากสาเหตุการตายของผู้ทำงานในโรงผลิตไฟฟ้า

ในกรณีของโรคทางระบบประสาทพฤติกรรมศาสตร์อื่นๆ แม้ว่าจะมีการศึกษาซึ่งพบว่าคนทำงานสัมผัสสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจะมีการฆ่าตัวตายมากกว่าปกติ และการศึกษาพบภาวะซึมเศร้าในประชากรที่บ้านอยู่ใกล้สายส่งไฟฟ้าแรงสูง (52) ก็ตาม แต่จำนวนข้อมูลที่มีในปัจจุบันก็ยังน้อยมากจนไม่สามารถจะสรุปผลใดๆ ได้

กลุ่มอาการ Electromagnetic Hypersensitivity

กลุ่มอาการไวต่อการรับสัมผัสสนามแม่เหล็กไฟฟ้าหรือ Electromagnetic Hypersensitivity (EHS) เป็นกลุ่มอาการที่ผู้ป่วยซึ่งรู้สึกว่าได้รับสัมผัสสนามแม่เหล็กไฟฟ้า จะมีอาการ (symptoms) ผิดปกติเกิดขึ้น เช่นปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ความรู้สึกที่ผิวหนังเช่น ชา คัน ปวดแสบปวดร้อน กลุ่มอาการนี้ถูกรายงานครั้งแรกที่ประเทศสวีเดน ในปี ค.ศ. 1999 (53) ซึ่งพบผู้มีความรู้สึกผิดปกติที่ผิวหนังเมื่อทำงานกับ VDT จากการสำรวจทางระบาดวิทยาในประเทศสวีเดนคาดว่า ผู้ที่มีกลุ่มอาการนี้น่าจะมีอยู่ราวๆ ร้อยละ 1.5 ของประชากร และมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย (54) อย่างไรก็ดีเนื่องจากกลุ่มอาการนี้แม้จะมีอาการที่รุนแรงในผู้ป่วยบางราย แต่กลับไม่พบอาการผิดปกติทางร่างกายที่แพทย์ตรวจได้เลย ทำให้กลุ่มอาการนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มโรค functional somatic syndrome และยังไม่มีหลักฐานใดชี้ชัดว่ากลุ่มอาการ electromagnetic hypersensitivity นี้เกิดจากการสัมผัส ELF-EMF จริง มีการทดลองแบบสุ่มหลายการทดลองที่ทำกับผู้ที่มีกลุ่มอาการนี้ ซึ่งเชื่อว่าตนเองสามารถรับรู้ถึงสนามแม่เหล็กไฟฟ้ากำลังอ่อนได้มากกว่าคนทั่วไป แต่ผลการศึกษาส่วนใหญ่ก็พบว่าคนกลุ่มนี้มีความสามารถในการรับรู้ถึงสนามแม่เหล็กไฟฟ้ากำลังอ่อนไม่ต่างจากคนปกติ (55)

สรุป

ELF-EMF ซึ่งเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแบบ non-ionizing radiation ชนิดหนึ่งนั้น เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนพบได้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว แต่อาจจะได้รับสัมผัสมากน้อยแตกต่างกันไป นอกจากสนามแม่เหล็กโลก (static magnetic field) ซึ่งทุกคนจะต้องสัมผัส การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีของมนุษย์ก็ทำให้มนุษย์ต้องสัมผัส ELF-EMF จากอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มนุษย์สร้างมากขึ้นอีก จากการศึกษาข้อมูลผลต่อสุขภาพของ ELF-EMF ดูเหมือนว่าการสัมผัสสนามแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดนี้จะไม่ก่อให้เกิดผลต่อสุขภาพแบบเฉียบพลันใดๆ ขึ้น แต่ความผิดปกติซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการสัมผัสในระยะยาวบางอย่างที่ได้จากการศึกษาทางระบาดวิทยานั้น แม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่สามารถสรุปได้แน่นอน แต่ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เช่นความสัมพันธ์ของการเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กกับการอาศัยอยู่ในบ้านที่ใกล้สายส่งไฟฟ้าแรงสูง และการเกิดโรค AD หรือ ALS กับการสัมผัส ELF-EMF มากกว่าปกติ การศึกษาวิจัยที่จะมีเพิ่มขึ้นในอนาคตจะช่วยบอกความเสี่ยงของการสัมผัสสิ่งคุกคามชนิดนี้ได้มากขึ้น ซึ่งช่วยทำให้เราสามารถป้องกันสุขภาพของประชาชนไม่ให้เจ็บป่วยโดยสาเหตุที่ไม่ได้คาดคิดได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Cherry RJ. Radiation: ionizing. In: Stellman JM, ed. ILO encyclopaedia of occupational health and safety 4th ed. Geneva 1998.
  2. National Institute of Environmental Health Sciences. EMF: electric and magnetic fields associated with the use of electric power: questions and answers. NIH publication 02-4493. Research Triangle Park, NC 2002.
  3. National Institute for Occupational Safety and Health, National Institute of Environmental Health Sciences. Questions and answers: EMF in the workplace, DOE/GO-10095-218, DE95013123. U.S. Department of Energy, EMF RAPID Program, Washington, DC 1996.
  4. Wertheimer N, Leeper E. Electrical wiring configurations and childhood cancer. Am J Epidemiol. 1979 Mar;109(3):273-84.
  5. Savitz DA, Wachtel H, Barnes FA, John EM, Tvrdik JG. Case-control study of childhood cancer and exposure to 60-Hz magnetic fields. Am J Epidemiol. 1988 Jul;128(1):21-38.
  6. Linet MS, Hatch EE, Kleinerman RA, Robison LL, Kaune WT, Friedman DR, et al. Residential exposure to magnetic fields and acute lymphoblastic leukemia in children. N Engl J Med. 1997 Jul 3;337(1):1-7.
  7. Ahlbom A, Day N, Feychting M, Roman E, Skinner J, Dockerty J, et al. A pooled analysis of magnetic fields and childhood leukaemia. Br J Cancer. 2000 Sep;83(5):692-8.
  8. Kaune WT, Dovan T, Kavet RI, Savitz DA, Neutra RR. Study of high- and low-current-configuration homes from the 1988 Denver Childhood Cancer Study. Bioelectromagnetics. 2002 Apr;23(3):177-88.
  9. Mizoue T, Onoe Y, Moritake H, Okamura J, Sokejima S, Nitta H. Residential proximity to high-voltage power lines and risk of childhood hematological malignancies. J Epidemiol. 2004 Jul;14(4):118-23.
  10. Sahl JD, Kelsh MA, Greenland S. Cohort and nested case-control studies of hematopoietic cancers and brain cancer among electric utility workers. Epidemiology. 1993 Mar;4(2):104-14.
  11. Theriault G, Goldberg M, Miller AB, Armstrong B, Guenel P, Deadman J, et al. Cancer risks associated with occupational exposure to magnetic fields among electric utility workers in Ontario and Quebec, Canada, and France: 1970-1989. Am J Epidemiol. 1994 Mar 15;139(6):550-72.
  12. Savitz DA, Loomis DP. Magnetic field exposure in relation to leukemia and brain cancer mortality among electric utility workers. Am J Epidemiol. 1995 Jan 15;141(2):123-34.
  13. Miller AB, To T, Agnew DA, Wall C, Green LM. Leukemia following occupational exposure to 60-Hz electric and magnetic fields among Ontario electric utility workers. Am J Epidemiol. 1996 Jul 15;144(2):150-60.
  14. Berman E, Chacon L, House D, Koch BA, Koch WE, Leal J, et al. Development of chicken embryos in a pulsed magnetic field. Bioelectromagnetics. 1990;11(2):169-87.
  15. Schnorr TM, Grajewski BA, Hornung RW, Thun MJ, Egeland GM, Murray WE, et al. Video display terminals and the risk of spontaneous abortion. N Engl J Med. 1991 Mar 14;324(11):727-33.
  16. Grajewski B, Schnorr TM, Reefhuis J, Roeleveld N, Salvan A, Mueller CA, et al. Work with video display terminals and the risk of reduced birthweight and preterm birth. Am J Ind Med. 1997 Dec;32(6):681-8.
  17. Lindbohm ML, Hietanen M, Kyyronen P, Sallmen M, von Nandelstadh P, Taskinen H, et al. Magnetic fields of video display terminals and spontaneous abortion. Am J Epidemiol. 1992 Nov 1;136(9):1041-51.
  18. Wertheimer N, Leeper E. Possible effects of electric blankets and heated waterbeds on fetal development. Bioelectromagnetics. 1986;7(1):13-22.
  19. Bracken MB, Belanger K, Hellenbrand K, Dlugosz L, Holford TR, McSharry JE, et al. Exposure to electromagnetic fields during pregnancy with emphasis on electrically heated beds: association with birthweight and intrauterine growth retardation. Epidemiology. 1995 May;6(3):263-70.
  20. Shaw GM, Nelson V, Todoroff K, Wasserman CR, Neutra RR. Maternal periconceptional use of electric bed-heating devices and risk for neural tube defects and orofacial clefts. Teratology. 1999 Sep;60(3):124-9.
  21. Lee GM, Neutra RR, Hristova L, Yost M, Hiatt RA. The use of electric bed heaters and the risk of clinically recognized spontaneous abortion. Epidemiology. 2000 Jul;11(4):406-15.
  22. Nordstrom S, Birke E, Gustavsson L. Reproductive hazards among workers at high voltage substations. Bioelectromagnetics. 1983;4(1):91-101.
  23. Tornqvist S. Paternal work in the power industry: effects on children at delivery. J Occup Environ Med. 1998 Feb;40(2):111-7.
  24. Knave B, Gamberale F, Bergstrom S, Birke E, Iregren A, Kolmodin-Hedman B, et al. Long-term exposure to electric fields. A cross-sectional epidemiologic investigation of occupationally exposed workers in high-voltage substations. Scand J Work Environ Health. 1979 Jun;5(2):115-25.
  25. Brent RL. Reproductive and teratologic effects of low-frequency electromagnetic fields: a review of in vivo and in vitro studies using animal models. Teratology. 1999 Apr;59(4):261-86.
  26. Shaw GM. Adverse human reproductive outcomes and electromagnetic fields: a brief summary of the epidemiologic literature. Bioelectromagnetics. 2001;Suppl 5(18):S5-18.
  27. International Commission on Non-Ionizing Radiation Protection. Exposure to static and low frequency electromagnetic fields, biological effects and health consequences (0 โ € “100 kHz). Munich: International Commission on Non-Ionizing Radiation Protection; 2003.
  28. Tremblay L, Houde M, Mercier G, Gagnon J, Mandeville R. Differential modulation of natural and adaptive immunity in Fischer rats exposed for 6 weeks to 60 Hz linear sinusoidal continuous-wave magnetic fields. Bioelectromagnetics. 1996;17(5):373-83.
  29. House RV, McCormick DL. Modulation of natural killer cell function after exposure to 60 Hz magnetic fields: confirmation of the effect in mature B6C3F1 mice. Radiat Res. 2000 May;153(5 Pt 2):722-4.
  30. Nordenson I, Mild KH, Jarventaus H, Hirvonen A, Sandstrom M, Wilen J, et al. Chromosomal aberrations in peripheral lymphocytes of train engine drivers. Bioelectromagnetics. 2001 Jul;22(5):306-15.
  31. Bauchinger M, Hauf R, Schmid E, Dresp J. Analysis of structural chromosome changes and SCE after occupational long-term exposure to electric and magnetic fields from 380 kV-systems. Radiat Environ Biophys. 1981;19(4):235-8.
  32. Wilson BW, Anderson LE, Hilton DI, Phillips RD. Chronic exposure to 60-Hz electric fields: effects on pineal function in the rat. Bioelectromagnetics. 1981;2(4):371-80.
  33. Wilson BW, Chess EK, Anderson LE. 60-Hz electric-field effects on pineal melatonin rhythms: time course for onset and recovery. Bioelectromagnetics. 1986;7(2):239-42.
  34. Burch JB, Reif JS, Yost MG, Keefe TJ, Pitrat CA. Nocturnal excretion of a urinary melatonin metabolite among electric utility workers. Scand J Work Environ Health. 1998 Jun;24(3):183-9.
  35. Burch JB, Reif JS, Yost MG, Keefe TJ, Pitrat CA. Reduced excretion of a melatonin metabolite in workers exposed to 60 Hz magnetic fields. Am J Epidemiol. 1999 Jul 1;150(1):27-36.
  36. Burch JB, Reif JS, Noonan CW, Yost MG. Melatonin metabolite levels in workers exposed to 60-Hz magnetic fields: work in substations and with 3-phase conductors. J Occup Environ Med. 2000 Feb;42(2):136-42.
  37. Juutilainen J, Stevens RG, Anderson LE, Hansen NH, Kilpelainen M, Kumlin T, et al. Nocturnal 6-hydroxymelatonin sulfate excretion in female workers exposed to magnetic fields. J Pineal Res. 2000 Mar;28(2):97-104.
  38. Davis S, Kaune WT, Mirick DK, Chen C, Stevens RG. Residential magnetic fields, light-at-night, and nocturnal urinary 6-sulfatoxymelatonin concentration in women. Am J Epidemiol. 2001 Oct 1;154(7):591-600.
  39. National Institute of Environmental Health Sciences Working Group. Assessment of health effects from exposure to power-line frequency electric and magnetic fields, NIH publication no. 98-3981. Research Triangle Park: National Institute of Environmental Health Sciences, U.S. National Institutes of Health, 1998.
  40. Semm P. The magnetic detection system of the pigeon: involvement of pineal and retinal photoreceptors and the vestibular system. Prog Clin Biol Res. 1988;257:47-61.
  41. Bawin SM, Adey WR. Sensitivity of calcium binding in cerebral tissue to weak environmental electric fields oscillating at low frequency. Proc Natl Acad Sci U S A. 1976 Jun;73(6):1999-2003.
  42. Adey WR. Biological effects of electromagnetic fields. J Cell Biochem. 1993 Apr;51(4):410-6.
  43. Broadbent DE, Broadbent MH, Male JC, Jones MR. Health of workers exposed to electric fields. Br J Ind Med. 1985 Feb;42(2):75-84.
  44. Baroncelli P, Battisti S, Checcucci A, Comba P, Grandolfo M, Serio A, et al. A health examination of railway high-voltage substation workers exposed to ELF electromagnetic fields. Am J Ind Med. 1986;10(1):45-55.
  45. International Agency for Research on Cancer. Nonionizing Radiation, Part 1: Static and Extremely Low-Frequency (ELF) Electric and Magnetic Fields. Lyon, France: IARC Press 2002.
  46. Feychting M, Jonsson F, Pedersen NL, Ahlbom A. Occupational magnetic field exposure and neurodegenerative disease. Epidemiology. 2003 Jul;14(4):413-9; discussion 27-8.
  47. Qiu C, Fratiglioni L, Karp A, Winblad B, Bellander T. Occupational exposure to electromagnetic fields and risk of Alzheimer's disease. Epidemiology. 2004 Nov;15(6):687-94.
  48. Davanipour Z, Tseng CC, Lee PJ, Sobel E. A case-control study of occupational magnetic field exposure and Alzheimer's disease: results from the California Alzheimer's Disease Diagnosis and Treatment Centers. BMC Neurol. 2007;7(13):13.
  49. Johansen C, Olsen JH. Mortality from amyotrophic lateral sclerosis, other chronic disorders, and electric shocks among utility workers. Am J Epidemiol. 1998 Aug 15;148(4):362-8.
  50. Johansen C. Exposure to electromagnetic fields and risk of central nervous system disease in utility workers. Epidemiology. 2000 Sep;11(5):539-43.
  51. Park RM, Schulte PA, Bowman JD, Walker JT, Bondy SC, Yost MG, et al. Potential occupational risks for neurodegenerative diseases. Am J Ind Med. 2005 Jul;48(1):63-77.
  52. Ahlbom A. Neurodegenerative diseases, suicide and depressive symptoms in relation to EMF. Bioelectromagnetics. 2001;Suppl 5(43):S132-43.
  53. Hillert L, Hedman BK, Soderman E, Arnetz BB. Hypersensitivity to electricity: working definition and additional characterization of the syndrome. J Psychosom Res. 1999 Nov;47(5):429-38.
  54. Hillert L, Berglind N, Arnetz BB, Bellander T. Prevalence of self-reported hypersensitivity to electric or magnetic fields in a population-based questionnaire survey. Scand J Work Environ Health. 2002 Feb;28(1):33-41.
  55. Rubin GJ, Das Munshi J, Wessely S. Electromagnetic hypersensitivity: a systematic review of provocation studies. Psychosom Med. 2005 Mar-Apr;67(2):224-32.