คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบอาชีพเพื่อป้องกันภาวะ ลื่น สะดุด หกล้ม

บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

เรียบเรียงโดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์

วันที่เผยแพร่ 12 มิถุนายน 2556


(How to Prevent Yourself from Slips, Trips & Falls)

ภาวะ ลิ่น สะดุด หกล้ม เป็นภาวะอุบัติเหตุที่พบได้บ่อย และบางครั้งทำให้เกิดอันตรายรุนแรงได้อย่างไม่คาดคิด บทความนี้จะกล่าวถึงวิธีการที่คนทำงานและสถานประกอบการจะทำอย่างไร จึงจะป้องกันภาวะลื่นสะดุดหกล้มให้เกิดขึ้นน้อยลงได้ในสถานที่ทำงาน

อันตรายจากภาวะ ลื่น สะดุด หกล้ม

ในประเทศไทยเรานั้น สถิติจากกองทุนเงินทดแทนเฉพาะในปี พ.ศ. 2553 เพียงปีเดียว ก็พบว่าอุบัติเหตุจากการ ลื่น สะดุด หกล้ม จากการทำงานนั้น มีการเกิดขึ้นและเบิกเงินทดแทนเข้ามาถึง 6,438 ราย ในเหตุการณ์ที่เกิด ทำให้ลูกจ้างประสบอันตรายถึงขั้นหยุดงานไม่เกิน 3 วัน 4,433 ราย หยุดงานเกิน 3 วัน 1,968 ราย สูญเสียอวัยวะ 28 ราย และเสียชีวิตถึง 9 ราย อุบัติเหตุจากการ ลื่น สะดุด หกล้ม เป็นอุบัติเหตุที่พบได้บ่อยเป็นอันดับต้นๆ ในประเทศไทยแทบทุกปี (1)

ความรุนแรงของอุบัติเหตุจากการ ลื่น สะดุด หกล้ม นั้น บางครั้งรุนแรงมากกว่าที่เราคาดคิด การเดินแล้ว ลื่นหรือสะดุด โดยยังไม่หกล้มนั้น อาจไม่ก่อให้เกิดอันตรายรุนแรง แต่ก็ทำให้เกิดอาการเคล็ดของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นฉีก ทำให้เกิดอาการปวดทั้งเฉียบพลันและเรื้อรังได้ หากมีการหกล้มเกิดขึ้น อันตรายจะรุนแรงขึ้นได้อีกมาก การล้มมือยันพื้น ก้นกระแทก หรือเข่ากระแทก อาจทำให้เกิดกระดูกหัก เส้นเอ็นฉีก หรือเป็นแผลเปิด การล้มหัวกระแทก อาจทำให้หัวแตก หรือถึงขึ้นกระดูกคอหัก หรือเลือดออกในสมอง ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้ ถ้าล้มลงกระแทกกับพื้นแข็งอย่างรุนแรง ในผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกบาง โดยเฉพาะในหญิงสูงอายุ การล้มก้นกระแทกเพียงครั้งเดียว ก็อาจทำให้เกิดภาวะกระดูกสะโพกหัก ทำให้ทุพพลภาพไม่สามารถเดินได้เป็นการถาวร ซึ่งอาจทำให้ถึงกับต้องนอนติดเตียงจนร่างกายเป็นแผลติดเชื้อและเสียชีวิตตามมาเลยก็ได้ จะเห็นว่าอันตรายจากการ ลื่น สะดุด หกล้มนั้น มีได้ตั้งแต่เคล็ดขัดยอกไปจนถึงเสียชีวิต ซึ่งถือว่ารุนแรง จึงควรทำการป้องกันอุบัติเหตุชนิดนี้ไว้ ไม่ให้เกิดขึ้นในสถานที่ทำงานหรือแม้แต่ที่บ้านได้ก็จะเป็นการดีที่สุด

ใครที่เสี่ยงต่อภาวะ ลื่น สะดุด หกล้ม

ปัจจัยทางด้านบุคคลนั้น ก็มีความสำคัญที่จะมีผลทำให้เกิดอุบัติเหตุ ลื่น สะดุด หกล้ม ได้ง่ายขึ้น คนทำงานที่มีโรคหรือมีสภาวะสุขภาพบางอย่าง จะมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปในการเกิดภาวะ ลื่น สะดุด หกล้ม (2) ซึ่งควรพิจารณาให้ความรู้กับกลุ่มบุคคลเหล่านี้ในการป้องกันตัวไว้เป็นพิเศษ และทำการรักษาในโรคที่สามารถทำการรักษาได้ ดังต่อไปนี้คือ

  • คนสูงอายุ เมื่อคนเราอายุเพิ่มขึ้น การเคลื่อนไหว การตอบสนอง และการประสานงานของกล้ามเนื้ออาจช้าลง ทำให้เกิดปัญหาหกล้มได้ง่ายขึ้น ในคนสูงอายุบางคนอาจมีภาวะกล้ามเนื้อฝ่อลีบและกระดูกบางด้วย ให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรงได้ง่ายเมื่อหกล้ม
  • คนที่เป็นโรคสมอง โดยเฉพาะสมองส่วนซีรีเบลลัม (Cerebellum) ซึ่งควบคุมการทรงตัว รวมถึงสมองส่วนหน้า (Frontal lobe) ซึ่งควบคุมการเคลื่อนไหว หากเคยเกิดปัญหาโรคสมอง เช่น เส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก ทำให้เซลล์สมองบางส่วนตาย จนสมองทำงานผิดปกติไป ก็อาจทำให้มีการเคลื่อนไหวและการทรงตัวผิดปกติ จนเป็นเหตุให้หกล้มได้ง่าย
  • คนที่เป็นโรคหูบางอย่าง เนื่องจากหูชั้นในเป็นอวัยวะอีกส่วนหนึ่งที่คอยควบคุมการทรงตัว คนที่เป็นโรควิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง โรคมีเนียร์ ภาวะหูชั้นในอักเสบ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัญหาที่ทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ บ้านหมุน และนำมาสู่ความเสี่ยงในการ ลื่น สะดุด หกล้ม ขณะทำงานได้ นอกจากโรคของหูชั้นในแล้ว โรคปวดศีรษะไมเกรนในบางคนที่มีอาการเวียนศีรษะร่วมด้วย ก็ก่อความเสี่ยงนี้ได้เช่นกัน
  • โรคตาบางอย่างบดบังการมองเห็นที่ชัดเจน เช่น โรคต้อกระจก โรคต้อหิน โรคต้อเนื้อที่รุนแรง จอประสาทตาลอก ภาวะเหล่านี้ทำให้คนทำงานเสี่ยงต่อการมองไม่เห็นสิ่งกีดขวาง มองทางเดินไม่ชัด จนเป็นเหตุให้ ลื่น สะดุด หกล้ม ได้ง่าย
  • คนที่หน้ามืดเป็นลมได้ง่ายจากสาเหตุต่างๆ เช่น โลหิตจาง ความดันโลหิตต่ำ อ่อนเพลีย ง่วงนอน นอนไม่พอ เหล่านี้เป็นสาเหตุให้หน้ามืดเป็นลม และล้มในที่ทำงานได้
  • คนที่กินยาบางอย่าง อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม สุ่มเสี่ยงต่อการหน้ามืดหกล้มได้ง่าย เช่น ยานอนหลับ ยาแก้แพ้บางชนิด ยาแก้หวัดบางชนิด ยาคลายกล้ามเนื้อบางชนิด ยาต้านซึมเศร้าบางชนิด เหล่านี้เป็นต้น ทางแก้ไขถ้าทำได้ควรกินยาในเวลาที่เหมาะสม เช่น หลังเลิกงาน เพื่อให้ยาออกฤทธิ์นอกเวลางาน หรือปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนยาเป็นกลุ่มอื่นที่ทำให้ง่วงน้อยกว่า
  • คนที่ใช้สุราและสารเสพติด จะมีความเสี่ยงต่อการหกล้มได้ เนื่องจากสุราและสารเสพติดบางชนิดจะกดประสาท ทำให้ความสามารถในการทรงตัวลดลง เดินเซ และเสี่ยงต่อการหกล้ม ทางแก้ไขคือไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดทุกชนิด ส่วนสุรานั้นไม่ควรดื่ม หรือถ้าจำเป็นต้องดื่ม ให้ดื่มแต่พอประมาณ เพื่อไม่ให้เกิดอาการเมาค้างในวันถัดมา

แนวทางการป้องกันภาวะ ลื่น สะดุด หกล้ม

แนวทางการป้องกันภาวะ ลื่น สะดุด หกล้ม ในสถานที่ทำงานนั้น องค์กร Health and Safety Executive (HSE) ซึ่งเป็นองค์กรภาครัฐที่ทำหน้าที่ดูแลด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ของสหราชอาณาจักร ได้ให้แนวทางป้องกันภาวะนี้ในภาพกว้างๆ ไว้ โดยแบ่งเป็นแนวทางที่สถานประกอบการควรทำ และแนวทางที่คนทำงานควรทำ ดังนี้ (3)

แนวทางป้องกันภาวะ ลื่น สะดุด หกล้ม ที่สถานประกอบการควรทำ

  • ทำการประเมินความเสี่ยง (Risk assessment) ในสถานประกอบการ ว่ามีสถานที่หรือปัจจัยใดบ้างที่อาจก่อให้เกิดภาวะ ลื่น สะดุด หกล้ม ขึ้นได้ง่าย การประเมินความเสี่ยงอาจทำได้โดยการถามจากคนทำงานที่อยู่หน้างาน ซึ่งจะมีความคุ้นเคยกับสถานที่และทราบถึงอันตรายต่างๆ ได้ดี หรือใช้การเดินสำรวจตรวจสอบสถานที่ จดบันทึกปัญหาที่พบไว้แล้วนำมาแก้ไข เป็นต้น
  • ลดความสกปรกของพื้น เมื่อมีเศษปฏิกูลหรือของเหลว เช่น น้ำ น้ำมัน สารเคมี หกรดลงบนพื้น จะทำให้ง่ายต่อการเดินแล้ว ลื่น สะดุด หกล้ม ควรทำความสะอาดทันทีที่เกิดเหตุขึ้น
  • จัดอุปกรณ์ในการทำความสะอาด เช่น ไม้ถูพื้น ให้มีพร้อมอยู่ในสถานประกอบการ อุปกรณ์ทำความสะอาดต้องเหมาะสมกับพื้นของสถานประกอบการด้วย เช่น กรณีพื้นกระเบื้องเรียบ อาจใช้ไม้ถูพื้นในการซับน้ำที่หกได้ แต่กรณีพื้นพรมอาจต้องใช้ผ้าซับและเป่าลมให้แห้ง
  • ในระหว่างที่แม่บ้านหรือเจ้าหน้าที่กำลังทำความสะอาดอยู่นั้น ควรป้องกันไม่ให้คนเดินเข้าไปในพื้นที่ทำความสะอาด เพราะพื้นอาจยังลื่นทำให้ยิ่งเกิดอุบัติได้ง่าย หลังทำความสะอาดควรปล่อยให้พื้นแห้งก่อนจึงเข้าไปใช้พื้นที่
  • จัดตารางทำความสะอาดพื้นตามระยะ เช่น วันละ 1 หรือ 2 ครั้ง เพื่อช่วยให้พื้นมีความสะอาดมากขึ้น ในห้องน้ำที่มีโอกาสพื้นเปียกได้มากอาจต้องทำความสะอาดถี่กว่าบริเวณอื่น
  • ลดการหกเปื้อนของพื้น โดยการใช้วิธีการทำงานกับของเหลวที่ไม่ทำให้เกิดการกระเด็น ซ่อมเครื่องจักรที่เสียหรือมีน้ำมันรั่ว ใช้พรมเช็ดเท้าเพื่อลดการเปื้อนเปียกของพื้นจากผู้ที่เดินมาจากภายนอก
  • ตรวจสอบสภาพพื้นของสถานที่ทำงานให้ดีอยู่เสมอ ถ้ามีการชำรุดต้องทำเครื่องหมายเตือน ซ่อมแซม หรือเปลี่ยนพื้นใหม่ถ้าจำเป็น พื้นที่ทำงานที่ต้องเปียกอยู่เสมอควรเลือกพื้นที่ไม่ลื่น เช่น พื้นคอนกรีต จะช่วยลดความเสี่ยงกับคนทำงานได้
  • นำของที่วางเกะกะออกจากทางเดิน จัดพื้นที่ทางเดินให้กว้างเพียงพอ ลดการวางของระเกะระกะที่พื้น โดยการจัดวางของให้เป็นระเบียบ ไม่เก็บของไว้บนทางเดิน อาจตีเส้นแบ่งเขตพื้นที่ทางเดินให้ชัดเจน กรณีนอกอาคาร หากมีต้นไม้ประดับตามทางเดิน ควรดูแลตัดแต่งกิ่งต้นไม้ไม่ให้ขวางทางเดิน หรือตกหักมาเกะกะทางเดินได้
  • ทำสัญลักษณ์ชี้บ่งเพื่อแจ้งเตือนพื้นต่างระดับ ช่วยป้องกันคนทำงานเดินเตะสะดุด เช่น ใช้เส้นสีเหลืองตีให้เห็นชัดเจน ใช้สัญลักษณ์ข้อความให้ระวังพื้นต่างระดับ สัญลักษณ์ชี้บ่งและเครื่องกั้นเพื่อป้องกันการพลัดตก ควรใช้ป้องกันในพื้นที่ที่อาจมีคนเดินตกลงไปได้ด้วย เช่น ช่องลิฟต์ หลุมบ่อ เหล่านี้เป็นต้น
  • ใช้ราวจับช่วยการทรงตัวในบางพื้นที่ที่เห็นว่าเหมาะสม เช่น บันไดที่สูงชันควรมีราวจับ และสนับสนุนให้พนักงานใช้ราวจับทุกครั้งที่ขึ้นลงบันได กรณีบันไดหรือทางเดินสูงชันที่อยู่นอกอาคาร เวลาฝนตกพื้นเปียกต้องระมัดระวังการใช้ให้มาก ถ้ารอได้ให้ออกไปทำงานเมื่อฝนหยุดแล้ว
  • ไม่ลากสายไฟยาวสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดต่างๆ ไปตามพื้น เพราะอาจทำให้คนทำงานเดินเตะสะดุดได้ง่าย กรณีที่เครื่องใช้ไฟฟ้านั้นต้องใช้งานเป็นประจำในตำแหน่งเดิม เช่น โทรทัศน์ เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องฉายภาพในห้องประชุม หรือเครื่องจักรขนาดเล็ก อาจให้ช่างมาติดตั้งเต้ารับเพื่อใช้เสียบไฟเป็นการถาวรในพื้นที่จุดนั้นไว้เลย จะได้ไม่ต้องลากสายไฟยาว หากมีการเปลี่ยนที่บ่อยหรือจำเป็นต้องลากสาย ควรติดเทปกาวสายไฟนั้นไว้กับพื้น ติดลากไปตามแนวที่คนไม่ต้องเดินผ่าน และอาจทำสัญลักษณ์ให้เห็นชัดเจน เพื่อป้องกันการเดินสะดุด
  • เพิ่มแสงไฟตามทางเดินและพื้นที่ทำงานให้เพียงพอ เพื่อให้คนทำงานสามารถมองเห็นพื้นทางเดินได้สะดวก ช่วยให้เดินแล้วไม่ ลื่น สะดุด หกล้ม
  • ในการก่อสร้างควรเลือกชนิดของพื้นสถานประกอบการให้เหมาะสมไว้ตั้งแต่ต้น ในพื้นที่เสี่ยง พื้นไม่ควรลื่นเกินไป ในโรงงานอุตสาหกรรมอาจเลือกใช้พื้นคอนกรีตเพื่อลดความลื่นและง่ายต่อการทำความสะอาด ในอาคารหากใช้พื้นกระเบื้อง ปูนขัด หินขัด พรมน้ำมัน ชนิดที่มีความลื่นมากเกินไป แม้จะดูหรูหราแต่ก็จะเกินอุบัติเหตุได้ง่าย พื้นพรมอาจให้ความสวยงามและหรูหรา แต่ก็ทำความสะอาดยากและเก็บฝุ่น พรมบางชนิดก็มีความลื่นมาก
  • กรณีพื้นที่ทำงานจะต้องเปียกตลอดเวลา ไม่สามารถทำให้แห้งได้ เช่น แผนกล้าง หรือพ่นสี ในโรงงานอุตสาหกรรม การเลือกใช้รองเท้าชนิดป้องกันพื้นลื่นก็เป็นวิธีหนึ่งในการลดความเสี่ยง
  • กรณีโรงงานอุตสาหกรรมที่จะจัดซื้อรองเท้าให้พนักงาน ถ้าเป็นไปได้ควรลองใช้รองเท้านั้นบนพื้นที่ทำงานจริงก่อนสักระยะ ว่าใช้ได้ดีหรือลื่นเกินไปหรือไม่ ก่อนที่จะตัดสินใจจัดซื้อมาให้พนักงานใช้เป็นจำนวนมาก กรณีที่รองเท้ามีความสำคัญในการป้องกันอุบัติเหตุจากการ ลื่น สะดุด หกล้ม ควรจัดว่ารองเท้านั้นก็เป็นอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment; PPE) อย่างหนึ่ง ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสมควรอย่างยิ่งที่ทางโรงงานจะต้องจัดหาและแจกให้กับพนักงาน
  • บริหารจัดการระบบการทำงานไม่ให้เกิดความเสี่ยง ลดขั้นตอนการเดินอย่างรีบเร่งของคนทำงาน ในกรณีโรงงานอุตสาหกรรมที่มีพนักงานมาก ต้องเว้นพื้นที่ว่างระหว่างพนักงานแต่ละคนที่ยืนทำงานไม่ให้ชิดกันเกินไปด้วย เหล่านี้เป็นต้น

แนวทางป้องกันภาวะ ลื่น สะดุด หกล้ม ที่คนทำงานควรทำ

  • หากเกิดภาวะ ลื่น สะดุด หกล้ม ขึ้นในสถานที่ทำงาน ควรรายงานหัวหน้างานหรือเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทันที เพื่อนำข้อมูลความเสี่ยงนี้ไปป้องกันภาวะ ลื่น สะดุด หกล้ม ต่อตัวท่านเองหรือเพื่อนร่วมงานคนอื่นในอนาคต
  • หากพบของเหลวหกราดหรือเปื้อนพื้นอยู่ ควรช่วยกันทำความสะอาดพื้น หรือแจ้งแม่บ้านมาทำความสะอาดโดยเร็ว หากพบของวางเกะกะพื้น ควรช่วยกันจัดวางให้เป็นระเบียบ
  • หากพบพื้นที่ชำรุดเสียหาย หรือบริเวณที่เสี่ยงอันตรายต่อการสะดุดล้ม เช่น พื้นต่างระดับที่ไม่มีเครื่องหมายเตือน ควรรายงานหัวหน้างานหรือเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยเพื่อดำเนินการแก้ไข
  • ช่วยกันรักษาความสะอาดของพื้นและทางเดินในสถานที่ทำงาน ช่วยกันจัดวางของให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ถือของชิ้นใหญ่ที่บดบังสายตาเดินไปตามทางเดินคนเดียว เพราะอาจสะดุดล้มได้ง่าย
  • ใส่รองเท้าที่เหมาะสม กรณีรองเท้าชำรุด หากเป็นรองเท้าที่ได้รับแจกมาให้แจ้งหัวหน้างานหรือเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยเพื่อส่งไปซ่อมแซมหรือเปลี่ยนใหม่ หากเป็นรองเท้าส่วนตัวให้ส่งไปทำการซ่อมแซมให้กลับมาอยู่ในสภาพดี

เอกสารอ้างอิง

  1. สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน. สถิติงานประกันสังคม 2553. นนทบุรี: สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน; 2554.
  2. Mayo Clinic: Health Information. Falls prevention: 6 tips to prevent falls [Internet]. 2010 [cited 2013 Jun 12]. Available from: http://www.mayoclinic.com/health/fall-prevention/HQ00657.
  3. Health and Safety Executive (HSE). Preventing slips and trips at work: a brief guide. UK: HSE; 2012.