ประวัติของ เอด้า เมโย สจ๊วต ผู้บุกเบิกวงการพยาบาลอาชีวอนามัย
บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ
เรียบเรียงโดย พญ.ดาริกา วอทอง
วันที่เผยแพร่ 22 มิถุนายน 2562
ประวัติของ เอด้า เมโย สจ๊วต ผู้บุกเบิกวงการพยาบาลอาชีวอนามัย
เอด้า เมโย สจ๊วต
(ที่มา: AAOHN J, Volume 36 Number 4, 1988)
ท่านทราบหรือไม่ว่า งานพยาบาลอาชีวอนามัยนั้น เริ่มเติบโตขึ้นในช่วงหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยพยาบาลอาชีวอนามัยคนแรกที่มีการบันทึกเอาไว้คือ ฟิลิปปา ฟลาวเวอร์เดย์ (Phillipa Flowerday) เธอได้รับการว่าจ้างจากบริษัทโคลแมนมัสตาร์ด (Coleman’s Mustard Company) ที่เมืองนอริช ประเทศอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1878 เพื่อให้ทำหน้าที่เยี่ยมพนักงานและครอบครัวที่มีอาการเจ็บป่วยที่บ้าน [1]
ต่อมาในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เริ่มมีการว่าจ้างพยาบาลอาชีวอนามัยเกิดขึ้นเช่นกัน คนแรกคือ เบตตี้ โมลเดอร์ (Betty Moulder) เธอเรียนจบจากโรงพยาบาลฟิลาเดลเฟียบล็อคลีย์ (Philadelphia Blockley Hospital) ได้รับการว่าจ้างโดยกลุ่มบริษัทเหมืองถ่านหิน ในราวปี ค.ศ. 1888 เพื่อให้ดูแลพนักงานและครอบครัวที่เจ็บป่วย แต่ข้อมูลเกี่ยวกับเธอนั้นมีอยู่ค่อนข้างน้อย [2]
พยาบาลคนที่สองที่ทำหน้าที่เป็นพยาบาลอาชีวอนามัยในสหรัฐอเมริกาคือ เอด้า เมโย สจ๊วต (Ada Mayo Stewart) เธอมีชีวิตอยู่ในราวช่วงปี ค.ศ. 1871 - 1945 ซึ่งถ้าจะเทียบแล้ว เธอเป็นคนที่เกิดหลังยุคของ ฟลอเร็นซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) ราว 50 ปี (ฟลอเร็นซ์ ไนติงเกล เกิดในปี ค.ศ. 1820 ที่เมืองฟลอเร็นซ์ ประเทศอิตาลี แต่เธอเป็นชาวอังกฤษนะคะ)
ในปี ค.ศ. 1895 ขณะที่ เอด้า เมโย สจ๊วต อายุ 24 ปี เธอได้รับการว่าจ้างจากบริษัทเหมืองหินอ่อนที่ชื่อว่า บริษัทเวอร์มอนต์มาเบิล (Vermont Marble Company) ให้เป็นพยาบาลประจำบริษัท ระหว่างการทำงานเธอได้บันทึกรายละเอียดการทำงานของเธอไว้ (โดยเฉพาะในช่วง ค.ศ. 1986 - 1989) ซึ่งบันทึกนี้เป็นเอกสารสำคัญที่ทำให้ทราบเรื่องราวการทำงานของพยาบาลในยุคนั้น [3]
หน้าที่หลักของเธอคือ การเป็นพยาบาลออกเยี่ยมเยียนพนักงานและครอบครัวที่เจ็บป่วยที่บ้าน รวมไปถึงคนยากจนทั่วไปในชุมชนด้วย ซึ่งเป็นบริการฟรี เนื่องจากเป็นสวัสดิการของบริษัท เธอจะออกเยี่ยมเยียนผู้ป่วยโดยใส่ชุดยูนิฟอร์มพยาบาล และมักจะปั่นจักรยานไปด้วยตนเอง แต่ในบางครั้งเธอก็นั่งรถม้าของบริษัทไปบ้าง [2-3]
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ เอด้า เมโย สจ๊วต ไปดูแล จะเป็นผู้ป่วยทางสูตินรีและอายุรกรรมเป็นหลัก บางส่วนจะเป็นผู้ป่วยทางศัลยกรรม และมีการกล่าวถึงเรื่องอุบัติเหตุในงานอยู่บ้างเล็กน้อย ข้อมูลของผู้ป่วยที่เธอได้รับจากการเยี่ยมบ้าน เธอจะรายงานไปที่บริษัทและแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย ซึ่งหากจะกล่าวไป งานหลักของเธอนั้น ก็คือการทำการจัดการผู้ป่วย (Case management) นั่นเอง [2-3]
นอกจากนี้ ในบางครั้งเธอก็จะออกไปสอนสุขศึกษาให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนด้วย [2-3]
ต่อมาบริษัทเวอร์มอนต์มาเบิลได้ทำการสร้างโรงพยาบาลของบริษัทขึ้น เอด้า เมโย สจ๊วต จึงได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นผู้ดูแลโรงพยาบาลของบริษัทคนแรก
โรงพยาบาลของบริษัทเวอร์มอนต์มาเบิล
(ที่มา: AAOHN J, Volume 36 Number 4, 1988)
ชีวิตส่วนตัวของ เอด้า เมโย สจ๊วต เธอเป็นลูกสาวของพลเรือตรี วิลเลียม เอช. (Rear Admiral William H.) และนาง โรลีน เมโย สจ๊วต (Roline Mayo Stewart) เธอเรียนจบพยาบาลจากโรงเรียนฝึกอบรมพยาบาลวอลแทม (Waltham Training School for Nurses) แห่งรัฐแมสซาชูเซตส์ โดยในครอบครัวของเธอนั้น มีพี่น้องผู้หญิงที่เรียนจบพยาบาลถึง 4 คน
เอด้า เมโย สจ๊วต แต่งงานกับ รูดอล์ฟ มาร์คอล์ฟ (Rudolf Markolf) หลังแต่งงานเธอได้เปลี่ยนชื่อสกุลเป็น เอด้า มาร์คอล์ฟ (Ada Markolf)
เอด้า เมโย สจ๊วต ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้บุกเบิกวงการพยาบาลอาชีวอนามัย จากบันทึกของเธอที่ทำให้คนรุ่นหลังได้ทราบรายละเอียดการทำงานในสมัยนั้นเป็นอย่างดี และเพื่อเป็นการยกย่องการทำงานของเธอ คณะกรรมการสอบรับรองพยาบาลอาชีวอนามัยแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (American Board for Occupational Health Nurses; ABOHN) จึงได้ทำการตั้งรางวัล เอด้า เมโย สจ๊วต สำหรับผู้มีผลสอบดีเลิศด้านการจัดการผู้ป่วยทางอาชีวอนามัย (Ada Mayo Stewart Excellence in Occupational Health Case Management Award) ขึ้นมาในปี ค.ศ. 2000 เพื่อเป็นรางวัลให้กับพยาบาลอาชีวอนามัยในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีผลสอบในหัวข้อการจัดการผู้ป่วย (Case management) สูงสุดในแต่ละปี
เอกสารอ้างอิง
Rogers B. Perspectives in occupational health nursing. AAOHN J 1988;36(4):151-5.
Cahall JB. The history of occupational health nursing. Occup Health Nurs 1981;29(10):11-3.
Parker-Conrad JE. A century of practice: Occupational health nursing. 1988. AAOHN J 1988;36(4):156-61.