ประโยชน์ของการดื่มน้ำใบย่านาง (Tiliacora Juice)

บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

เรียบเรียงโดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์

วันที่เผยแพร่ 17 กุมภาพันธ์ 2554


สวัสดีครับ วันนี้ผมจะพูดถึงประโยชน์จากการดื่มน้ำใบย่านางนะครับ สาเหตุที่เขียนถึงนี้ก็เพราะว่ามีพนักงานที่บริษัทแห่งหนึ่งสอบถามเข้ามาครับ ว่าการดื่มน้ำใบย่านางนี้จะเกิดประโยชน์หรือเกิดโทษอะไรบ้างหรือเปล่า เนื่องจากพนักงานที่บริษัทนิยมดื่มกันเป็นประจำเลย ผมลองทบทวนเอกสารวิชาการต่างๆ ดูแล้วสรุปได้ดังนี้ครับ

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับต้นย่านางกันก่อน “ย่านาง” (Ya-Nang) หรือชื่อวิทยาศาสตร์คือ Tiliacora triandra (Diels) เป็นสมุนไพรไทยชนิดหนึ่ง มีขึ้นอยู่ตามป่าของไทยโดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นิยมมาใช้ปรุงอาหารหลายชนิด ลักษณะของต้นย่านางจะเป็นไม้เลื้อย เวลาขึ้นตามป่าตามทุ่งมักก็เกาะเกี่ยวกับไม้ยืนต้นอื่นขึ้นไป ใบย่านางมีสีเขียวเข้ม ใบเงามัน ออกดอกเล็กๆ สีเหลือง ผลเล็กๆ กลมรี มีขนตามกิ่งอ่อน เวลาแก่เถาย่านางจะเหนียวมาก เป็นต้นไม้ที่มีความทนทาน ปลูกง่าย

ใบย่านาง ถูกน้ำมาใช้ปรุงอาหารไทยหลายชนิด น้ำต้มใบย่านางจะมีสีเขียวเข้มไปจนถึงดำ มีกลิ่นหอมฉุน คนไทยภาคอีสานนำน้ำใบย่านางมาใส่ซุปหน่อไม้ เพื่อดับกลิ่นเปรี้ยวของหน่อไม้ ยอดอ่อนนำมากินเป็นเครื่องเคียงกับของเผ็ดอย่างอื่น ใส่ในแกงขนุน แกงอ่อม และหมกต่างๆ ทางภาคใต้นิยมนำยอดอ่อนมาใส่ในแกงเลียงและแกงหวาน ในแกงขี้เหล็กใช้น้ำใบย่านางใส่ลงไปเพื่อลดความขมของใบขี้เหล็ก

ปัจจุบันมีผู้นิยมนำใบย่านางมาคั้นเป็นเครื่องดื่ม วิธีการโดยการนำใบย่านางมาตำให้ละเอียด คั้นและกรองเป็นน้ำ แช่ตู้เย็นเก็บไว้ดื่ม อาจผสมน้ำผึ้งหรือน้ำตาลเพื่อลดกลิ่นเหม็นเขียวของใบย่านางด้วยก็ได้

ความนิยมในการดื่มน้ำย่านางในปัจจุบัน นำไปสู่การอ้างสรรพคุณอย่างมากมายของน้ำใบย่านาง ตั้งแต่อุดมไปด้วยวิตามินหลายชนิด แก้โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคเก๊าท์ โรคเชื้อรา ทำให้ผมดกดำ ทุเลาโรคมะเร็งตับ มะเร็งมดลูก มะเร็งปอด และอื่นๆ อีกมากมาย อย่างไรก็ตามคำอ้างสรรพคุณเหล่านี้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันทางวิชาการที่ชัดเจนนัก

ข้อมูลหลักฐานทางวิชาการเท่าที่มีและพอน่าเชื่อถือในปัจจุบันเกี่ยวกับประโยชน์ของใบย่านางคือ เราพบว่าในใบย่านางมีสารอาหารและแร่ธาตุ ที่มีประโยชน์แก่ร่างกายหลายตัวพอสมควร ตัวอย่างเช่น สารกลุ่มโพลีแซคคาไรด์ (polysaccharide) แคลเซียม (calcium) และธาตุเหล็ก (iron) สารเหล่านี้เป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ เมื่อดื่มน้ำใบย่านางก็จะได้รับสารเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายด้วย

นอกจากนี้ยังพบว่ามีสารเคมีที่อาจมีสรรพคุณเป็นยา หรือเป็นวิตามินบำรุงร่างกายอีกหลายตัว คือสารกลุ่ม อัลคาลอยด์ (alkaloids) แทนนิน (tannin) ลิกแนน (lignan) ฟลาโวนอยด์ (flavonoid) และสารกลุ่มโพลีฟีนอล (polyphenol) และมีสารต้านอนุมูลอิสระ คือสารเบต้าแคโรทีน (beta carotene) อยู่ด้วย

สำหรับคุณสมบัติในการเป็นยานั้น มีการศึกษาในหลอดทดลองพบว่า สารสกัดกลุ่มอัลคาลอยด์จากรากของต้นย่านางมีคุณสมบัติต้านเชื้อมาลาเรียในหลอดทดลองได้ อย่างไรก็ตาม ผลการทดลองนี้ยังไม่มีรายงานการต่อยอดนำมาใช้ทดลองกับมนุษย์จริงๆ จึงทำให้ยังไม่ทราบแน่ว่าจะใช้ได้ผลในมนุษย์จริงหรือไม่

สารอาหารหลายชนิดมีทั้งคุณประโยชน์และโทษในตัว ยกตัวอย่างเช่นสารเบต้าแคโรทีน (beta carotene) ที่พบมากในแครอทและมะละกอ และอาจพบได้บ้างในใบย่านางด้วย ถ้าเราได้รับสารนี้ในปริมาณพอดี สารเบต้าแคโรทีนจะทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ แต่หากได้รับปริมาณมากเกินไป มันอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอดในประชากรที่สูบบุหรี่ได้ อาหารทุกอย่างจึงควรกินแต่พอดี และกินให้หลากหลายชนิดเข้าไว้ จะดีกว่าการกินชนิดเดียวซ้ำๆ ในปริมาณมาก

กล่าวโดยสรุปคือน้ำใบย่านางน่าจะมีประโยชน์จากสารอาหารที่มีอยู่หลายชนิด แต่สรรพคุณบางอย่างที่มีการอ้างถึงก็ยังไม่มีหลักฐานวิชาการรองรับ เช่น ทำให้แก่ช้า ต้านมะเร็ง หรือการรักษาโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงได้ การดื่มในปริมาณที่มากผิดปกติยังไม่มีข้อมูลถึงความปลอดภัยหรืออันตรายที่จะเกิดในระยะยาว จึงอาจใช้ดื่มเป็นเครื่องดื่มเสริมได้ แต่ถ้าดื่มมากเกินไปเช่นการดื่มแทนน้ำก็อาจจะไม่ควร

เอกสารอ้างอิง

  • วราภรณ์ วิชญรัฐ. ไม้เลื้อยกินได้. กรุงเทพมหานคร: สุรีวิยาสาส์น 2548.

  • ปานทิพย์ บุญส่ง, ณัฎฐา เลาหกุลจิตต์, อรพิน เกิดชูชื่น. การวิเคราะห์สารประกอบ polyphenolics และสารให้สีจากใบ Tiliacora triandra (Diels). วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร. 2552;40(3):13-6.

  • Pavanand K, Webster HK, Yongvanitchit K, Dechatiwongse T. Antimalarial activity of Tiliacora triandra diels against Plasmodium falciparum in vitro. Phytother Res. 1989;3(5):215-7.

  • Tanvetyanon T, Bepler G. Beta-carotene in multivitamins and the possible risk of lung cancer among smokers versus former smokers: a meta-analysis and evaluation of national brands. Cancer. 2008; 113(1):150-7.