เรียบเรียงโดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์
วันที่เผยแพร่ 20 เมษายน 2560
การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count; CBC) เป็นการตรวจเลือดพื้นฐานที่แพทย์นิยมใช้ตรวจในการตรวจสุขภาพประจำปี เนื่องจากการตรวจนี้ทำได้ค่อนข้างง่าย และให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์หลายประการที่เกี่ยวกับลักษณะเม็ดเลือดของผู้เข้ารับการตรวจสุขภาพ โดยการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด จะแสดงข้อมูลของเม็ดเลือดที่สำคัญในมนุษย์ 3 กลุ่ม ได้แก่ เม็ดเลือดแดง (Red blood cell; RBC) เม็ดเลือดขาว (White blood cell; WBC) และเกล็ดเลือด (Platelet; PLT)
การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดนั้น เป็นการตรวจทางการแพทย์ในระดับการคัดกรองโรค (Screening) คือใช้ตรวจเพื่อคัดกรองหาความผิดปกติของเม็ดเลือดของผู้เข้ารับการตรวจ มากกว่าที่จะเป็นการตรวจเพื่อใช้ยืนยัน (Confirmation) หรือเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของความผิดปกติ (Diagnostic) ในการแปลผลการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดนั้น เมื่อแพทย์ผู้ตรวจสุขภาพพบความผิดปกติจากการตรวจแล้ว เช่น พบว่ามีภาวะโลหิตจาง พบว่ามีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ แพทย์ผู้ตรวจสุขภาพจึงมักต้องแนะนำให้ผู้เข้ารับการตรวจไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านโลหิตวิทยา (Hematologist) เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ รวมถึงทำการรักษาหากเป็นโรคที่จำเป็นต้องทำการรักษาต่อไป [1]
ในการแปลผลการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด แพทย์จะแปลผลค่าพารามิเตอร์ (Parameter) แต่ละรายการ เปรียบเทียบกับช่วงอ้างอิง (Reference range) ว่ามีค่าสูงหรือต่ำเกินไปหรือไม่ ช่วงอ้างอิงของการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดที่ใช้ในสถานพยาบาลแต่ละแห่ง อาจมีความแตกต่างกันไปได้ เนื่องจากความแตกต่างทางด้านเทคนิคของห้องปฏิบัติการของสถานพยาบาลแต่ละแห่ง (เช่น รุ่นของเครื่องตรวจที่ใช้ วิธีการตรวจที่ใช้) และกลุ่มประชากรตัวอย่างที่ใช้ในการกำหนดช่วงอ้างอิง เหล่านี้เป็นต้น [2]
การแปลผลค่าพารามิเตอร์แต่ละรายการของการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดนั้น เป็นดังนี้
ค่าพารามิเตอร์ของเม็ดเลือดแดง (Red blood cell; RBC)
เม็ดเลือดแดง (Red blood cell หรือ RBC หรือ Erythrocyte) เป็นเซลล์เม็ดเลือดที่มีปริมาณมากที่สุด ทำหน้าที่สำคัญคือการขนส่งออกซิเจน (Oxygen) จากปอดไปสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยในการขนส่งออกซิเจนนั้น จะทำโดยโมเลกุลของโปรตีนชนิดหนึ่งที่อยู่ภายในเซลล์เม็ดเลือดแดงซึ่งมีชื่อว่าฮีโมโกลบิน (Hemoglobin; Hb) [3] ฮีโมโกลบินมีส่วนประกอบย่อยที่สำคัญ 2 อย่าง คือฮีม (Heme) เป็นโมเลกุลที่มีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบ กับโกลบิน (Globin) ซึ่งเป็นโมเลกุลของโปรตีน เม็ดเลือดแดงถูกสร้างที่ไขกระดูก มีอายุอยู่ในร่างกายประมาณ 120 วัน เมื่อเสื่อมสภาพจะถูกนำไปทำลายที่ม้าม
การแปลผลค่าพารามิเตอร์ต่างๆ ของเม็ดเลือดแดง เป็นดังนี้
Red blood cell count (RBC count)
ค่านี้เป็นค่าปริมาณเม็ดเลือดแดงที่นับได้จากตัวอย่างเลือดของผู้เข้ารับการตรวจ โดยมีช่วงอ้างอิงในผู้ชายอยู่ที่ 4.5 – 5.9 × 10 6 /mm3 ส่วนช่วงอ้างอิงในผู้หญิงอยู่ที่ 4.5 – 5.1 × 10 6 /mm3 [4] (สถานพยาบาลบางแห่งอาจรายงานผลค่า RBC count ด้วยหน่วย /microlitre แทนก็ได้ ซึ่งมีค่าเท่ากัน เนื่องจาก 1 mm3 = 1 microlitre)
ถ้าค่า RBC count มีค่าต่ำ แสดงว่าเม็ดเลือดแดงมีปริมาณน้อยเกินไป ภาวะที่เม็ดเลือดแดงมีปริมาณน้อยเกินไป เราเรียกว่าภาวะเลือดจางหรือโลหิตจาง (Anemia) ซึ่งอาจทำให้การขนส่งออกซิเจนไปใช้ที่ส่วนต่างๆ ของร่างกายทำได้ไม่เพียงพอ ส่วนถ้าค่า RBC count มีค่าสูง แสดงว่าเม็ดเลือดแดงมีปริมาณมากเกินไป ภาวะที่เม็ดเลือดแดงมีปริมาณมากเกินไป เราเรียกว่าภาวะเลือดข้นหรือภาวะเม็ดเลือดแดงมาก (Polycythemia) ซึ่งอาจทำให้เกิดการเกาะกลุ่มกันของเม็ดเลือดแดง แล้วไปอุดตันหลอดเลือดที่มีขนาดเล็ก เช่น หลอดเลือดฝอย ทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงร่างกายส่วนนั้นไม่ได้หรือได้ยากขึ้น [3]
ภาวะโลหิตจางเป็นภาวะที่พบได้ค่อนข้างบ่อยในคนไทย ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกในปี ค.ศ. 2011 [5] พบว่าคนวัยทำงาน (อายุ 15 – 49 ปี) ในประเทศไทย จะพบภาวะโลหิตจางได้มากถึง 24 % ภาวะโลหิตจางอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency), ขาดวิตามินบี 12 (B12) หรือขาดโฟเลต (Folate), โรคทางพันธุกรรม เช่น โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia), โรคพร่องเอนไซม์ G6PD (G6PD Deficiency), การเสียเลือดจากสาเหตุต่างๆ (Blood loss), ภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolytic anemia), ความผิดปกติของไขกระดูก (Bone marrow disorder), ภาวะการอักเสบเรื้อรัง (Chronic inflammatory disease), โรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease) เป็นต้น [4] เมื่อตรวจพบภาวะโลหิตจางแล้ว ควรพบแพทย์เฉพาะทางด้านโลหิตวิทยาเพื่อตรวจหาสาเหตุ และทำการรักษาหากเป็นโรคที่จำเป็นต้องทำการรักษาต่อไป
สำหรับภาวะเม็ดเลือดแดงมากนั้น เกิดได้จากหลายสาเหตุเช่นกัน สาเหตุที่พบบ่อย เช่น เกิดจากภาวะขาดน้ำ (Dehydration), โรคปอดเรื้อรัง (Chronic lung disease), การสูบบุหรี่ (Smoking), การปรับตัวทางสรีระวิทยาของคนที่อาศัยอยู่บนที่สูง (Living at high altitude), โรคหัวใจแต่กำเนิด (Congenital heart disease), เนื้องอกที่ไตที่สร้างฮอร์โมนอิริโทรโพอิตินมากเกิน (Kidney tumor that produces excess erythropoietin), ความผิดปกติทางพันธุกรรม (Genetic cause) เช่น โรคโพลีไซทีเมีย เวอรา (Polycythemia vera) เป็นต้น [4]
Hemoglobin (Hb)
ค่าระดับฮีโมโกลบิน (Hemoglobin; Hb) ซึ่งเป็นโปรตีนในเซลล์เม็ดเลือดแดง เป็นค่าที่ช่วยบ่งบอกปริมาณเม็ดเลือดแดงในทางอ้อม เพื่อใช้ประเมินภาวะโลหิตจาง (Anemia) และภาวะเม็ดเลือดแดงมาก (Polycythemia) เช่นกัน โดยมักมีค่าเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับค่า RBC count ช่วงอ้างอิงของค่าฮีโมโกลบินในผู้ชายอยู่ที่ประมาณ 13.5 – 17.5 g/dL ส่วนช่วงอ้างอิงในผู้หญิงอยู่ที่ประมาณ 12.0 – 15.5 g/dL [1]
Hematocrit (Hct)
ค่าระดับความเข้มข้นเลือด (Hematocrit; Hct) เป็นค่าที่บอกสัดส่วนปริมาตรของเม็ดเลือดแดงต่อปริมาตรของเลือดทั้งหมด ค่านี้จะแสดงผลเป็นเปอร์เซ็นต์ โดยช่วงอ้างอิงในผู้ชายอยู่ที่ประมาณ 38.8 – 50.0 % ส่วนช่วงอ้างอิงในผู้หญิงอยู่ที่ประมาณ 34.9 – 44.5 % [1] ค่าระดับความเข้มข้นเลือด เป็นค่าที่ใช้ประเมินภาวะโลหิตจาง (Anemia) และภาวะเม็ดเลือดแดงมาก (Polycythemia) เช่นกัน โดยจะใช้พิจารณาร่วมไปกับค่า RBC count และ Hb และมักมีค่าเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับค่า RBC count และ Hb เสมอ
Red blood cell indices
ค่าดัชนีเม็ดเลือดแดง (Red blood cell indices) เป็นค่าต่างๆ ที่ใช้บอกลักษณะของเซลล์เม็ดเลือดแดงของผู้เข้ารับการตรวจ ซึ่งมีประโยชน์ในการใช้บอกลักษณะของภาวะโลหิตจาง (Anemia) ที่ผู้เข้ารับการตรวจเป็น ค่าดัชนีเม็ดเลือดแดงมีอยู่ 3 ค่า ดังนี้
RBC distribution width (RDW)
ค่าการกระจายตัวของขนาดเม็ดเลือดแดง (RBC distribution width หรือ RDW) เป็นค่าที่บอกถึงความแปรปรวน (Variation) ของขนาดเม็ดเลือดแดงแต่ละเซลล์ ว่ามีขนาดแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด ช่วงอ้างอิงของค่านี้อยู่ที่ประมาณ 11.6 – 14.6 % [6] ถ้าค่านี้เป็นปกติ แสดงว่าขนาดของเซลล์เม็ดเลือดแดงแต่ละเซลล์ของผู้เข้ารับการตรวจมีขนาดเท่าๆ กัน แต่ถ้าค่านี้สูง แสดงว่าขนาดของเซลล์เม็ดเลือดแดงแต่ละเซลล์ของผู้เข้ารับการตรวจมีความแตกต่างกันมาก ซึ่งจะพบได้ในภาวะโลหิตจางบางอย่าง เช่น ภาวะโลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12 (B12) หรือโฟเลต (Folate) ซึ่งเป็นภาวะโลหิตจางที่จะพบเซลล์เม็ดเลือดแดงบางส่วนมีขนาดใหญ่กว่าปกติ หรือพบในภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency) ซึ่งมักจะพบเม็ดเลือดแดงแต่ละเซลล์มีขนาดแตกต่างกัน
RBC morphology
รูปร่างของเม็ดเลือดแดง (RBC morphology) ค่านี้เป็นค่าที่บอกรูปร่างของเม็ดเลือดแดง โดยอาจได้จากการวิเคราะห์โดยเครื่องตรวจอัตโนมัติ (Automated microscopy) [7] หรือโดยการที่นักเทคนิคการแพทย์ส่องกล้องจุลทรรศน์ดูหยดเลือดย้อมสีบนแผ่นสไลด์ (Peripheral blood smear) ก็ได้ การดูนั้นจะดูทั้งการติดสี (ซึ่งบ่งบอกปริมาณฮีโมโกลบินในเซลล์เม็ดเลือดแดง ถ้ามีมากก็จะติดสีเข้ม ถ้ามีน้อยก็จะติดสีจาง) และขนาดกับรูปร่างของเซลล์เม็ดเลือดแดง ในผู้เข้ารับการตรวจที่ปกติ เม็ดเลือดแดงส่วนใหญ่จะมีการติดสีเข้มปกติ (Normochromic) และมีขนาดกับรูปร่างที่ปกติ (Normocytic) ส่วนในผู้เข้ารับการตรวจบางรายที่พบความผิดปกติ (ส่วนใหญ่พบในผู้มีภาวะโลหิตจาง) อาจพบลักษณะเม็ดเลือดแดงมีการติดสีจาง (Hypochromic) มีขนาดของเม็ดเลือดแดงแต่ละเซลล์ใหญ่เล็กไม่เท่ากัน (Anisocytosis) หรือมีรูปร่างของเม็ดเลือดแดงผิดปกติ (Poikilocytosis) ไปได้
ลักษณะที่รายงานว่ามีขนาดของเม็ดเลือดแดงแต่ละเซลล์ใหญ่เล็กไม่เท่ากัน (Anisocytosis) เกิดจากการที่มีเซลล์เม็ดเลือดแดงบางเซลล์มีขนาดใหญ่กว่าปกติ (Macrocytic) หรือเล็กกว่าปกติ (Microcytic) ปะปนอยู่กับเซลล์เม็ดเลือดแดงทั่วไป ในผู้เข้ารับการตรวจกลุ่มนี้ ก็มักจะพบว่ามีค่า RDW สูงขึ้นด้วย
ส่วนลักษณะที่รายงานว่ามีรูปร่างของเม็ดเลือดแดงผิดปกติ (Poikilocytosis) เกิดจากการที่มีเซลล์เม็ดเลือดแดงบางเซลล์มีรูปร่างผิดปกติ พบปะปนอยู่กับเซลล์เม็ดเลือดแดงทั่วไป ลักษณะของเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ผิดปกติที่พบได้ เช่น เซลล์รูปเป้า (Target cell) , เซลล์รูปกลม (Spherocyte), เซลล์รูปรี (Ovulocyte), เซลล์รูปหนาม (Acanthocyte หรือ Spur cell), เซลล์ขอบหยัก (Burr cell), เซลล์รูปเคียว (Sickle cell), เซลล์รูปหยดน้ำ (Teardrop cell), เซลล์รูปเศษเสี้ยว (Schistocyte) เป็นต้น
ในการรายงานลักษณะขนาดของเม็ดเลือดแดงแต่ละเซลล์ใหญ่เล็กไม่เท่ากัน (Anisocytosis) และรูปร่างของเม็ดเลือดแดงผิดปกติ (Poikilocytosis) มักจะรายงานเป็นระบบเกรด (Grading) อย่างไรก็ตามระบบการให้เกรดของห้องปฏิบัติการของสถานพยาบาลแต่ละแห่งอาจจะมีความแตกต่างกันไปได้ [8] ตัวอย่างของระบบการให้เกรดแบบหนึ่ง เช่น แบ่งเป็น Few (พบเซลล์ที่ผิดปกติ < 5 %), 1+ (พบเซลล์ที่ผิดปกติ 6 – 10 %), 2+ (พบเซลล์ที่ผิดปกติ 10 – 25 %), 3+ (พบเซลล์ที่ผิดปกติ 25 – 5 0 %), และ 4+ ( พบเซลล์ที่ผิดปกติ > 50 % ขึ้นไป) [8]
ค่าพารามิเตอร์ของเม็ดเลือดขาว (White blood cell; WBC)
เม็ดเลือดขาว (White blood cell หรือ WBC หรือ Leukocyte) เป็นเม็ดเลือดที่มีหน้าที่ต่อต้านเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย [3] เม็ดเลือดขาวถูกสร้างจากไขกระดูกเช่นเดียวกับเม็ดเลือดแดง แต่มีขนาดใหญ่กว่าเม็ดเลือดแดง และมีปริมาณน้อยกว่าเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวมีอยู่หลายชนิด แต่ละชนิดก็จะทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อโรคแต่ละแบบแตกต่างกันไป การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดจะให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับจำนวนและชนิดของเม็ดเลือดขาวของผู้เข้ารับการตรวจ
การแปลผลค่าพารามิเตอร์ต่างๆ ของเม็ดเลือดขาว เป็นดังนี้
White blood cell count (WBC count)
การตรวจปริมาณของเม็ดเลือดขาว (White blood cell count หรือ WBC count หรือ Total white blood cell หรือ Total WBC) ค่านี้เป็นค่าปริมาณของเม็ดเลือดขาวที่นับได้จากตัวอย่างเลือดของผู้เข้ารับการตรวจ มีช่วงอ้างอิงในอยู่ที่ประมาณ 4,500 – 11,000 cells/mm3 (ห้องปฏิบัติการของสถานพยาบาลบางแห่งอาจรายงานเป็นหน่วย cells/microliter ก็ได้ ซึ่งมีค่าเท่ากันกับหน่วย cell/mm3) จำนวนของเม็ดเลือดขาวที่รายงานนี้เป็นจำนวนของเม็ดเลือดขาวทุกชนิดรวมกัน (All cell types)
ถ้าค่า WBC count มีค่าต่ำ เราเรียกว่าภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (Leukopenia) อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ไขกระดูกถูกทำลาย (Bone marrow damage), ความผิดปกติของไขกระดูก (Bone marrow disorder), ภาวะภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง (Autoimmune condition), การติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง (Sepsis), ภาวะขาดอาหาร (Dietary insufficiency), มะเร็งต่อมน้ำเหลืองหรือมะเร็งชนิดอื่นๆ ที่ลามไปกดเบียดไขกระดูก (Lymphoma or other cancers that spread to bone marrow), โรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น การติดเชื้อเอชไอวี (HIV infection) เป็นต้น [4]
ถ้าค่า WBC count มีค่าสูง เราเรียกว่าภาวะเม็ดเลือดขาวมาก (Leukocytosis) มักเกิดจากภาวะที่มีการอักเสบติดเชื้อในร่างกาย หรือมีความผิดปกติที่ไขกระดูก สาเหตุของภาวะเม็ดเลือดขาวมากที่เป็นไปได้ เช่น มีการติดเชื้อในร่างกาย (Infection) ที่พบบ่อยคือการติดเชื้อแบคทีเรีย (Bacteria) หรือไวรัส (Virus) ทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้นเพื่อมาจัดการกับเชื้อโรค, มีการอักเสบในร่างกาย (Inflammation), เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) หรือมีความผิดปกติของไขกระดูก (Myeloproliferative disorder) ทำให้ไขกระดูกสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวออกมามากผิดปกติ, ภาวะภูมิแพ้ (Allergy) และหอบหืด (Asthma), มีการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อในร่างกาย (Tissue death) เช่น แผลไฟไหม้ ถูกกระแทก กล้ามเนื้อหัวใจตาย, การออกกำลังกายอย่างหนัก (Intense exercise), ความเครียดรุนแรง (Severe stress) เป็นต้น [4]
White blood cell differential (WBC differential)
การตรวจจำแนกชนิดของเม็ดเลือดขาว (White blood cell differential หรือ WBC differential หรือ Diff) เป็นการตรวจดูจำนวนของเม็ดเลือดขาวแต่ละชนิด เนื่องจากเม็ดเลือดขาวแต่ละชนิดก็จะมีหน้าที่ในการต่อต้านเชื้อโรคที่แตกต่างกันออกไป การตรวจจำแนกชนิดของเม็ดเลือดขาวนั้น อาจจะทำการรายงานเป็นสัดส่วนของเม็ดเลือดขาวแต่ละชนิดต่อจำนวนของเม็ดเลือดขาวทั้งหมด (รายงานหน่วยเป็น %) หรือรายงานเป็นปริมาณของเม็ดเลือดขาวแยกแต่ละชนิด (รายงานหน่วยเป็น cells/mm3) หรือรายงานทั้ง 2 แบบก็ได้ ชนิดของเม็ดเลือดขาวแต่ละชนิดที่จำแนกได้ จะเป็นดังนี้
ค่าพารามิเตอร์ของเกล็ดเลือด (Platelet; PLT)
เกร็ดเลือด (Platelet หรือ PLT หรือ Thrombocyte) เป็นเม็ดเลือดที่มีขนาดเล็กที่สุด มีขนาดเล็กกว่าเม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือดทำหน้าที่เกี่ยวกับการทำให้เลือดแข็งตัว (Blood clotting) เมื่อร่างกายเกิดบาดแผลและมีเลือดไหล เกล็ดเลือดจะพองตัว และรวมกลุ่มกัน ทำให้เกิดลักษณะเป็นก้อนเหนียวภายในหลอดเลือด เพื่ออุดแผล ทำให้เลือดหยุดไหล [3] เกล็ดเลือดถูกสร้างขึ้นจากไขกระดูกเช่นเดียวกับเม็ดเลือดชนิดอื่นๆ มีอายุอยู่ในกระแสเลือดได้ประมาณ 8 – 9 วัน จากนั้นเกล็ดเลือดที่เสื่อมสภาพจะถูกนำไปทำลายที่ตับและม้าม
การแปลผลค่าพารามิเตอร์ต่างๆ ของเกล็ดเลือด เป็นดังนี้
Platelet count
การตรวจปริมาณของเกล็ดเลือด (Platelet count) เป็นค่าปริมาณของเกล็ดเลือดที่นับได้จากตัวอย่างเลือดของผู้เข้ารับการตรวจ มีช่วงอ้างอิงอยู่ที่ประมาณ 150,000 – 450,000 cell/mm3 [4] (หรือ cell/microliter ซึ่งมีค่าเท่ากัน)
หากค่า Platelet count ต่ำ จะเรียกว่ามีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia) ทำให้เกิดปัญหาเลือดไหลแล้วหยุดได้ยาก เกิดจุดเลือดออก (Petechia) จ้ำเลือดขนาดเล็ก (Purpura) จ้ำเลือดขนาดใหญ่ (Ecchymosis) ขึ้นตามผิวหนัง สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำมีได้หลากหลายมาก ที่พบได้ เช่น คนตั้งครรภ์ (Pregnancy), ภาวะม้ามโต (Spleenomegaly), โรคเกล็ดเลือดต่ำโดยสาเหตุจากภูมิคุ้มกัน (Immune thrombocytopenic purpura หรือ Idiopathic thrombocytopenic purpura หรือ ITP), ผลจากการกินยาบางชนิด เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) ซัลฟา (Sulfa) เฮพาริน (Heparin), ภาวะตับแข็ง (Cirrhosis), การติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง (Sepsis), การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น โรคโมโนนิวคลีโอซิส (Infectious mononucleosis) โรคหัด (Measles) โรคไวรัสตับอักเสบ (Viral hepatitis), ได้รับยาเคมีบำบัดหรือฉายรังสี (Chemo or radiation therapy), ภาวะความผิดปกติของไขกระดูก เช่น Myelodysplasia และ Aplastic anemia, โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia), โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) เป็นต้น [4]
หากค่า Platelet count มีค่าสูง จะเรียกว่ามีภาวะเกล็ดเลือดสูง (Thrombocytosis) ทำให้เกิดปัญหาเกิดเลือดแข็งตัวแบบผิดปกติในหลอดเลือดได้ [3] สาเหตุของภาวะเกล็ดเลือดสูงพบได้หลายอย่าง เช่น ความผิดปกติของไขกระดูก (Myeloproliferative disorder) เช่น ภาวะไขกระดูกสร้างเกล็ดเลือดขึ้นมากผิดปกติ (Essential thrombocytosis), โรคมะเร็ง (Cancer) เช่น มะเร็งปอด มะเร็งทางเดินอาหาร มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง, ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency), ภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolytic anemia), ภาวะอักเสบเรื้อรัง เช่น ลูปัส (Lupus) ข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory bowel disease) เป็นต้น [4]
Platelet morphology
นอกจากการตรวจจำนวนเกล็ดเลือดแล้ว ห้องปฏิบัติการของสถานพยาบาลบางแห่ง จะรายงานผลเกี่ยวกับเกล็ดเลือดจากการส่องกล้องจุลทรรศน์ดูหยดเลือดย้อมสีบนแผ่นสไลด์ (Peripheral blood smear) โดยนักเทคนิคการแพทย์ด้วย ซึ่งในการส่งกล้องตรวจ นักเทคนิคการแพทย์จะดูจำนวน ขนาด และรูปร่าง ของเกล็ดเลือด หากพบความผิดปกติก็จะรายงานผลความผิดปกติที่พบมาในใบรายงานผลการตรวจด้วย ลักษณะความผิดปกติของเกล็ดเลือดที่พบได้ เช่น พบเกล็ดเลือดเกาะกลุ่ม (Clumping) เป็นความผิดปกติที่เกิดจากความผิดพลาดในการเตรียมตัวอย่างเลือด ทำให้เกิดการแข็งตัวในหลอดเก็บเลือดขึ้น (โดยเฉพาะแบบที่ใช้สาร EDTA เป็นสารกันเลือดแข็งตัว) ลักษณะจะพบเกล็ดเลือดเกาะรวมกันเป็นกลุ่ม ซึ่งจะทำให้ผลการตรวจปริมาณของเกล็ดเลือดพบต่ำกว่าปกติได้ (ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วผู้เข้ารับการตรวจมีปริมาณเกล็ดเลือดปกติ) วิธีการแก้ไขคือเจาะเลือดตรวจใหม่ โดยอาจใช้หลอดเก็บเลือดที่ผสมสารกันเลือดแข็งตัวชนิดอื่น เช่น ซิเตรต (Citrate) หรือเฮพาริน (Heparin) แทน เพื่อลดโอกาสเกิดการแข็งตัว, พบเกล็ดเลือดยักษ์ (Giant platelet) คือพบเกล็ดเลือดที่มีขนาดใหญ่ผิดปกติ อาจจะขนาดใหญ่เท่ากับขนาดของเม็ดเลือดแดงเลยก็ได้ เกล็ดเลือดที่ผิดปกติชนิดนี้ มักจะพบได้ในผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia) บางสาเหตุ เช่น โรคเกล็ดเลือดต่ำโดยสาเหตุจากภูมิคุ้มกัน (Immune thrombocytopenic purpura หรือ Idiopathic thrombocytopenic purpura หรือ ITP) เป็นต้น [9]
เอกสารอ้างอิง