การดูแลสุขภาพช่างเชื่อมโลหะ

บทความเผยแพร่โดยมูลนิธิสัมมาอาชีวะ

เรียบเรียงโดย พญ.ดาริกา วอทอง

วันที่เผยแพร่ 25 มกราคม 2559


ในปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้เลยว่างานเชื่อมเป็นกระบวนการพื้นฐานในงานอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะเกือบทุกชนิด พนักงานที่ทำหน้าที่เป็นช่างเชื่อมนั้นมีความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการทำงานมากมาย ดังนี้

  • ไฟฟ้าช็อต (Electric shock) เป็นภาวะที่ร้ายแรงที่สุดในการเชื่อม เกิดจากการสัมผัสโลหะที่มีความต่างศักย์แตกต่างกันมาก ทำให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรงจนถึงกับเสียชีวิตได้ นอกจากนั้นยังอาจเกิดอุบัติเหตุตามมาหลังจากเกิดไฟฟ้าช็อตอีกด้วย ดังนั้นผู้เชื่อมห้ามสัมผัสขั้วเชื่อมโดยตรงด้วยมือเปล่า ควรใส่เครื่องป้องกันอันตรายส่วนบุคคลให้เหมาะสม เช่น ถุงมือที่ใช้ต้องเป็นถุงมือเฉพาะสำหรับงานเชื่อม เลือกใช้ที่จับลวดเชื่อมให้เหมาะสมกับไฟฟ้าที่ใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดความร้อนสูง และตรวจสอบสายดินก่อนการเชื่อมทุกครั้ง

  • ฟูมและแก๊ส (Fumes and gases) เนื่องจากการเชื่อมเป็นการทำให้เกิดความร้อนของโลหะ ควันที่เกิดจากการเชื่อมมีส่วนประกอบของโลหะออกไซด์และสารเคลือบบนลวดเชื่อม ซึ่งฟูมที่เกิดขึ้นมีหลายชนิดขึ้นอยู่กับโลหะที่เชื่อม เช่น โครเมียม นิกเกิล อาร์ซินิก แมงกานีส เบอริลเลียม แคดเมียม โคบอลต์ ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี เป็นต้น อาจทำให้เกิดไข้ไอโลหะได้ (metal fume fever) นอกจากนั้นยังมีแก๊สที่เกิดจากการเผาไหม้คือ คาร์บอนมอนอกไซด์ โอโซน ไนโตรเจนออกไซด์ เป็นต้น ซึ่งส่งผลต่อร่างกายหลายระบบ โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ ดังนั้นระหว่างการเชื่อมไม่ควรหายใจเอาฟูมและแก๊สเข้าไปโดยตรง ควรมีระบบระบายอากาศที่ดี เช่น มีเครื่องดูดอากาศ และมีการควบคุมระดับสารเคมีในอากาศให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ส่วนผู้เชื่อมเอง ควรใส่เครื่องป้องกันอันตรายส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด

  • แสงจ้าและรังสีจากการเชื่อม (Visible light, ultraviolet and infrared radiation) แสงจ้าจากการเชื่อมเป็นอันตรายต่อดวงตาและอาจทำให้ผิวหนังไหม้ได้ รังสีในห้องเชื่อมที่เป็นอันตรายจะอยู่ในช่วงความถี่ตามองไม่เห็น คือรังสีใต้แดง (infrared) และรังสีเหนือม่วง (ultraviolet) ทำให้เกิดอันตรายต่อสายตาและผิวหนังได้อย่างรุนแรง คือ ดวงตาระคายเคืองถึงกับอักเสบและน้ำตาไหล (photokeratitis) ผิวหนังส่วนที่ได้รับรังสีจะเป็นเหตุให้ผิวไหม้และรู้สึกปวดแสบปวดร้อนเป็นเวลา 24 – 48 ชั่วโมงขึ้นไป และในระยะยาวมีความเสี่ยงในการเกิดต้อกระจกได้ ดังนั้นควรปกป้องสายตาโดยการใช้หน้ากากเชื่อมที่ติดตั้งแผ่นตัดแสงที่เหมาะสมกับชนิดของงาน องค์กร American Welding Society ได้กำหนดระดับความเข้มข้นของแผ่นตัดแสงที่เหมาะสมกับงานเชื่อมแต่ละประเภทไว้ ควรเลือกใช้แผ่นตัดแสงที่มีความเข้มสูงกว่าที่กำหนดไว้เสมอ

  • ท่าทางการทำงานที่ไม่เหมาะสม ในการเชื่อมหากต้องก้มตัว เอี้ยวตัว ย่อตัว คุกเข่า ยืนนานๆ ถือเครื่องมือเชื่อมหนักๆ เกร็งเป็นเวลานาน หรือเข้าไปเชื่อมในที่แคบ มีโอกาสเกิดการบาดเจ็บต่อระบบกระดูกและกล้ามเนื้อได้ ดังนั้นพนักงานเชื่อมควรคำนึงถึงท่าทางที่ถูกต้อง จัดหน้างานให้เหมาะสมไม่ต้องก้มมากเกินไป และควรมีเวลาพัก สำหรับยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ

  • เสียงดัง ในบริเวณที่เชื่อมอาจมีเสียงดังซึ่งส่งผลต่อการได้ยิน ทำให้เกิดโรคประสาทหูเสื่อมจากเสียงดังได้ (noise-induced hearing loss) หากสัมผัสเสียงดังในเวลาเฉลี่ย 8 ชั่วโมงการทำงานตั้งแต่ 85 dB(A) ขึ้นไป โรงงานควรจัดทำโครงการอนุรักษ์การได้ยิน พนักงานเองควรใช้จุกอุดหู (ear plugs) หรือที่ครอบหู (ear muffs) เพื่อป้องกันความเสี่ยงนี้

  • อุบัติเหตุอื่นๆ ขณะเชื่อม ระหว่างการเชื่อมควรระวังอุบัติเหตุจากการสะดุดล้ม ลื่น ซึ่งเป็นอันตรายมากเพราะงานเชื่อมมีการใช้แก๊สและไฟฟ้า ดังนั้นควรมีการทำความสะอาดพื้น เก็บอุปกรณ์ให้เป็นระเบียบ รวมถึงตรวจสอบชิ้นส่วนของอุปกรณ์การเชื่อมโลหะให้มีความสมบูรณ์ในการใช้งาน นอกจากนั้นควรระวังการเกิดเพลิงไหม้ บริเวณพื้นที่ทำงานเชื่อมจะต้องปราศจากสารไวไฟชนิดต่างๆ ควรเตรียมเครื่องดับเพลิงไว้ในบริเวณพื้นที่ทำงาน ส่วนการระเบิดนั้นอาจเกิดขึ้นในขณะทำการเชื่อม ผงฝุ่นเล็ก ๆ ที่ลอยอยู่ในอากาศอาจก่อให้เกิดการลุกไหม้ จึงควรมีการอบรมการซ้อมอัคคีภัยทุกปี

เอกสารอ้างอิง

  • American National Standards Institute (ANSI). ANSI Z49.1 - Safety in Welding, Cutting, and Allied Processes. New York: ANSI; 2005.

  • Petkovsek J. Be prepared: five potential welding safety hazards to avoid. Occup Health Saf 2014;83(4):34,36, 38-9.

  • ดวงกมล วงษ์สวรรค์. อันตรายที่แฝงมากับงานเชื่อมกองพยาบาล โรงเรียนช่างฝีมือทหาร [อินเตอร์เน็ต]. 2556 [เข้าถึงเมื่อ 21 ม.ค. 2559]. เข้าถึงได้จาก: http://www.mtts.ac.th/MDSite/article1.html.

  • พรรณี นันทะแสง, กาญจนา นาถะพินธุ. ปัญหาสุขภาพและสภาพแวดลอมในการทำงานของช่างเชื่อมโลหะด้วยไฟฟ้าอำเภอเมืองจังหวัดหนองบัวลำภู. วารสารวิจัยสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2555;5(3):21-30.